svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ทำความรู้จักภูมิภาค “ดอนบาส” หลัง “รัสเซีย – ยูเครน” เปิดฉากปะทะ

24 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลังเปิดฉากปะทะระหว่าง "รัสเซีย" และ "ยูเครน" เนชั่นออนไลน์พาไปทำความรู้จักภูมิภาค “ดอนบาส” สมรภูมิความขัดแย้ง มีความสำคัญอย่างไรบ้าง

ภายหลังประธานาธิบดีรัสเซีย "วลาดิมีร์ ปูติน"  แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์สั่งปฏิบัติทางทหารอย่างเป็นทางการในพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครน ในภูมิภาค  “ดอนบาส”  ซึ่งก่อนหน้านี้ "รัสเซีย" ให้การรับรองสถานะรัฐอิสระแก่ "โดแนตสก์และลูฮันสค์" สองแคว้นพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครนในภูมิภาค  “ดอนบาส” ที่มีการสู้รบกัน

 

เพื่อให้เข้าใจภาพรวมปัญหามากขึ้น เนชั่นออนไลน์จะพาไปทำความรู้จักพื้นที่ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ที่อาจจะกลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดสงครามครั้งใหญ่ นับตั้งสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด 

 

ทำความรู้จักภูมิภาค “ดอนบาส” หลัง “รัสเซีย – ยูเครน” เปิดฉากปะทะ

 

รัฐตัวแทนของรัสเซียในยูเครน

ในภูมิภาคดอนบาส (Donbas) มี 2 ดินแดนด้านตะวันออกของยูเครน 2 ที่มีคำนำหน้าว่า "สาธารณรัฐประชาชน" (People's Republic) คือ โดเนตสค์ (Donetsk) กับลูฮันสค์ (Luhansk) หรือลูกานสค์ ที่หมายถึงการประกาศตนเป็นรัฐอิสระ ขณะที่ตะวันตกกับยูเครนมองว่า เป็นรัฐตัวแทน (proxy states) ของรัสเซีย และมีการเคลื่อนไหวของกองกำลังแบ่งแยกดินแดนชาวรัสเซีย ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจ ถ้า 2 รัฐนี้ จะอยู่ในแผน "สับขาหลอก" (false frag) ให้รัสเซียใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตียูเครนก่อนหน้านี้

เกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ตะวันออกของยูเครน

ความตึงเครียดขยายตัวมากขึ้น ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากกองกำลังแบ่งแยกดินแดนเปิดฉากยิงปะทะข้ามแนวควบคุม (line of control) กับทหารยูเครน ทำให้โรงเรียนเด็กเล็กถูกลูกหลง และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 คน  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ตะวันตกมองว่า นี่เป็นการจัดฉาก เพื่อให้รัสเซียมีข้ออ้างเข้าแทรกแซงในการสู้รบ เพื่อป้องกันดินแดนที่แม้เป็นของยูเครน แต่ก็อยู่ในความควบคุมของฝ่ายที่ต้องการแบ่งแยกและต้องการจะผนวกดินแดนเข้ากับรัสเซีย และตอนนี้ รัสเซียก็มีกำลังทหารอยู่ใกล้ดินแดนสองแห่งนี้ เกือบ 150,000 นาย ทำให้สหรัฐฯ เตือนว่า รัสเซียเตรียมบุกในเวลาอันใกล้นี้

 

สาธารณรัฐ "โดเนตสค์" กับ "ลูกานสค์" มีความเป็นมาอย่างไร

ตอนนี้ ดินแดนทั้งสองแห่ง ปกครองโดยรัฐบาลแบ่งแยกดินแดน ที่ถูกมองว่าเป็นสองรัฐตัวแทนของรัสเซียในยูเครน นับตั้งแต่ปี 2014  ทั้งสองรัฐขัดแย้งกับรัฐบาลในกรุงคีฟ (Kyiv) หรือ เคียฟ มาโดยตลอด โดยฝ่ายเคียฟเรียกทั้งสองรัฐว่า เป็นดินแดนที่ถูกยึดครองชั่วคราว แบบเดียวกับไครเมีย (Crimea)

 

ทำความรู้จักภูมิภาค “ดอนบาส” หลัง “รัสเซีย – ยูเครน” เปิดฉากปะทะ

 

ทั้งสองรัฐ มีพื้นที่รวมกันกว่า 10,400 ตารางกิโลเมตร และได้รับการสนับสนุนทางทหารและการเงินจากรัสเซีย นับตั้งแต่ประกาศ "การดำรงอยู่ของรัฐ" (The existence of the state) เมื่อปี 2014 ซึ่งก่อนจะแยกตัว ทั้งสองดินแดนเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนัก และเหมืองถ่านหิน โดเนตสค์เป็นเมืองใหญ่ที่สุด เคยเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติ และเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอล Uefa Euro 2012 แต่การสู้รบทำให้สนามบินถูกทำลายเสียหาย และทำให้ดินแดนส่วนนี้เกือบถูกตัดขาดจากพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของยูเครน แต่พรมแดนด้านที่ติดกับรัสเซียยังคงเปิดอยู่

