svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

คนไทยเกิดน้อย-อายุยืน ส่งปัญหาขาดแรงงานในอนาคต สศค. แนะเร่งปรับตลาดแรงงาน

17 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สศค. ชี้ เกิดน้อย-อายุยืน ส่งปัญหาด้านแรงงานในอานคต ระบุ ปี 2568 ก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ แนะ รัฐเร่งปฏิรูปตลาดแรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้ หวั่นเป็นภาระการคลัง ด้าน สศช.ชงเพิ่มผลิตภาพการผลิต ปรับโครงสร้างประกันสังคมรับจ้างงานแบบใหม่

17 กุมภาพันธ์ 2565 สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าปี 2568 จะเป็นปีแรกที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สังอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งจะมีผู้สูงอายุ 60 ปี หรือมากกว่าที่ 14.5 ล้านคน คิดเป็น 20.7% ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่จำนวนประชากรเกิดใหม่ของไทยลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดปี 2564 มีการเกิดเพียง 544,570 คน เป็นระดับต่ำที่สุด

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า อัตราการเกิดของประชากรไทยลดลงใกล้ระดับ 1 คือ อัตราการเกิดใกล้เคียงประชากรเสียชีวิต ทำให้จำนวนประชากรไม่เพิ่ม ขณะที่ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นและมีอายุยืนยาวขึ้น ทำให้แรงงานในระบบเศรษฐกิจลดลง โดยการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลในอนาคตต้องให้ความสำคัญกับ 4 เรื่อง ได้แก่

 

     1.การเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) โดยในภาคการผลิตต้องลงทุน เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมโลก เพื่อให้เกิดการจ้างงานและทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอ ที่จะดูแลประชากรวัยพึ่งพิงทั้งวัยเด็กและสูงอายุ ทั้งนี้หากเพิ่มระดับการลงทุนให้มากกว่า 30% ของจีดีพี และเพิ่มการใช้เงินในการวิจัยและพัฒนาทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน โดยให้ได้ในระดับไม่ต่ำกว่า 2% ของจีดีพี จะส่งผลให้ไทยมีโอกาสเพิ่มผลิตภาพการผลิตแรงงานได้เพิ่มขึ้น

 

     2.ให้ความสำคัญกับนโยบายการดึงแรงงานที่มีศักยภาพจากภายนอกประเทศ โดยปัจจุบันมีมาตรการการให้วีซ่าระยะยาว (LTR) กับแรงงานที่มีศักยภาพ และรายได้สูงเข้ามาทำงานในประเทศไทยควบคู่กับการปรับลดอุปสรรค

      3.การปรับโครงสร้างในประเทศ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีกลไกสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยงานใหม่ในอนาคต ต้องมองการปรับระบบการดูแลแรงงาน เช่น ระบบประกันสังคมที่กองทุนมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น และจำนวนแรงงานที่จะออมน้อยลง ดังนั้นกองทุนประกันสังคมต้องปรับระบบการออม ให้สอดคล้องกลุ่มอาชีพใหม่ เช่น ฟรีแลนท์ งานดิจิทัล หรืองานที่มีลักษณะการจ้างระยะสั้นหรืองานที่มีรายได้ประจำที่จ่ายเป็นรายเดือน

 

      4.ให้ความสำคัญกับเรื่องของการขยายระยะเวลาเกษียณอายุของข้าราชการ โดยกำหนดระยะเวลาที่จะมีการบังคับใช้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้แรงงานที่เกษียณอายุสามารถเป็นกำลังสำคัญในระบบเศรษฐกิจได้อีกส่วนหนึ่ง

 

ขณะที่นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ไทยกำลังเผชิญปรากฏการณ์เด็กเกิดใหม่ลดลง ในขณะที่ประชากรมีแนวโน้มอายุยืนขึ้น เพราะเทคโนโลยีการแพทย์ก้าวหน้าขึ้น

 

โดยในปี 2583 หรืออีก 18 ปีข้างหน้า ประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นเร็ว จากจำนวน 12.2 ล้านคนในปี 2564 เป็น 20.4 ล้านคนในปี 2583 ในขณะที่ประชากรวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี) ลดลงจาก 43 ล้านคน เหลือ 36 ล้านคน ส่งผลให้สัดส่วนประชากรวัยแรงงานต่อประชากรลดลงจาก 3.5 คนต่อ 1 คน เหลือเพียง 0.6 คนต่อ 1 คน ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มจาก 28.4 คนต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2564 เป็น 56.2 คนต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2583

 

