svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ทช.ร่วมปตท. เดินหน้าศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี

01 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับ ปตท. จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการโครงการศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการโครงการศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องพลังไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยมีนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เป็นผู้ลงนาม พร้อมกันนี้ได้มีคณะผู้บริหารจากทั้ง 2 หน่วยงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน

ทช.ร่วมปตท. เดินหน้าศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ว่า ป่าชายเลนเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญและมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อประเทศไทยและสังคมโลกทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ขยายพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำนานาชนิด เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน สำหรับสถานการณ์ทรัพยากรป่าชายเลนนั้น จากการสำรวจและแปลภาพถ่ายดาวเทียม เมื่อปี พ.ศ. 2563 พบว่ามีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น จากปี พ.ศ. 2557 กว่า 200,000 ไร่ โดยมีป่าชายเลนคงสภาพ 1.74 ล้านไร่ คงเป็นไปได้ยากหรืออาจต้องใช้เวลานานมากที่หน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียวจะดำเนินการให้มีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นได้มากขนาดนี้

ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา) ได้มอบนโยบาย และตั้งเป้าหมายที่สำคัญคือพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นเช่นนี้ทุกปี เน้นย้ำให้ต่อยอดความร่วมมือทุกภาคส่วนให้เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนของไทยให้ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน กรม ทช. จึงได้ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงพลังของพี่น้องประชาชนที่จะช่วยกันดูแล รักษา อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์อย่างสมดุล

ทช.ร่วมปตท. เดินหน้าศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี

โดยในครั้งนี้ ได้ร่วมมือกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านพลังงานของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาตลอด จึงได้ร่วมหารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน และจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการโครงการศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี ณ แปลงปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ FPT29 และ FPT29/3 ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองเก่า – คลองคอย ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ซึ่งจะร่วมกันดำเนินงานโครงการ เป็นระยะเวลา 10 ปี นับจากนี้ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ด้านการใช้ประโยชน์ป่าชายเลนธรรมชาติและแปลงป่าชายเลนปลูกอย่างยั่งยืน

ทช.ร่วมปตท. เดินหน้าศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี

โดยน้อมนำกระแส พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหามหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ความว่า “ปลูกป่าแล้วต้องให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ และในขณะเดียวกันก็ต้องช่วยกันอนุรักษ์ด้วย”  มาสู่ การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งเพื่อพัฒนาต้นแบบศูนย์ศึกษาเรียนรู้ด้านการพลิกฟื้นนากุ้งร้างเป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์ในระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านป่าชายเลน ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศป่าชายเลน ต่อไป

ทช.ร่วมปตท. เดินหน้าศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ปตท. มีภารกิจด้านพลังงานและปิโตรเคมีอย่างครบวงจรในฐานะเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ โดยมีพันธกิจในการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสมดุล ด้านสังคมและชุมชน ปตท. มุ่งเป็นองค์กรที่ดีของสังคมที่มีการบริหารจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีแก่สังคมชุมชน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปตท. มีการดำเนินกิจกรรมและโครงการต่างๆ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งหลายโครงการ 

 

โดยได้ร่วมมือกับชุมชน หน่วยงานราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น และทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี ซึ่งครั้งนี้ ปตท. มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมกับ ทช.ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลน ซึ่งเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าของประเทศ โดยพร้อมที่จะสนับสนุนทั้งเชิงยุทธศาสตร์ แผนการปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่บุคลากร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ ตลอดจนการประสานงานด้านต่างๆ ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพให้กับชายฝั่งทะเลไทย ตอบสนองนโยบายของชาติ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

logoline