svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ได้จังหวะวาเลนไทน์ "ปิยบุตร" ชำแหละ 5 สาเหตุสภาพิจารณากฎหมายล่าช้า

14 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ได้จังหวะวันวาเลนไทน์ "ปิยบุตร" ชำแหละ 5 สาเหตุสภาฯ พิจารณากฎหมายล่าช้า ร่าง กม. "สมรสเท่าเทียม - สุราก้าวหน้า - พ.ร.บ.ฉุกเฉิน" อัดโดนกลไก "ดอง" โวยรับบาลเสนอมาเป็นปีแล้วทำไมไม่ศึกษา!

     ภาพบรรยากาศวันวาเลนไทน์ ที่วันนี้ (14 ก.พ.) หลายพื้นที่ได้มีการจัดกิจกรรมจดทะเบียนสมรสให้กับบรรดาคู่รักทั้งหลาย แต่อย่างไรก็ตามยังมีคู่รักกลุ่ม LGBT ได้เนื่องจากยังติดขัดเกี่ยวกับข้อกฎหมาย โดยเฉพาะ การแก้ไขร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ปพพ. 1448 ซึ่งขณะนี้ฝ่ายต่าง ๆ กำลังพยายามแก้ไขในเรื่องดังกล่าวอยู่ ทำให้ขณะนี้บางแห่งจึงได้ทำเพียงการจดแจ้งคู่สมรสเพศเดียวกัน เพื่อแสดงถึงความเท่าเทียมกันในสิทธิ์เสรีภาพ แต่ไม่ได้มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด 

 

     ล่าสุด นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้กล่าวถึงปัญหาการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวที่มีความล่าช้า ผ่านรายการ "เอาปากกามาวง" ที่เป็นไลฟ์สดผ่านเพจเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล  โดยระบุตอนหนึ่งเกี่ยวกับร่างกฎหมาย 3 ฉบับของพรรคก้าวไกล คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต หรือ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า, ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ ร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ถูกคณะรัฐมนตรีขอนำไปศึกษาก่อน 60 วัน ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 118 ก่อนที่จะนำกลับมาให้สภาลงมติรับหลักการ ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น  

 

 

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า
 

     นายปิยบุตร กล่าวว่า กลไกต่าง ๆ ทุกวันนี้ ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติง่อยเปลี้ยเสียขาไปเรื่อย ๆ อำนาจในการตรากฎหมายที่ว่าเป็นของสภา สุดท้ายถูกฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรีมาขี่คออยู่เหนือฝ่ายนิติบัญญัติเสียแล้ว ทั้งนี้ ประเทศไทยปกครองในระบบรัฐสภา ซึ่งแตกต่างจากระบบประธานาธิบดีชัดเจนที่หลักการแบ่งแยกอำนาจ ระบบประธานาธิบดีนั้นแยกขาดชัดเจนระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ยุ่ง ไม่คาบเกี่ยวกัน

 

     ขณะที่ระบบรัฐสภายังยุ่งย่ามเกี่ยวกันอยู่ เช่น การที่ ครม. มีอำนาจเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภา , นายกรัฐมนตรีมีอำนาจยุบสภาได้ หรือแม้แต่การที่นายกรัฐมนตรีต้องมาจากความเห็นชอบของสภา , หรือการที่สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจตรวจสอบฝ่ายบริหาร เป็นต้น นี่คือการแบ่งแยกอำนาจที่ไม่เคร่งครัด ยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวดองกันอยู่ แต่สุดท้ายทำไปทำมา กลับกลายเป็นว่าฝ่ายบริหารขึ้นมาอยู่เหนือฝ่ายนิติบัญญัติ ร่างกฎหมายกี่ฉบับที่ผ่านจะเห็นว่าเป็นร่างที่ ครม. เสนอ

 

     ส่วนที่ร่างฎหมายที่ ส.ส. เสนอนั้น เข้าสู่วาระการประชุมสภาได้ยากเย็นมาก เข้ามาแล้วยังโดนกลไกดองดังกล่าว ทั้งนี้ นายปิยบุตร ยังไม่ได้มีการข้อสังเกต 5 ข้อ ว่า ทำไมร่างกฎหมายที่ ส.ส. เสนอถึงคลอดออกมาได้ยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกินอีกด้วย 
 

 

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า

     "เราบอกกันว่า ระบบรัฐสภา หลักการแบ่งแยกอำนาจคือฝ่ายนิติบัญญัติเป็นฝ่ายออกกฎหมาย ขณะที่ฝ่ายบริหารคือฝ่ายบังคับใช้กฎหมายด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ทว่า ในทางปฏิบัติแล้วไม่เป็นอย่างนั้นเลย กฎหมายจำนวนมากจะผ่านสภาได้ก็ต้องใช้เสียงข้างมากของสภา ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นฝ่ายรัฐบาล กฎหมายจำนวนมากที่มีโอกาสผ่านการพิจารณาของสภาก็มักจะเป็นร่างที่ ครม. เสนอ และแม้สุดท้ายแล้ว กฎหมายที่ ส.ส. เสนอจะหลุดเข้ามาสู่การพิจารณาของสภาได้ ก็ยังมีกลไกข้อบังคับการประชุมสภา ข้อ 118 ที่ให้อำนาจ ครม. เอาไปดองก่อน 60 วัน แล้วค่อยกลับมาใหม่

 

     ซึ่งเรื่องนี้เขาพยายามบอกว่าที่ต้องมีกลไกนี้เพราะกฎหมายที่เสนอโดย ส.ส. นั้น รัฐบาลไม่เคยรู้ ไม่เคยอ่านมาก่อนเพราะไม่ได้ยกร่างมา ดังนั้น ขอเวลาศึกษา สำหรับผมคำถามคือว่า ร่างกฎหมายที่ ส.ส. เสนอกันเหล่านี้ เสนอมาเป็นปีแล้ว กว่าจะได้เข้าสู่การพิจารณาสภา แล้ว ครม. ไม่รู้เหรอว่ามีร่างเหล่านี้อยู่ในวาระการประชุมแล้ว ทำไมไม่ไปศึกษาก่อน

 

     นี่คือกลไกเครื่องไม้เครื่องมือที่ทำให้ฝ่ายบริหารมีโอกาสเตะสกัดขัดขวางกฎหมายที่ ส.ส. ทำมา อย่างนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากการที่ ส.ส. จะมีหน้าที่แค่คนกดโหวตลงคะแนนอย่างเดียวตามมติของวิป ผมเห็นว่าผู้แทนราษฎรควรมีโอกาสเสนอร่างกฎหมายได้มากกว่านี้ ควรอภิปรายได้มากกว่านี้ เพราะถ้าปล่อยอย่างนี้ต่อไป นานวันเข้า ส.ส. ก็จะเป็นเพียงคนยกมือ เป็นเพียงสภาตรายางลงมติเท่านั้น" ปิยบุตร กล่าว 
 

 

ได้จังหวะวาเลนไทน์ "ปิยบุตร" ชำแหละ 5 สาเหตุสภาพิจารณากฎหมายล่าช้า

logoline