เป็นดราม่าอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ กรณี สภ.ป่าตอง จ.ภูเก็ต โพสต์ภาพการกวดขันจับกุมนักท่องเที่ยว ที่เช่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าขี่เที่ยวภายในเมืองภูเก็ต และมีการออกใบสั่งข้อหา "นำรถที่ไม่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีมาใช้ในทาง" พร้อมตรวจยึดรถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเอา เพื่อทำการตรวจสอบที่มาของรถ และดำเนินการกับเจ้าของรถ ในฐานความผิดตัวการ/ผู้สนับสนุน
งานนี้ทำเอา "ทัวร์ลง" สภ.ป่าตอง อย่างต่อเนื่อง ชาวเน็ตพากันแห่คอมเมนต์กันอย่างดุเดือด ส่วนมากตั้งข้อสงสัยว่า หากเป็นอย่างนั้นจักรยานก็ต้องมีความผิดด้วย , บางส่วนตั้งคำถาม "สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าจดทะเบียนได้หรือ" และบางส่วนมองว่า เป็นแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ให้ไปตามจับบริษัทโน่น หรือทำไมไม่ไปจับผู้ให้บริการ เป็นต้น
หนักสุดคือการตั้งคำถามจี้ใจดำว่า "จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างไร เพราะมีหลายเพจดังนำการขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเที่ยวภายในเมืองภูเก็ต ไปโปรโมทการท่องเที่ยว"
หลังทัวร์ลงหนัก สภ. ป่าตอง ได้ชี้แจงว่า มีการร้องเรียนจากผู้ใช้รถว่า การขี่รถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า อาจเกิดอันตรายแก่ผู้ขับขี่และผู้ใช้รถใช้ถนน จึงได้แจ้งห้ามนำมาใช้ในทาง และจากการประสานไปที่ขนส่งจังหวัดภูเก็ต ได้รับการยืนยันว่า เป็นรถที่ไม่อาจจดทะเบียนให้ใช้อย่างถูกต้องได้ และเป็นอันอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงบนท้องถนน นำมาซึ่งความสูญเสียในอนาคต
และยังแชร์ข้อมูลจาก https://www.thaiquote.org/ รู้ไว้! "รถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า" ต้องจดทะเบียนก่อน ฝ่าฝืนขี่บนถนนหลวงผิดฐานเดียวกับ รถ จยย. เมื่อ 10 พ.ย. 62 ที่ระบุ
จากอุบัติเหตุที่เริ่มเกิดถี่ขึ้นของผู้ใช้รถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ทำให้หลายประเทศเริ่มมีคำสั่งแบนรถชนิดนี้ ขณะที่ไทยกฎหมายระบุชัด รถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้าและมีสองล้อ เป็นพาหนะประเภทเดียวกับรถจักรยานยนต์ ขี่บนถนนหลวงได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากขนส่งฯ ผู้ขับขี่ก็จะต้องสวมหมวกนิรภัยและปฏิบัติตามกฎจราจร เช่นเดียวกับรถจักรยานยนต์ แต่ที่ผ่านมายังไม่พบว่ามีการนำรถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าขอจดทะเบียนกับขนส่งฯ ได้
ดังนั้หากพบนำมาขี่บนท้องถนนจึงมีความผิดชัดเจน ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ ข้อหา “นำรถจักรยานยนต์ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนใช้ในทาง” มีโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หากนำไปขี่บนฟุตบาท จะผิดเด้งที่สอง ใครที่มีรถประเภทนี้อยู่แล้ว จะขี่ได้เฉพาะพื้นที่เอกชน หรือตามที่พักของตัวเองเท่านั้น
และตัวอย่างสิงค์โปร์ ที่เคยอนุญาตให้ใช้รถประเภทนี้ แต่ภายหลังเหตุมีผู้เสียชีวิตจึงให้ยกเลิก ส่วนไทยการนำมาขี่ในที่สาธารณะถือว่า มีความผิดแน่นอน ตำรวจจับกุมและให้ใบสั่งได้ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่เจ้าหน้าที่จึงจะเน้นตักเตือนทำความเข้าใจก่อน เว้นแต่มีเจตนาจะใช้อย่างฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามจริง ๆ และส่งผลเดือนร้อนกับคนอื่น ๆ จึงปฏิบัติตามกฎหมาย
ขณะที่ ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://community.headlightmag.com/ ระบุว่า
ได้มีประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กําหนดกําลังของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนรถ
ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยเฉพาะในส่วนของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ข้อ 4 และข้อ 6 ระบุว่า
รถจักรยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกําลังพิกัด (Rated Power) ของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า ๒๕๐ วัตต์ และสามารถขับเคลื่อนรถให้มีความเร็วสูงสุดได้ไม่น้อยกว่า ๔๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง
และข้อ 6 มอเตอร์ไฟฟ้าของรถตามข้อ ๒ ข้อ ๓ และข้อ ๔ ต้องสามารถขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุก (Gross Vehicle Weight) ตามที่ผู้ผลิตกําหนดด้วยความเร็วสูงสุดตามที่กําหนดในประกาศนี้ ได้ต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๓๐ นาที
ประกาศดังกล่าวเคยสร้างข้อถกเถียงให้กับชาวเน็ต มีการระบุว่า "กฏหมายไทยระบุเป็นคุณสมบัติที่ต้องการให้รถผ่านเกณฑ์ถึงจะจดทะเบียนได้ แต่กฏหมายไม่ได้ชี้แจงเหตุผลว่าทำไมถึงกำหนดเช่นนั้น"
ซึ่งก็ได้มีผู้เชี่ยวชาญให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องข้อบังคับเรื่องกำลังมอเตอร์ซึ่งเกี่ยวพันกับความเร็ว และขนาดของแบตเตอรี่ที่จะสัมพันธ์กับระยะเวลาหรือระยะทางในการวิ่งมาประกอบด้วย ไม่อย่างนั้นแล้ว หากไม่มีกฏอะไรควบคุมเลย แล้วมีรถไฟฟ้าวิ่งต้วมเตี้ยมเต็มถนนไปหมด หรือบางทีก็จอดตายกลางถนนเพราะแบตหมดกันเยอะแยะ แล้วสภาพการจราจรจะเป็นอย่างไร