svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

นักวิชาการเผย2ตัวเต็งเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร

28 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ 2 ตัวเต็งเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตหลักสี่-จตุจักร สาเหตุ "สรัลรัศมิ์" จากพลังประชารัฐ มีโอกาสอกหัก

การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตหลักสี่-จตุจักร (บางส่วน) แทนนายสิระ เจนจาคะ ที่ต้องพ้นจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กำลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย และเริ่มนับถอยหลังไปสู่วันหย่อนบัตร 30 ม.ค.นี้แล้ว

 

ในช่วงการหาเสียงจนถึงช่วงโค้งสุดท้ายประเมินสถานการณ์ ทั้งกระแสพรรค และตัวผู้สมัคร พบว่า การเลือกตั้งซ่อมส.ส.เขตหลักสี่-จตุจักร (บางส่วน) แม้เป็นการสู้กันของผู้สมัคร 8 พรรค แต่ไม่ได้ดุเดือด เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งซ่อม จ.สงขลา เขต 6 และ จ.ชุมพร เขต 1 

 

ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตหลักสี่ 

 

นายพันธุ์เทพ ฉัตรนะรัช ผู้สมัคร พรรคไทยภักดี เบอร์ 1 

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ผู้สมัคร พรรคกล้า เบอร์ 2

นายสุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัคร พรรคเพื่อไทย เบอร์ 3

นางสาวกุลรัตน์ กลิ่นดี ผู้สมัคร พรรคยุทธศาสตร์ชาติ เบอร์ 4

นายรุ่งโรจน์ อิบรอฮีม ผู้สมัคร พรรคไทยศรีวิไลย์ เบอร์ 5

นายกรุณพล เทียนสุวรรณ ผู้สมัคร พรรคก้าวไกล เบอร์ 6

นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ผู้สมัคร พรรคพลังประชารัฐ เบอร์ 7

นายเจริญ ชัยสิทธิ์  ผู้สมัคร พรรคครูไทย เบอร์ 8 

นักวิชาการเผย2ตัวเต็งเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร

การหาเสียงช่วง "โค้งสุดท้าย" พบว่าการต่อสู้ดุเดือด 5 พรรค 5 คน ดังนี้

 

นายพันธุ์เทพ ฉัตรนะรัช ผู้สมัครพรรคไทยภักดี นับเป็นสนามแรกของพรรคไทยภักดี ที่ส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ ส.ส. 

 

สำหรับฐานคะแนนเสียง ไม่ได้อยู่ที่ตัวของ “พันธุ์เทพ” แต่อยู่ที่ความนิยมของพรรคไทยภักดี ซึ่งมีจุดยืนชัดเจนในการ "ปกป้องสถาบันฯ" และตัวผู้สมัครก็ใช้สโลแกนประจำตัว “ไม่กุ๊ย ไม่กร่าง ไม่โกง รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” 

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ผู้สมัคร พรรคกล้า สำหรับพรรคกล้า ผ่านสนามเลือกตั้งซ่อมมาแล้ว 3 สนาม  ส่วน “อรรถวิชช์” มีฐานเสียงในพื้นที่อยู่ในเขตจตุจักร  ในช่วงที่ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ความนิยมในตัวของ “อรรถวิชช์” ในพื้นที่ยังมีอยู่พอสมควร บวกกับกระแสของพรรคกล้า ที่โพลสำรวจออกมาว่า “คนหลักสี่-จตุจักร” อยากลองของใหม่ ทำให้คะแนนในช่วงโค้งสุดท้ายดีดตัวปรับขึ้น

 

นายสุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัคร พรรคเพื่อไทย ได้จากฐานเสียงในพื้นที่ มีมากกว่าคะแนนนิยมของพรรคหลายเท่าตัว การเลือกตั้ง 24 มี.ค. 62 “สุรชาติ” ได้ 32,115 คะแนน ดังนั้น มีความเป็นได้สูงที่จะรักษาฐานคะแนนเสียงดังกล่าวเอาไว้ได้

 

นอกจากนั้น  “สุรชาติ” แม้ไม่ชนะการเลือกตั้ง แต่เขาไม่ทิ้งำพื้นที่ ลงพบปะชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้เปรียบกว่าผู้สมัครรายอื่น

 

นายกรุณพล เทียนสุวรรณ ผู้สมัคร พรรคก้าวไกล คะแนนนิยมในตัว “กรุณพล” สูสีกับคะแนนนิยมพรรคก้าวไกล โดยมีฐานของ “กลุ่มคนรุ่นใหม่” คอยสนับสนุน ซึ่งต้องติดตามว่านิวโหวตเตอร์ จะเทคะแนนให้มากน้อยเพียงใด

 

คนสุดท้าย นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ คะแนนนิยมในตัวของ“สรัลรัศมิ์” มีน้อยกว่าคะแนนนิยมของพรรคพลังประชารัฐ ที่สำคัญความวุ่นวายจากปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ ทำให้คะแนนนิยมของพรรคดิ่งลงอีก ยิ่งทำให้กระทบต่อ “สรัลรัศมิ์” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ทั้ง “สรัลรัศมิ์-พลังประชารัฐ” รู้ดีว่าคะแนนนิยมตกต่ำลง โค้งสุดท้ายจึงปรับกลยุทธ์ เลือกชูผลงานของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อหวังดึงคะแนนจากแฟนคลับ “บิ๊กตู่” ให้ช่วงท้ายของการหาเสียง

นักวิชาการเผยตัวเต็งเพียงแค่ 2 พรรค 

 

นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ แนวโน้มผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร (บางส่วน) ว่า จะเหลือตัวเต็งเพียงแค่ 2 พรรค คือ นายสุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย และ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ผู้สมัครของพรรคกล้า 

 

ส่วน นางสรัลรัศมิ์ ผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐ นั้น ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองว่า กระแสผู้สมัครในพื้นที่ไม่ดีมากนัก แม้จะได้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ลงพื้นที่ช่วยหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย 

 

ส่วนกรณีนางสรัลรัศมิ์ ผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐ ใช้กระแสของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาช่วยหาเสียง เชื่อว่าไม่ได้ผลเช่นกัน เพราะปัจจัยหลักคือตัวบุคคลมากกว่าพรรค และพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เนื้อเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ

logoline