svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ย้อนโพสต์ “ธนาธร” ลั่น หากเป็นรัฐบาลจะไม่ปล่อย “โรฮิงญา” ให้เดียวดาย

20 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ย้อนโพสต์ “ธนาธร” หลังแฮชแท็ก #ค้ามนุษย์ สนั่นโซเชียล ลั่นดันไทยเป็นผู้นำอาเซียน หากเป็นรัฐบาลจะไม่ปล่อย “โรฮิงญา” ให้เดียวดายกลางทะเล

จากกรณี “นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล” ได้ออกมาออกมาแฉถึงเบื้องหลังขบวนการค้ามนุษย์การอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152  และได้มีการไล่เรียงเหตุการณ์ซึ่งมีจุดเริ่มต้น จากคดีค้า “โรฮิงญา” เมื่อปี 2558 ขณะนั้นมีการค้นพบการขนชาวโรฮิงญา สถานกักกัน ไปจนถึงหลุมศพของชาวโรฮิงญาอยู่บริเวณพื้นที่การดูแลของตำรวจภาค 8 โดยมี พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ได้รับมอบหมายเป็นผู้ดูแลคดี

 

ก่อนจะค้นพบความสัมพันธ์ที่โยงใยขบวนการค้ามนุษย์ไปยังระดับข้าราชการทหาร นักการเมืองท้องถิ่นอีกหลายราย จนนำไปสู่การจับกุม พล.ท.มนัส คงแป้น ในเวลาต่อมา แต่การทำคดีครั้งนั้น ส่งผลให้พล.ต.ต ปวีณ ต้องลี้ภัยไปยังประเทศออสเตรเลีย

 

ย้อนโพสต์ “ธนาธร” ลั่น หากเป็นรัฐบาลจะไม่ปล่อย “โรฮิงญา” ให้เดียวดาย

โดยจากกรณีนี้ทำให้เรื่อง  #ค้ามนุษย์ ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในโลกโซเชียล และทำให้ชาวเน็ตส่วนใหญ่หันมาสนใจและแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้ โดยเฉพาะการพูดถึงบทบาทของ “พรรคก้าวไกล” ที่ออกมาขับเคลื่อนในเรื่องนี้ตลอดมา โดยหากย้อนไปก่อนหน้านี้ หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญของพรรคอย่าง “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ก็ได้เคยชูนโยบายในปี 2561 ในขณะนั้นซึ่งยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ โดยประกาศอย่างชัดเจน “หากเป็นรัฐบาลจะไม่ปล่อยโรฮิงญาให้เดียวดายอยู่กลางทะล”

 

ย้อนโพสต์ “ธนาธร” ลั่น หากเป็นรัฐบาลจะไม่ปล่อย “โรฮิงญา” ให้เดียวดาย

 

นายธนาธร  ได้เคยเผยจุดยืนผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thanathorn Juangroongruangkit -ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”  ถึงหนึ่งในนโยบายของพรรคเรื่อง "ผู้ลี้ภัยทางการเมือง, สิทธิมนุษยชน และไทยในเวทีโลก" ว่า

 

"ผมมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยทางการเมือง เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสเยี่ยมค่ายผู้อพยพชาวภูฏานที่ประเทศเนปาล ชาวภูฏานกลุ่มนี้มีชาติพันธุ์และความเชื่อที่ต่างจากคนส่วนใหญ่ของภูฏาน เมื่อความหลากหลายไม่ได้ถูกยอมรับในกระบวนการสร้างชาติ ผลที่เกิดขึ้นคือการทำลายความแตกต่างอย่างเป็นระบบ ทั้งด้วยกฏหมายและด้วยความรุนแรง ผู้อพยพชาวภูฏานในประเทศเนปาลที่ผมพบคือผลของกระบวนการเหล่านี้"

"ในค่ายผู้อพยพชาวภูฏานที่ผมมีโอกาสสัมผัส มีผู้อพยพอยู่หลายหมื่นคน ครอบครัวแต่ละครอบครัวได้รับปันส่วนพื้นที่เล็กน้อยให้สร้างเป็นเพิงพักจากไม้ไผ่ พื้นที่ไม่เกิน 20 ตารางเมตร เป็น “บ้าน” สำหรับครอบครัวครอบครัวหนึ่ง ซึ่งใช้พื้นที่นั้นเป็นทั้งห้องนอน, ห้องครัว, ห้องนั่งเล่น อาหารการกินไม่เคยพอและถูกหลักสุขอนามัย การศึกษาทำผ่านอาคารเรียนขนาดเล็กซึ่งอัตคัดทั้งครูและอุปกรณ์การเรียนการสอน และที่สำคัญผู้อพยพเหล่านั้นไม่เคยมีสิทธิและเสรีภาพ"

