svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

อสส.สั่งฟ้อง “ยิ่งลักษณ์” โยกย้าย ”ถวิล”โดยมิชอบ

28 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เลขาธิการ ป.ป.ช.เผย อัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งฟ้อง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีใช้อำนาจโอน”ถวิล เปลี่ยนศรี” จากเลขาธิการสมช. ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯโดยมิชอบ ชี้โทษจำคุก 1-10 ปี

ความคืบหน้าคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (กรรมการ ป.ป.ช.) มีมติชี้มูล และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณา โดยวันนี้ (28 ก.พ.65) "นายนิวัติไชย เกษมมงคล" "เลขาธิการ ป.ป.ช." แถลงว่า ได้รับแจ้งว่า "อัยการสูงสุด" มีความเห็นพ้องกับคณะกรรมการร่วมสองฝ่าย (อัยการ-ป.ป.ช.) โดยมีมติสั่งฟ้อง "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีใช้อำนาจโอน "นายถวิล เปลี่ยนศรี" จากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ โดยมิชอบ

 

เลขาธิการ ป.ป.ช.  เปิดเผยว่า อัยการสุงสุด จะดำเนินยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งตามประมวลวิธีพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อัยการ จะแจ้งให้จำเลยทราบเพื่อมารายงานตัวต่อศาลฯ และในกรณีที่ตัวจำเลยไม่มา อัยการ สามารถยื่นฟ้องและดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้

 

สำหรับอัตราโทษในคดีนี้ นายนิวัติไชย เผยว่า มีอัตราโทษจำคุก1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 

อสส.สั่งฟ้อง “ยิ่งลักษณ์” โยกย้าย ”ถวิล”โดยมิชอบ

สำหรับคดีนี้ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อปี 2563 โดยกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า การกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

 

และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192

 

ส่วนพฤติการณ์ในคดี นั้น สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 ก.ย.2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกฯ โทรศัพท์สั่งการให้สำนักเลขาธิการนายกฯ ทำเรื่องขอรับโอน"นายถวิล เปลี่ยนศรี" จากเลขาธิการ สมช. มาเป็นที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ

 

ต่อมา สำนักเลขาธิการนายกฯ บันทึกข้อความลงวันที่ 4 ก.ย.2554 ถึง น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น เพื่อขอความยินยอมรับโอนนายถวิล มาดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ และได้มีบันทึกข้อความ ลงวันที่ 4 ก.ย.2554 ถึง พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกฯ ในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัดของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นชอบ และยินยอมการโอนนายถวิล โดยทั้ง น.ส.กฤษณา และ พล.ต.อ.โกวิท ต่างให้ความเห็นชอบการโอนย้าย สำนักเลขาธิการนายกฯ จึงนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติ

อย่างไรก็ตาม สำนักเลขาธิการนายกฯ พบว่าวันที่ 4 ก.ย.2554 ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ โทรสั่งการนั้น เป็นวันอาทิตย์ วันหยุดราชการ จึงได้แก้ไขบันทึกข้อความทั้ง 2 ฉบับ เป็นวันที่ 5 ก.ย.2554 ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี วันที่ 6 ก.ย.2554 และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้อนุมัติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี เป็นวาระจร และคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบให้โอนนายถวิล มาดำรง ตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีคำสั่งให้นายถวิล มาปฏิบัติราชการ ที่สำนักนายกฯ ทันที การดำเนินการดังกล่าวเร่งรีบรวบรัด ภายใน 4 วัน เท่านั้น

 

ต่อมานายถวิล ฟ้องต่อศาลปกครอง และเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2557 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาว่าการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล จากเลขาธิการ สมช. ให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ เป็นการลดบทบาท และอำนาจหน้าที่ลง โดยไม่แสดงเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายถวิล ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีประสิทธิภาพ มีข้อบกพร่องหรือไม่สนองนโยบายของรัฐบาล จึงถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ภาพ/ข่าว ทีมข่าวสืบสวน สำนักข่าวเนชั่น

logoline