ต้องยอมรับว่า ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้เจ้าหน้าที่ภาครัฐพยายามไล่ปราบปรามแก๊ง “คอลเซ็นเตอร์” แต่ไล่จับเท่าไหร่ก็ไม่หมดสิ้น แก๊งเหล่านี้ยังคงผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด สร้างความเสียหายให้บรรดาเหยื่อหลายคน
ล่าสุดเป็นกรณีหญิงสาวเจ้าของร้านอาหาร ถูกแก๊ง “คอลเซ็นเตอร์” อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ “ปปง.” พยายามกดดันสารพัดวิธี จนผู้เสียหายหลงเชื่อ ยอมโอนเงินให้ทั้งหมด 5 ครั้ง ภายในเวลา 2 ชั่วโมง สูญเงินกว่า 4 ล้านบาท หรือเรียกได้ว่าเกือบหมดตัวเลยทีเดียว!!
ไม่นับรวมกรณีแก๊ง "คอลเซ็นเตอร์" โทรมาตกเหยื่อ แต่ไม่รู้ว่าปลายสายคือ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท.หรือ "ตำรวจไซเบอร์" แต่สุดท้ายกลายเป็นประเด็นดราม่า เมื่อ "บิ๊กแจง" พูดกับกลุ่มคนร้ายทำนองว่า "คุณอย่ามาล้อเล่นกับผมนะ ไปล้อเล่นกับคนอื่น อย่าทะลึ่ง ไปล้อเล่นกับคนอื่น” ซึ่งสมาชิกโซเชียลมองว่า แทนที่จะพูดข่มขู่อีกฝ่าย ควรจะหาวิธีสืบหาจับกุมจะดีกว่ามั้ย
ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขบวนการมิจฉาชีพลักษณะนี้ ยังคงหลอกลวงเหยื่อได้เรื่อยๆ นอกจากกลวิธีการหลอก หรือการแอบอ้าง ที่มักจะปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย นั่นก็คือการรับซื้อบัญชีธนาคาร หรือที่เรียกว่า "บัญชีม้า" ที่เปรียบเสมือนสารตั้งต้นให้บรรดาแก๊ง “คอลเซ็นเตอร์” กระทำความผิด
โดยปัจจุบันแก๊ง “รับซื้อขายบัญชี” เหล่านี้ ไม่ได้แอบหลบๆ ซ่อนๆ เหมือนที่ผ่านมาแล้ว แต่เปิดทำการแบบโจ่งแจ้งผ่านเพจเฟซบุ๊กต่างๆ เช่น เพจชื่อ “ซื้อ-ขาย บัญชีธนาคาร” เป็นต้น
จากการตรวจสอบภายในเพจ พบมีการซื้อขายบัญชีหลากหลายราคา โดยแยกเป็นธนาคาร และรูปแบบของบัญชี อาทิ บัญชีเปิดใหม่ , บัญชีเก่า , บัญชีออนไลน์ , และบัญชีที่จะนำไปใช้งานสายดำ (ผิดกฎหมาย)
ส่วนเรทราคาซื้อขายบัญชีนั้น อย่างบัญชีกสิกรไทย , ไทยพาณิชย์ , กรุงเทพ , ทหารไทยธนชาต , กรุงศรีอยุธยา , ออมสิน หากเป็นบัญชีใหม่ ราคา 4,500 บาท , บัญชีผ่านการใช้แล้ว ราคา 3,500 บาท , บัญชีออนไลน์ ราคา 3,000 บาท , และบัญชีนำไปใช้สายดำ (ผิดกฎหมาย) ราคา 6,000 บาทขึ้นไป
ส่วนใหญ่บัญชีเหล่านี้ ทางนายหน้าจะมีการรับกันให้เป็นเวลา 1 เดือน ถ้ามีข้อผิดพลาด พร้อมเปิดเครมให้ 1 บัญชี แต่หากคนขายบัญชีมีการเล่นแง่ ปิดบัญชีก่อนใช้งานจริง จะถูกแขวนประจานผ่านหน้าเพจทันที ส่วนงานรับ “ยืนยันตัว” เปิดบัญชี เรทราคาอยู่ที่ 500-600 บาท
เมื่อผ่านกระบวนการ “รับซื้อขายบัญชี” เรียบร้อยแล้ว พวกแก๊ง “คอลเซ็นเตอร์” จะนำพวก “บัญชีม้า” รับโอนเงินจากเหยื่อ ที่จะมีการกระจายเงินไปยังบัญชีรับโอนเป็นช่วงๆ ด้วยความรวดเร็ว เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบ ก่อนเงินจะถูกโอนไปที่บัญชีกลุ่มมิจฉาชีพ หรือกลุ่มนายหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต่างด้าว เพื่อรวบรวมเงินส่งต่อให้หัวหน้าขบวนการ โดยบางแก๊งมีเงินหมุนเวียนหลักพันล้านบาท
ฉะนั้นหากยังมีขบวนการ “รับซื้อขายบัญชี” หรือ “บัญชีม้า” แพร่หลายเหมือนในปัจจุบันนี้ คงเป็นเรื่องยากที่จะปราบปรามแก๊ง “คอลเซ็นเตอร์” ให้สิ้นซากเช่นกัน
ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เคยแจ้งเตือนผู้รับจ้างเปิดบัญชี หรือ "บัญชีม้า" ว่ามีความผิดตามกฎหมาย หากเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ส่วน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 ที่ระบุว่า หากรู้หรือควรรู้ได้ว่า ผู้ที่นำบัญชีไปจะนำไปใช้ในการกระทำความผิด เจ้าของบัญชีจะมีความผิดฐานฟอกเงิน โทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542