svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ทำความเข้าใจที่ “ดินส.ป.ก.” ซื้อ-ขาย-แลกเปลี่ยนได้หรือไม่

07 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทำความเข้าใจที่ “ดิน ส.ป.ก.” ซื้อ-ขาย-แลกเปลี่ยนได้หรือไม่ หลังเกิดดราม่า “ศรีสุวรรณ” เตรียมร้องตรวจสอบ “ทิดสมปอง” กรณีซื้อที่ดิน ส.ป.ก. กว่า 300 ไร่

เป็นประเด็นต่อเนื่องจากรณีที่นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” ออกมาแถลงข่าวพูดถึง “สมปอง” หรือ “นายสมปอง นครไธสง” อดีตพระนักเทศน์ชื่อดังประกาศถอนตัวจากรายการที่ทีวีพูลกรุ๊ปซึ่งเป็นผู้ผลิต 3 รายการ และขนย้ายข้าวของออกจากบ้าน ทั้งที่ยังติดสัญญา 2 ปี และยังระบุว่าอดีตพระมหาดังกล่าวมีหนี้สิน 10.9 ล้านบาท จากการไล่ซื้อที่ดิน ส.ป.ก. กว่า 300 ไร่ เพื่อปลูกยางพารา ซึ่งสร้างความแปลกใจต่อสังคมเป็นอย่างยิ่งว่า ที่ดินที่ถูกกล่าวถึงปล่อยให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้อย่างไร

 

จนต่อมา  “นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย”  ออกมาระบุว่าจะทำคำร้องเป็นหนังสือส่งไปยังเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อขอให้ตรวจสอบที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดชัยภูมิตรวจสอบในเรื่องนี้

 

ทำความเข้าใจที่ “ดินส.ป.ก.” ซื้อ-ขาย-แลกเปลี่ยนได้หรือไม่

 

ทำความรู้จักที่ดิน ส.ป.ก. สามารถทำอะไรได้บ้าง

ส.ป.ก. คือ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร

ที่ดิน  ส.ป.ก. คือ ที่ดินบริเวณที่ได้ประกาศให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งจะอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

ทำความเข้าใจที่ “ดินส.ป.ก.” ซื้อ-ขาย-แลกเปลี่ยนได้หรือไม่

 

ส.ป.ก.4-01 คือ หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งออกตาม พ.ร.บ. ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.)  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกให้กับประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 โดยมีหลักว่าที่ดินในเขตปฏิรูปใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ และผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จะต้องมีฐานะยากจน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องที่ดินและปัญหาการถูกนายทุนเอาเปรียบ

ที่ดิน ส.ป.ก. สามารถซื้อขายได้หรือไม่ ?

 

ที่ดิน ส.ป.ก. ไม่สามารถซื้อขายได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ตามมาตรา 39 ระบุว่า “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้  เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม  หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร  หรือ ส.ป.ก.    เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง” ซึ่งหากมีการทำการซื้อขายก็จะถือว่าเป็นโมฆะและเป็นความผิดอาจจะต้องมีโทษทางอาญาและจำคุกด้วย

 

 

สามารถครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. ได้กี่ไร่

ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ระบุไว้ว่า

(1)   เกษตรกรและบุคคลในครอบครัวเดียวกันซึ่งประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่นเว้นแต่ (2) จำนวนไม่เกินห้าสิบไร่

 

(2)   เกษตรกร และบุคคลเดียวกัน ซึ่งประกอบเกษตรกรรม เพื่อการเลี้ยงสัตว์จำพวกสัตว์ใหญ่ตามที่รัฐมนตรีประกาศตามมาตรา 29 (2)  จำนวนไม่เกินหนึ่งร้อยไร่

 

(3)   สถาบันเกษตรกรซึ่งจะนำที่ดินไปจัดให้แก่เกษตรกรรมตาม (1) หรือ (2) เช่าระยะยาว หรือเช่าซื้อ จำนวนเนื้อที่ดิน       ตามแต่คณะกรรมการจะเห็นสมควร

 

ทำความเข้าใจที่ “ดินส.ป.ก.” ซื้อ-ขาย-แลกเปลี่ยนได้หรือไม่

 

 

สามารถถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ได้อย่างไร

ที่ดิน ส.ป.ก. สามารถทำการแบ่งแยก โอน หรือเป็นมรดกตกทอดไปยังบุคคลอื่นในครอบครัวเท่านั้น เช่น บิดา มารดา สามี ภรรยา หรือบุตร ซึ่งจะมีสิทธิเช่าหรือเช่าซื้อเพื่อการเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว โดยไม่อนุญาตให้เช่าเพื่อจุดประสงค์อื่นใดนอกเหนือจากนี้ ที่ดิน ส.ป.ก. ไม่สามารถนำไปจดทะเบียนจำนองได้ ซึ่งหากรัฐตรวจสอบว่าผู้ที่ครอบครองที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินในการทำกิน ทางรัฐสามารถเรียกคืนได้เช่นเดียวกัน  

 

 

ผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน ส.ป.ก.

ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ระบุ ผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน ส.ป.ก. มี 3 ประเภท คือ

 

1. เกษตรกร เป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักอยู่แล้ว โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ในรอบปี เพื่อประกอบเกษตรกรรมแห่งท้องถิ่นนั้น

 

2. ผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก

- ผู้ยากจน มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/คน/ปี

 

- จบการศึกษาทางเกษตรกรรม ไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่า

 

- เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

 

3. สถาบันเกษตรกร

- กลุ่มเกษตรกร

 

- สหกรณ์การเกษตร

 

- ชุมชนสหกรณ์การเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์

 

ทำความเข้าใจที่ “ดินส.ป.ก.” ซื้อ-ขาย-แลกเปลี่ยนได้หรือไม่

 

 

หากมีคุณสมบัติตามที่กำหนดดังกล่าวข้างต้น สามารถยื่นคำร้องเพื่อขอรับการจัดที่ดิน ณ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จังหวัด โดยให้จัดเตรียมเอกสารและหลักฐาน ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน และหลักฐานการมีที่ดิน (ถ้ามี) เพื่อให้ ส.ป.ก.จังหวัด ตรวจสอบคุณสมบัติและดำเนินการจัดหาที่ดิน และจัดที่ดิน ส.ป.ก.ต่อไป

 

logoline