svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สำรวจท่าที"ภูมิใจไทย"ควรร่วมรัฐบาลอยู่หรือไม่?

09 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การคัดค้านการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น พรรคภูมิใจไทยในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม คัดค้านมาแล้ว 4 ครั้งในระยะเวลา 1 ปี 6 เดือนที่ผ่านมา ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 / โดยครั้งก่อนๆ ใช้วิธีส่งหนังสือคัดค้าน และซักถามโต้แย้งการขยายสัมปทานใน 4 ประเด็น

แต่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ก.พ. เหล่าบรรดา 7 รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย ใช้วิธีการลาประชุม เพื่อแสดงอารยะขัดขืน ค้านการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 

 

โดย 4 ประเด็นที่โต้แย้งตั้งคำถาม ทั้งหมดเป็นเรื่องเดิม ซึ่งแต่ละครั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ตอบไปหมดแล้ว ได้แก่ 

 

1.ประเด็นความครบถ้วนตามหลักการของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 

 

2.ประเด็นการคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม อ้างว่าสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดได้ต่ำกว่า 65 บาท ซึ่งประเด็นนี้ก็ถูกผู้เชี่ยวชาญจากนอกสภา เช่น ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการขนส่งระบบราง ตั้งคำถามกลับว่า วิธีการทำให้ราคาค่าโดยสารสูงสุดต่ำกว่า 65 บาทนั้น ทำอย่างไร เพราะควรเสนอวิธีการมาด้วย ไม่ใช่ตั้งคำถามหรือคัดค้านอย่างเดียว 

3.ประเด็นการใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

4.ประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย กรณี กทม.จ้าง บีทีเอส เดินรถถึงปี พ.ศ.2585 ซึ่งมีผู้ไปร้อง ป.ป.ช. โดยกระทรวงคมนาคมอ้างว่าควรรอความชัดเจนก่อน ซึ่งเรื่องนี้มีการชี้แจงว่าเป็นการร้องให้ไต่สวนอดีต ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเอกชน และเป็นคนละส่วนกับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในภาพรวม 

 

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ถือเป็นเรื่อง "การเมือง" อย่างชัดเจน หลายฝ่ายจึงมีข้อสังเกตและตั้งคำถามกลับไปยังพรรคภูมิใจไทย รวมถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

- เมื่อพรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยกับการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งชัดเจนว่าเป็นนโยบายของรัฐบาล เพราะเสนอมาหลายครั้งแล้ว และพรรคภูมิใจไทยก็คัดค้านมาตลอด หนำซ้ำล่าสุดยังใช้วิธีลาประชุม ครม.พร้อมกัน 7 คน 7 รัฐมนตรี แบบนี้ในทางการเมือง ถือว่าร่วมรัฐบาลกันต่อไปไม่ได้ใช่หรือไม่ และควรถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล

 

- ถ้าพรรคภูมิใจไทยไม่ยอมถอนตัว ก็เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องพิจารณา ปรับพรรคภูมิใจไทยออกจากการร่วมรัฐบาล แต่ปัญหา คือ นายกฯกล้าทำหรือไม่ เพราะมีความเห็นไม่ลงรอยกันมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่มีผลอะไร ฉะนั้นหากนายกฯไม่กล้า ก็เท่ากับรัฐบาลกำลังเข้าสู่ภาวะ "รัฐบาลล้มเหลว" เพราะ 

 

1.การทำงานในสภาฯก็ชะงัก สภาฯล่ม ขับเคลื่อนกฎหมายในการแก้ไขปัญหาประเทศ หรือทำตามนโยบายของตัวเองไม่ได้ 

 

2.การทำงานใน ครม. ก็สะดุด เพราะพรรคร่วมรัฐบาลเห็นไม่ลงรอยกัน และต้องถอนเรื่องที่ควรพิจารณาจบไปตั้งแต่ปี 61 แล้ว แต่กลับยืดเยื้อถึงปัจจุบัน 

 

สรุปรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำงานอะไรไม่ได้เลย ทั้งงานสภา หรือ นิติบัญญัติ และงานของรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหาร

 

หากนายกฯไม่จัดการอะไร แปลว่าพรรคภูมิใจไทยกำลังขี่คอนายกฯ ขี่คอรัฐบาลอยู่ใช่หรือไม่

logoline