รวมทั้งปี 2564 เป็นครั้งแรกที่ประชากรเกิดใหม่ต่ำกว่า 6 แสนคน โดยอยู่ที่ 5.4 แสนคน น้อยกว่าประชากรที่เสียชีวิตที่มี 5.6 แสนคน ซึ่งจะทำให้ประชากรไทยมีแนวโน้มลดลงหากประชากรเกิดใหม่ไม่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่จำนวนประชากรสูงอายุกำลังเพิ่มสูงขึ้นเร่งให้โครงสร้างประชากรไทยเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุเร็วขึ้น

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจะกระทบเศรษฐกิจ 4 ด้าน คือ

1.ผลิตภาพรวมของประเทศ (Aggregate Productivity) ลดลงจากจำนวนแรงงานและสัดส่วนคนทำงานลดลง เพราะแรงงานเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญ ดังนั้นการลดลงของแรงงานอาจทำให้ผลิตภาพรวมลดลง ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต และอาจนำไปสู่ค่าแรงที่สูงขึ้น ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ หากไทยไม่ปรับใช้เทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานที่หายไป

 

2.อุปสงค์ในประเทศเปลี่ยนไป โดยสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุจะมีความต้องการมากขึ้น เช่น สินค้าเพื่อสุขภาพ บริการทางการแพทย์ ขณะที่สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสังคมและการทำงานจะต้องการลดลง อีกทั้งหากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีรายได้ไม่พอต่อการยังชีพหรือยากจน จะกระทบอุปสงค์ในประเทศที่อาจชะลอในช่วงต่อไปได้

 

3.ภาระการคลังของประเทศสูงขึ้น เพราะแหล่งรายได้หลัก จากแรงงานวัยทำงานน้อยลง ขณะเดียวกันผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทำให้ภาครัฐมีค่าใช้จ่ายสาธารณสุขและสวัสดิการมากขึ้น ถ้าหากไม่แก้ไขจะทำให้ขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะสูงขึ้น เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณ

 

4.การออมและการลงทุนในประเทศจะลดลง สถานการณ์สังคมผู้สูงอายุอาจกระทบต่อการออมและการลงทุนในประเทศ เพราะประชากรส่วนใหญ่ที่เกษียณมักใช้จ่ายจากเงินออม ซึ่งอาจส่งผลให้ภาพรวมการออมภายในประเทศลดลง

 

สำหรับแนวทางการแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับสังคมผู้สูงอายุ มีข้อเสนอแนะ 3 ข้อ ดังนี้

1.เร่งปฏิรูปตลาดแรงงาน เพื่อชดเชยจำนวนแรงงานที่มีแนวโน้มลดลง ทั้งการยกระดับทักษะแรงงานเพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิตและเพิ่มการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานหญิงในตลาดแรงงานให้มากขึ้น เพื่อชดเชยแรงงานที่หายไป

 

นอกจากนี้การสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชากรสูงวัยที่เกษียณไปแล้วทำงานต่อ และการจูงใจให้แรงงานต่างชาติที่มีทักษะเข้ามาทำงานในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นอีกทางเลือกที่หน่วยงานภาครัฐอาจพิจารณาผลักดันให้เกิดขึ้นได้

 

2.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐและการขยายฐานภาษีประเภทใหม่รองรับภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลตรวจสอบและอุดรูดรั่วทางภาษี และการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ เช่น ภาษีเงินได้ธุรกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นภาษีใหม่ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ รวมถึงภาษีสิ่งแวดล้อม ที่เก็บจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ที่กระทบสิ่งแวดล้อม เช่น เหมืองขุดเงินคริปโทเคอเรนซี่ และเพิ่มอัตราภาษีบางประเภทเพื่อชดเชยภาษีที่หายไป อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

 

3.สร้างระบบการออมและหลักประกันวัยเกษียณ ที่ครอบคลุมและเพียงพอต่อแรงงานทุกประเภททั้ งแรงงานในระบบและนอกระบบ รวมถึงแรงงานแพลตฟอร์มที่เป็นแรงงานประเภทใหม่ โดยผ่านการสนับสนุนการออมระยะยาว และแรงงานควรออมตามสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นตามอายุการทำงาน เพื่อให้แรงงานทุกกลุ่มมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพในยามที่ไม่ทำงาน

 

กรณีของแรงงานแพลตฟอร์มที่เป็นแรงงานประเภทใหม่และส่วนใหญ่มีรายได้สูงกว่าแรงงานนอกระบบ ซึ่งไทยอาจกำหนดให้ออมภาคบังคับ โดยหักเป็นร้อยละของรายได้แต่ละเดือนเข้ากองทุนประกันสังคม ในกรณีที่เดือนนั้นมีรายได้ ขณะที่เดือนใดไม่มีรายได้หรือมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจะไม่โดนหัก

ที่มา bangkokbiznews

logoline