svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ทำความรู้จัก "ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง" ทางเลือกใหม่วัคซีนเข็ม 3

02 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คณะกรรมอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค อนุมัติให้ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังและการฉีดเข้ากล้ามเนื้อครึ่งโดส หลังพิจารณาจากผลการศึกษาในไทยและต่างประเทศ ข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร "เนชั่นออนไลน์" รวบรวมไว้แล้ว

2 กุมภาพันธ์ 2565 ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ดำเนินการตามมติคณะกรรมอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค หลังพิจารณาจากผลการศึกษาในไทยและต่างประเทศ ของ การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง และ การฉีดเข้ากล้ามเนื้อครึ่งโดส ซึ่งมีประสิทธิผลใกล้เคียงกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อในขนาดปกติ แต่เกิดผลข้างเคียง อาการไม่พึงประสงค์น้อยกว่า

 

การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็มที่ 3 และเข็มที่ 4 ด้วยวัคซีนไฟเซอร์ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ มีความพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนเพื่อเป็นทางเลือก 3 รูปแบบดังนี้

 

  1. การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular : IM) ขนาดยาปกติ 30 ไมโครกรัม/โดส
  2. การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular : IM) ครึ่งโดส ขนาดยา 15 ไมโครกรัม/โดส
  3. การฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (Intradermal : ID) ขนาดยา 10 ไมโครกรัม/โดส

 

ทำความรู้จัก "ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง" ทางเลือกใหม่วัคซีนเข็ม 3

ทั้งนี้ การรับวัคซีนอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์และความสมัครใจของผู้รับวัคซีน เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา

 ทำความรู้จัก การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง 

 

การ “ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง” เพื่อป้องกัน โควิด-19 น่าจะเป็นอีกทางเลือกสำหรับคนมีโรคประจำตัวหรือแพ้ยา เพราะปริมาณที่ฉีดและผลข้างเคียงน้อยกว่าการ “ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ” แต่โรงพยาบาลที่เปิดบริการเรื่องนี้ยังมีอยู่น้อย

 

คนจำนวนไม่น้อยไม่ยอมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เนื่องจากเกรงว่า จะแพ้วัคซีน ป่วยและเสียชีวิต ทั้งๆ ที่โดยรวมแล้วผลข้างเคียงที่ทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิตมีจำนวนน้อยมาก แต่คนจำนวนหนึ่งก็เกิดความไม่เชื่อมั่นในการฉีดวัคซีน เนื่องจากแต่ละคนมีปัจจัยเสี่ยงไม่เหมือนกัน 

 

ทำความรู้จัก "ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง" ทางเลือกใหม่วัคซีนเข็ม 3

 

ก่อนหน้านี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ หมอธีระวัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ข้อมูลผ่านในเฟซบุ๊ก ระบุว่า..

 

 “การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง ไม่ใช่ประหยัดอย่างเดียว แต่เพื่อความปลอดภัยสูงสุดด้วย ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ประหลาดมหัศจรรย์ ในการนำวัคซีนทุกประเภทมาใช้ในการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ทั้งนี้ประโยชน์ที่จะได้รับนั้นคือ การที่จะสามารถประหยัดวัคซีนลงได้มหาศาล โดยเฉพาะในเรื่องของวัคซีนโควิด” 

ที่ผ่านมา ศ.นพ.ธีระวัฒน์ มีความพยายามให้ข้อมูลเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้โรงพยาบาลทั่วประเทศสร้างทางเลือกให้ประชาชนในการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังมากขึ้น

 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ หมอธีระวัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุถึง ความปลอดภัยและผลแทรกซ้อน ว่า การฉีดเข้าชั้นผิวหนังจะใช้ปริมาณน้อยมาก ดังนั้นการกระตุ้นทำให้เกิดผลแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจะน้อยกว่า โดยสามารถอธิบายได้จากการที่ฉีดเข้าชั้นผิวหนังนั้น กลไกในการกระตุ้นภูมิจะแยกออกอีกสายที่เรียกว่าเป็น Th2 ในขณะที่การฉีดเข้ากล้ามการกระตุ้นจะเป็นสาย Th1

 

