svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"หอกข้างแคร่"ตัวแปรกวนใจ"นายกลุงตู่"

ต้องบอกว่าการเมืองเวลานี้ พรรคที่เป็น "ตัวแปร" ไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาลที่มีตำแหน่งใน ครม. หรือมีเก้าอี้เป็นเสนาบดี แต่คือ พรรคเล็ก และ กลุ่มผู้กองธรรมนัส ในนามพรรคเศรษฐกิจไทย 

กลุ่มเหล่านี้เปรียบเป็น "เสลี่ยง" หรือต้องเรียกว่า "คนแบกเสลี่ยง" คือหาบหามให้นายกฯ และบรรดาเสนาบดี ได้นั่งเก้าอี้ต่อไป 

 

ฉะนั้นกลุ่มเหล่านี้จึงเป็น "ตัวแปร" เพราะถ้าไม่ได้รับการดูแล ไม่ดูดำดูดี ไม่ได้รับกล้วยที่น่าพอใจ หรือไม่ได้รับเกียรติอย่างที่ต้องการ ก็อาจจะ "ทิ้งเสลี่ยง" หรือ "เลิกแบกเสลี่ยง" ได้เหมือนกัน 

 

แต่ "คนแบกเสลี่ยง" จะมีพลังได้ต้องจับมือกันเป็นกลุ่มก้อน แต่ปัญหา คือ กลุ่มผู้กองธรรมนัสตอนนี้ ซึ่งเวลานี้ คือ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย กำลังโดนตรวจสอบ ยื่นคำร้องว่ามติพรรคพลังประชารัฐที่ขับ 21 ส.ส.กลุ่มนี้พ้นชายคา ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

 

โดยก่อนหน้า กกต. พิจารณาเรื่องนี้ แต่ไม่ได้ข้อยุติ ข่าวมีทั้งคำร้องตกไปแล้ว และเลื่อนพิจารณาไปก่อน 

 

กระทั่งวานนี้มีข่าว กกต.ประชุมกันต่อ ก็ปรากฏว่ายังไม่มีการหารือถึงเรื่องดังกล่าว เหตุผล คือ ก่อนหน้านี้ "นายทะเบียนพรรคการเมือง" หรือ เลขาธิการ กกต. ตีตกคำร้องไปแล้ว เพราะองค์ประกอบไม่ครบ โดยเฉพาะคำร้องของสมาชิกพรรค 100 คน เนื่องจากตรวจสอบแล้ว ชื่อที่ยื่นมา 155 ชื่อ เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐจริงแค่ 99 คน ไม่ครบร้อย ส่วนอีก 1 คำร้องยังไม่พิจารณา ของ ศรีสุวรรณ จรรยา นักร้องขาประจำ 

ล่าสุด ความเป็นไปได้แยกเป็น 2 แนวทาง คือ 

 

1.นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องพิจารณาทั้ง 2 คำร้องให้จบ ภายในวันที่ 18 ก.พ. เพราะจะครบกำหนด 30 วัน ที่ ส.ส.เหล่านี้ต้องหาพรรคใหม่เข้าสังกัด จึงจะรักษาสถานสภาพ ส.ส.เอาไว้ได้ โดย 

 

-นายทะเบียนฯ พิจารณา ตีตก หรือ รับคำร้อง โดยไม่ต้องเสนอ กกต.ชุดใหญ่ คือ ชี้ขาด วินิจฉัย จบในตัวได้เลย หรือ

 

-นายทะเบียนฯพิจารณา แล้วส่งเรื่องให้ กกต.ใหญ่ชี้ขาด 

 

2.ไม่จำเป็นต้องเร่งให้ทัน 30 วัน เพราะไปสอยภายหลังได้ เนื่องจากเป็นประเด็นข้อกฎหมาย และผลที่จะตามมา กรณีมติขับพ้นพรรคเป็นโมฆะ ก็แค่กลุ่ม 21 ส.ส.กลับไปสังกัดพรรคเดิม 

 

หากข้อสรุปเป็นแบบนี้ โอกาสที่กลุ่มผู้กองจะรอดฉลุย มีสูงมาก และแม้ไม่รอด ก็ยังเป็น "หอกข้างแคร่" ของรัฐบาลอยู่ดี เพราะแม้จะกลับไปสังกัดพลังประชารัฐ ก็ยังไม่เป็นเนื้อเดียวกัน และพร้อมป่วนตลอดเวลา เหมือนตอนโหวตซักฟอก เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2564 

 

 

อีกหนึ่งตัวชี้วัดว่า งานนี้กลุ่ม 21 ส.ส.รอดแน่ ก็คือการตัดสินใจเข้าพรรคภูมิใจไทยของ "พ่อลูกช่างเหลา" คือ เอกราช และ วัฒนา 