 

"จำนวนน้อยมากในพวกเขาเหล่านั้น ได้รับอนุญาตให้ไปหางานทำนอกค่ายผู้อพยพได้ ส่วนใหญ่จึงอยู่ได้ด้วยการบรรเทาทุกข์ขององค์กรระหว่างประเทศ พวกเขาไม่มีอนาคต โอกาสเดินทางกลับบ้านเป็นศูนย์ ลูกๆ ของพวกเขาเติบโตในค่ายผู้อพยพ หมดโอกาสได้เข้าถึงการเรียนรู้, เห็นโลกกว้าง และมีโอกาสไล่ตามความฝันอย่างที่เด็กๆ ควรจะได้รับ"

 

"สถานการณ์ของชาวโรฮิงญามีลักษณะคล้ายกัน องค์กรระดับโลกหลายองค์กรได้ยืนยันถึงการเกิดขึ้นจริงของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาโดยกองทัพเมียนมา การใช้ความรุนแรงต่อโรฮิงญามีลักษณะตั้งแต่ข่มขู่คุกคาม, จำกัดสิทธิเสรีภาพ ไปจนถึงการข่มขืนและการทำลายชีวิต"

 

"เมื่อตั้งพรรคการเมือง หลายคนถามผมว่า หากพรรคเราได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนในเวทีโลก? คำตอบของผมคือเราต้องเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ สร้างอาเซียนให้มีอำนาจต่อรองในเวทีโลกและเป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน"

 

ย้อนโพสต์ “ธนาธร” ลั่น หากเป็นรัฐบาลจะไม่ปล่อย “โรฮิงญา” ให้เดียวดาย

 

"ไทยสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประชาธิปไตยในอาเซียน เพื่อนำคนอีกหลายล้านคนที่ขาดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, สิทธิทางการเมือง, ที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดกลัว และที่ตกอยู่ในวังวนแห่งความยากจน ให้มาสู่สังคมที่ดีกว่าได้หากผู้นำของประเทศกล้าที่จะทำ"

 

"เรามีทั้งศักยภาพและพลังทางเศรษฐกิจเพียงพอที่จะสร้างให้ไทยเป็นแรงบันดาลใจให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ เราสามารถนำประเทศในอาเซียนได้ถ้าเราหันกลับมายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากล เราสามารถแสดงให้ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เห็นได้ว่าการพัฒนาประเทศด้วยประชาธิปไตยและการยอมรับในความหลากหลายเป็นไปได้และควรจะเป็น"

 

"การผลักไสผู้อพยพโรฮิงญาเป็นการหาทางออกที่ง่ายแต่ขัดต่อหลักมนุษยธรรม และเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน การเผชิญหน้ากับปัญหาและกล้าที่จะพูดเรื่องที่อาจไม่เป็นที่นิยมแต่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมทางการเมืองกับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ"

 

"ถ้าพรรคเรามีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เราจะยื่นมือของคนไทยไปให้พวกเขา และจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างกระฉับกระเฉงด้วยการเปิดการพูดคุยกับรัฐบาลเมียนมาอย่างมียุทธศาสตร์ ใช้เวทีอาเซียนเป็นตัวกลางแก้ปัญหานี้ร่วมกัน เหมือนที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย กำลังทำอยู่ และได้ช่วยรับผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งไปแล้วด้วย โดยเฉพาะมาเลเซียที่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาทำงานได้ กลายเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เลี้ยงตนเองและครอบครัว ไม่ใช่ภาระเรื้อรังของประเทศอื่นๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ"

 

"เราจะไม่ปล่อยให้พวกเขาล่องลอยอย่างเดียวดายในทะเล ถูกผลักไสอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเราจะทำให้คนไทยภูมิใจที่ได้มีโอกาสช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในยามที่พวกเขาต้องการความช่วยเหลืออย่างที่สุด"

 

 

โดยโพสต์ดังกล่าวถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง ร่วมกับกระแสการตื่นตัวเรื่องค้ามนุษย์ที่ถูกปลุกขึ้นมาโดยเฉพาะโลกโซเชียล  ย่างไรก็ตามในรายงานปี 2564 เรื่องการติดตามและการดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ หรือ Trafficking in Persons (TIP) report ปี 2021 หรือ 2564  ของ สหรัฐฯ ได้จัดให้ประเทศไทยตกสู่กลุ่ม 2 ซึ่งก็คือบัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง พร้อมระบุด้วยว่ารัฐบาลดำเนินมาตรการกำจัดการค้ามนุษย์ไม่ได้มาตรฐานแม้ในระดับต่ำสุด

 

 

 

 

logoline