ทั้งนี้ สาย Th1 นี้เองที่เป็นขั้นตอนกระบวนการของโควิดที่ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง ต่อจากเม็ดเลือดขาว นิวโตรฟิล (กระบวนการ NETS สุขภาพพรรษา กลไกที่ทำให้เกิดเสมหะเหนียวขุ่นคลั่กและพังผืด) และต่อเนื่องจนกระทั่งเกิดมีลิ่มเลือดอุดตันหรือเนื้อเยื่อและอวัยวะอักเสบทั่วร่างกาย รวมกระทั่งถึงกล้ามเนื้อหัวใจและสมองอักเสบที่เราเรียกว่ามรสุมภูมิวิกฤติ (cytokine storm)

 

“ วัคซีน คือ ร่างจำลองของไวรัสโควิด และส่วนที่วัคซีนทุกยี่ห้อนำมาใช้นั้นจะมีส่วนหรือชิ้นของไวรัสที่เกาะติดกับเซลล์มนุษย์ และเป็นตำแหน่งเดียวกันกับที่ทำให้เกิดการอักเสบ ”

 

ทำความรู้จัก "ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง" ทางเลือกใหม่วัคซีนเข็ม 3

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุอีกว่า การฉีดเข้าชั้นผิวหนังยังนำมาใช้ในทวีปแอฟริกา กับวัคซีนไข้เหลือง และยังรวมไปจนถึงวัคซีนสมองอักเสบ JE วัคซีนตับอักเสบบี และแม้แต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ได้อนุมัติจากองค์การอนามัยโลกและสหรัฐ ที่ใช้จนถึงปัจจุบันนี้ก็ใช้วิธีการฉีดเข้าชั้นผิวหนังเช่นกัน

 

นอกจากนี้  ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังระบุว่า มีผู้สงสัยอยู่ว่า แล้วทำไมไม่เอาวิธีการฉีดเข้าชั้นผิวหนังตั้งแต่ต้น ว่า คำถามนี้เป็นคำถามตั้งแต่ 37 ปีที่แล้ว และเราก็ได้ทราบคำตอบจากบริษัทวัคซีนหลายแห่งว่าเพราะขายได้น้อยลง แต่เราก็ช่วยอธิบายว่าถ้าสามารถใช้ได้ทั่วทุกคนจำนวนที่ขายแท้จริงแล้วก็ไม่ได้ลดลง และอาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

 

คำถามที่ว่าการฉีดยุ่งยากแท้จริงแล้วเป็นการฉีดที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พยาบาลปฏิบัติกัน ด้วยความช่ำชองยกตัวอย่างเช่น การฉีดวัคซีน บีซีจี ในเด็กแรกเกิด เป็นต้น และแม้แต่การฝึกการฉีดเพียง 15 นาทีหรือครึ่งชั่วโมงก็ฉีดเป็น โดยใช้กระบอกฉีดยาที่ใช้ฉีดในคนเป็นเบาหวานและใช้เข็มขนาดเล็กมาก โดยประโยชน์ที่ได้รับ และทำให้คนเข้าถึงได้ทุกคน เท่าเทียมกันในระยะเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งมีความปลอดภัยมากกว่า

 

ทำความรู้จัก "ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง" ทางเลือกใหม่วัคซีนเข็ม 3

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 คณะทำงานร่วมกับ ศ.นพ.ธีระวัฒน์  อันประกอบไปด้วย อาจารย์หมอเขตต์ ศรีประทักษ์ สถาบันโรคทรวงอก อาจารย์หมอทยา กิติยากร โรงพยาบาลรามาธิบดี และอาจารย์ดอกเตอร์อนันต์ จงแก้ววัฒนา ไบโอเทค สวทช และหมอเองและคณะศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬา ได้ทำการทดสอบการฉีดเข้าชั้นผิวหนังไม่ต่ำกว่า 400 ราย 

 

ผลการทดสอบได้ผลดีและมีผลข้างเคียงเป็นเฉพาะที่ตุ่มแดงหรือคันโดยผลข้างเคียงรุนแรงไข้ปวดหัว ปวดเมื่อย และอาการร้ายแรงอื่นๆ ไม่ปรากฏหรือน้อยมาก ซึ่งประสบการณ์การศึกษาของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ก็ได้แสดงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในลักษณะเดียวกัน โดยผลข้างเคียงที่เกิดแก่ระบบทั่วร่างกาย ต่ำกว่าการฉีดเข้ากล้าม 10 เท่าหรือมากกว่า

 

ทำความรู้จัก "ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง" ทางเลือกใหม่วัคซีนเข็ม 3

 

 

ขอบคุณข้อมูล : เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha , กรุงเทพธุรกิจ

logoline