 

ท่ามกลางบรรยากาศสุดชื่นมื่น ซึ่งเกิดขึ้นในงานแต่งงานของ "พิทักษ์ชน ช่างเหลา" ลูกชายคนเล็กของเอกราช ที่เข้าพรรคภูมิใจไทยไปก่อนแล้ว โดย "เสี่ยหนู" ก็มาร่วมงานแต่ง แถมยังยังถอดสูทตัวเองให้เอกราช ต้อนรับเข้าพรรคภูมิใจไทยด้วย 

 

สองพ่อลูกช่างเหลา ไม่ยอมไปสมัครเข้าพรรคเศรษฐกิจไทย เหตุผลหลักๆ นอกจากอยากย้ายเข้าภูมิใจไทยทั้งครอบครัว ซึ่งคงมีดีลพิเศษสำหรับ "สามพ่อลูกช่างเหลา" แล้ว ยังเป็นเรื่องความไม่แน่นอนของมติขับพ้นพรรคพลังประชารัฐ เอกราชจึงไม่ยอมเสี่ยงไปสมัครเข้าพรรคเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดผิดพลาดทางเทคนิค อาจหลุดจาก ส.ส.ได้

 

ฉะนั้น เมื่อสองพ่อลูกช่างเหลา ตัดสินใจเข้าพรรคภูมิใจไทย แสดงว่าต้องมีสัญญาณชัดแล้วว่า หาพรรคใหม่สังกัดได้ ไม่มีปัญหาทางกฎหมาย จึงตัดสินใจยื่นใบสมัคร พร้อมค่าสมาชิกตลอดชีพ  

 

ล่าสุดวานนี้ "สมศักดิ์ พันธ์เกษม" ส.ส.โคราช เพิ่งย้ายซบพรรคภูมิใจไทยด้วย ยิ่งตอกย้ำว่า ดีล "ขับพ้นพรรค" ไม่มีปัญหาทางกฎหมายแน่นอนแล้ว 

 

มีคำถามว่า ทำไมยุคนี้ใครๆ ก็อยากเข้าพรรคภูมิใจไทย "เนชั่นทวี" จึงได้รวบรวมเหตุผลที่ฟังจากบรรดา ส.ส.ที่เป็นครอบครัวภูมิใจไทย ดังนี้

 

-พรรคนี้ทิศทางชัดเจน คือ ร่วมรัฐบาล ต่อรองคุมกระทรวงสำคัญ ไม่ได้มีเงื่อนไขเชิงอุดมการณ์อะไรให้ยุ่งยาก 

 

-ไม่มีความขัดแย้งกับใครอย่างเด่นชัด ทำให้มีความยืดหยุ่นทางการเมืองสูง 

 

-ผู้บริหารพรรคดูแล ส.ส. และอดีตผู้สมัครเป็นอย่างดี แม้สอบตกก็มีตำแหน่ง หรือมีงานให้ทุกคน 

 

ผู้อำนวยการพรรค อย่าง สิรภพ ดวงสอดศรี เคยบอกเอาไว้ว่า "มีคนอยากทำงานร่วมกับทางเราเยอะมาก...ทุกคนที่ทำงานในพรรคนี้ มีที่ยืนหมด สามารถทำงานได้ บางคนอาจไม่ได้เป็น ส.ส. แต่เป็นเลขารัฐมนตรี เราพยายามดูแลคนการเมืองของเราให้ทำงานในศักยภาพที่เขามี" 

 

พูดง่ายๆ คือ ไม่ได้ ส.ส.ก็ยังมีตำแหน่งให้ แล้วใครจะไม่อยากเข้าร่วม 

 

-การดูแลยังครอบคลุมเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำพื้นที่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง 

 

-ว่ากันว่าพรรคนี้ดูแลดี ครอบคลุมทุกอย่าง แถมปลายปียังมีโบนัสด้วย ส่วนจะเป็นอะไร ไม่มีใครยอมบอก

 

การเข้าร่วมพรรคภูมิใจไทยของ สองพ่อลูกช่างเหลา และ สมศักดิ์ พันธ์เกษม ช่วยเพิ่มเก้าอี้ ส.ส.ให้พรรคมากขึ้นไปอีก จากปัจจุบัน 59 กลับไปยืนที่ 62 ซึ่งเดิม 61 แต่ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ไป 2 คน และยังมีงูเห่าซุ่มซ่อนรอย้ายพรรคอีกจำนวนหนึ่ง อย่างน้อยๆ 3-5 คน

 

นี่คือความน่ากลัวของพรรคภูมิใจไทย อีกหนึ่ง "หอกข้างแคร่" ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ว่ากันว่าถูกพรรคนี้ขี่คออยู่