svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

วิกฤตยูเครนอาจแก้โดย "นอร์มังดี ฟอร์แมท"

21 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ส่งสัญญาณยอมรับการใช้แนวทางทางการทูตเพื่อยับยั้งวิกฤตยูเครน เพื่อให้ยุโรปปลอดภัยจากสงครามโดยดำเนินการผ่าน "นอร์มังดี ฟอร์แมท" โดยมีผู้นำฝรั่งเศสช่วยประสาน

ท่ามกลางวิกฤตบริเวณพรมแดนรัสเซีย-ยูเครน ที่กำลังลุกลาม ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้ย้ำถึงความจำเป็นที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ต้องยอมรับข้อเรียกร้องของรัสเซีย เพื่อเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงและหลีกเลี่ยงสงครามที่รุนแรง เขายังบอกด้วยว่าความพยายามทางการทูตจำเป็นต้องเข้มข้นขึ้น เพื่อหาวิธีแก้ไขวิกฤตยูเครน อันเป็นสัญญาณว่ารัสเซียอาจพร้อมที่จะหารือถึงแนวทางในการรับมือภัยคุกคามจากสงครามในยุโรป 

 

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน

 

หลังจากหารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เมื่อวันอาทิตย์ ปูตินได้กล่าวโทษองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ว่าระดมส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ทันสมัยเข้าสู่ยูเครน ซึ่งการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างมาครงกับปูติน มีขึ้นในเวลา 2 สัปดาห์ หลังมาครงเยือนรัรสเซียเพื่อโน้มน้าวให้ปูติน ละทิ้งการส่งทหารไปประชิดพรมแดนยูเครน 

 

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง

 

 

ทำเนียบเครมลินออกแถลงการณ์ว่า ปูตินกับมาครองได้หารือกันถึงเรื่องที่ประเทศภาคีสมาชิก NATO สนับสนุนอาวุธยุทธภัณฑ์ให้แก่ยูเครน ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งรัสเซียถือว่าเป็นการผลักดันให้ยูเครนมุ่งสู่ "การแก้ปัญหาทางทหาร" ต่อกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางตะวันออกของประเทศ และผลที่ตามมาคือพลเมืองต้องอพยพหนีความทุกข์จากการโจมตีของกระสุนปืนใหญ่ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไปยังรัสเซีย และปูตินเชื่อว่า สิ่งสำคัญคือการใช้ความพยายามอย่างเข้มข้นเพื่อหาทางแก้ปัญหาผ่านทางการทูต

 

วิกฤตยูเครนอาจแก้โดย "นอร์มังดี ฟอร์แมท"

 

ปูตินกับมาครงยังเห็นชอบร่วมกันว่า ความพยายามเหล่านี้ควรดำเนินการผ่านทางรัฐมนตรีต่างประเทศ และตัวแทนจากฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซียและยูเครน ในรูปแบบของ "นอร์มังดี ฟอร์แมท" (Normandy format) ที่ตั้งชื่อตามชื่อเมืองทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ที่ผู้นำของ 4 ชาติ ไปร่วมพิธีรำลึกครบรอบ 75 ปี การยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดีของฝ่ายสัมพันธมิตร ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปลดปล่อยยุโรปจากการยึดครองของนาซี ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยผู้นำทั้ง 4 ได้แถลงข่าวร่วมกันที่ "ปาแลเดอเลลีเซ"
(Palais de l'Elysee) หรือ ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส 

 

วิกฤตยูเครนอาจแก้โดย "นอร์มังดี ฟอร์แมท"

การพบกันครั้งนั้น แองเกลา แมร์เคิล ยังเป็นนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี และเธอได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลักดันในการแก้วิกฤตที่สำคัญ ด้วยเพราะมีประสบการณ์มายาวนานและยังติดต่อพูดคุยกับปูตินได้โดยตรง เพราะเธอพูดภาษารัสเซียได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการแก้ปัญหาโดย "นอร์มังดี ฟอร์แมท" ไม่สำคัญใครเกี่ยวข้อง แต่เป็นการเจรจาในบริบทของยุโรป ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแมร์เคิล หรือโอลาฟ ชอลซ์ หรือใครก็ตาม สถานการณ์ก็ยังคลี่คลายได้ ถ้า "ปูติน" ต้องการให้เป็นเช่นนั้น 

 

แองเกลา แมร์เคิล

logoline