 

ความสัมพันธ์กับรัสเซีย

โดยนิตินัย รัสเซียยอมรับว่า ทั้งสองรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของยูเครน และไม่ใช่รัฐอิสระ ภายใต้ข้อตกลงมิสนค์ (Minsk) ที่รัสเซียลงนามในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยในกระบวนการเจรจาสันติภาพในยูเครน แต่โดยพฤตินัย กลับมีการติดต่อใกล้ชิดกับระดับผู้นำของทั้งรัฐ  ทำให้ทั้งสองรัฐถูกมองว่า ถูกควบคุมโดยรัฐบาลรัสเซีย และผู้นำก็แต่งตั้งโดยรัสเซีย ทั้งยังได้รับการสนับสนุนทางเศรษฐกิจจากรัสเซีย และได้รับการจัดสรรอาวุธและการคุ้มครองจากกองทัพรัสเซียด้วย

แต่ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ รัสเซียได้เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ด้วยการฉีกข้อตกมินสค์ เมื่อสภาดูมาอนุมัติร่างกฎหมาย "รับรองสถานะ" การเป็นรัฐอิสระของ โดเนตสก์กับลูฮันสก์ ด้วยมติ 351 เสียง คัดค้าน 16 เสียง

ทำความรู้จักภูมิภาค “ดอนบาส” หลัง “รัสเซีย – ยูเครน” เปิดฉากปะทะ

 

ทำไมสองรัฐนี้ จึงไม่ควบรวมเข้ากับรัสเซีย ทำไมต้องตั้งเป็นรัฐอิสระ

การที่รัสเซียยอมรับสถานะรัฐอิสระของทั้งสองรัฐ ไม่ได้หมายความว่ารัสเซียจะผนวกดินแดนเป็นของตัวเอง ด้วยเหตุผลหลายข้อด้วยกัน

 

ประการแรก ทั้งสองรัฐมีความสำคัญอย่างมากในการต่อสู้กับรัฐบาลยูเครน รัสเซียต้องการให้ทั้งสองรัฐ ยังคงเป็น "เสี้ยนหนาม" ในดินแดนของยูเครน เช่น การวีโตการตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ เช่น การเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ส่วนการยอมรับการเป็นรัฐอิสระของทั้งสองดินแดน ที่ทำให้ข้อตกลงหยุดยิงที่มินสค์ เมื่อปี 2018 ล่มสลาย ทำให้ทั้งสองรัฐสามารถกลับมาจับอาวุธสู้กับรัฐบาลยูเครนรอบใหม่

 

ประการที่สอง

ชาวรัสเซียจำนวนมากไม่รู้สึกใกล้ชิดกับภูมิภาคนี้มากนัก แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ จะใช้ภาษารัสเซียเป็นหลัก ต่างจากไครเมียที่พวกเขามองว่า เป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของพวกเขา และกองเรือทะเลดำของรัสเซียก็ตั้งอยู่ที่นั่น มีเพียงการเชื่อมโยงด้านเชื้อชาติและภาษาระหว่างชาวรัสเซียกับพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครน ทำให้รัสเซียต้องออกหนังสือเดินทางหลายแสนเล่มเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในดินแดนทั้งสอง ทั้งในฐานะดินแดนยุทธศาสตร์และแนวรบที่สำคัญ

 

ประชากรที่นั่นเป็นใคร

มีเอกสารที่รั่วออกมาแสดงให้เห็นว่า มีประชากรไม่ถึง 3 ล้านคนอาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ โดยที่ 38% เป็นคนวัยเกษียณ ซึ่งจำนวนดังกล่าว มีจำนวนไม่ถึงครึ่งของช่วงก่อนเกิดสงครามระหว่างสองดินแดนกับยูเครนเมื่อปี 2014 และส่วนใหญ่ก็ยากจนเกินกว่าจะย้ายไปอยู่ที่อื่นตอนที่สงครามปะทุ

 

มีทหารอยู่ที่นั่นมากน้อยเพียงใด

ไม่แน่ชัดว่า มีกองกำลังอยู่ในสองดินแดนมากขนาดไหน แต่ยูเครนอ้างว่า กองทัพของตนมีทหารราว 35,000 นาย รถถัง 481 คัน รถหุ้มเกราะ 914 คัน มีระบบปืนใหญ่ 720 เครื่อง และฐานยิงจรวดอีก 202 เครื่อง แต่ตะวันตกยังเชื่อว่า อาจเป็นการประเมินที่สูงกว่าความเป็นจริง ขณะที่ตัวเลขของทหารและอาวุธฝั่งต่อต้านยังคงไม่แน่ชัด แต่การที่สามารถปักหลักต่อสู่กับฝั่งรัฐบาลมาได้อย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่า ต้องได้รับการสนับสนุนจากภายนอก ซึ่งหมายถึงรัสเซีย อย่างมากด้วย

logoline