svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

บทลงโทษ "คนเดินเท้า-คนขับรถ" ฝ่าฝืนกฎ "ทางม้าลาย" ถูกปรับมากน้อยขนาดไหน

27 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชวนคนไทยร่วมเปิดสถิติ-บทลงโทษ "คนเดินเท้า-คนขับรถ" หากฝ่าฝืนกฎจราจรบริเวณ "ทางม้าลาย" โดนจ่ายค่าปรับเท่าไหร่ เช็กรายละเอียดได้ที่นี่!

กรณีรถจักรยานยนต์ "บิ๊กไบค์" ชนคนเดินที่บริเวณทางข้ามม้าลาย ที่บริเวณหน้าสถาบันไตรภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท มุ่งหน้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสียชีวิต โดยผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน ส.ต.ต.นรวิทย์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กก.อารักขา บก.อคฝ.

 

เหตุการณ์ในครั้งนี้ได้สร้างความสลดใจและเป็นแรงกระตุ้นให้สังคมไทยได้ ตระหนักถึงความสำคัญและหลายฝ่ายได้หันมาให้ความใส่ใจต่อปัญหา "ทางข้ามถนน" ที่ไม่ได้รับความปลอดภัยมาหลายสิบปี ทั้งที่เป็นความปลอดภัยขั้นพื้นฐานของคนเดินถนน เฉกเช่นกับนานาประเทศที่พัฒนาแล้ว 

 

คำถามในวันนี้ จึงมีอยู่ที่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น

เป็นเพราะข้อกฎหมายการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง หรือจิตสำนึกของผู้ขับขี่ที่ใช้ยวดยานบนท้องถนนกันแน่

 

แม้แต่ในหลายประเทศทั่วโลกจะให้ความสำคัญคน "คนข้ามถนน" ไม่ว่าจะอยู่ในถนนจุดใดของประเทศ เพียงคนข้ามเตรียมมายืนที่จุดรอข้ามถนน กฎหมายในต่างประเทศอย่างญี่ปุ่น จะบังคับให้รถยนต์ที่จะขับผ่านมาต้องหยุดในระยะไม่ต่ำกว่า 5-10 เมตรทันที ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทย แม้สัญญาณไฟเขียวคนข้ามติดขึ้นแล้ว แต่คนขับรถยนต์ส่วนใหญ่ยังไม่หยุดรถ เพื่อให้ได้คนข้ามถนนตามสิทธิ์ที่พึงมี

บทลงโทษ "คนเดินเท้า-คนขับรถ" ฝ่าฝืนกฎ "ทางม้าลาย" ถูกปรับมากน้อยขนาดไหน

อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักกลุ่มงานจัดระบบจราจร สำนัการจราจรการขนส่ง กทม. ระบุไว้ว่า

จำนวนทางม้าลายในกรุงเทพฯ มีประมาณ 1,112 แห่ง โดยเป็นทางแยกหน้าสถานศึกษา ประมาณ 450 แห่ง โดยหลายพื้นที่ถูกแจ้งเตือนเป็นพื้นที่ "จับ-ปรับ" อาทิ บริเวณแยกอโศกมนตรี แต่ในจุดนี้ยังพบการกระทำผิดมาตลอด โดยในเดือน ม.ค.2565 มีสถิติพบการกระทำผิดกว่า 25,000 ครั้ง

 

นอกจากนี้ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระหว่างปี 2559 - 2564 พบว่ามีประชาชนคนเดินถนนต้องประสบเหตุจากการเดินข้ามถนนมากถึง 224,068 คน หรือเฉลี่ยต่อปีกว่า 41,000 ราย โดยเกือบครึ่งที่เกิดอุบัติเหตุ เกิดจากรถจักรยานยนต์ชนคนข้ามถนน หรือคนเดินเท้าจนได้รับบาดเจ็บที่ทั้งเล็กน้อยไปถึงสาหัส และเสียชีวิต 

 

ที่สำคัญตามรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนปี 2556 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในแต่ละปีทั่วโลกมี "คนเดินเท้า" เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่าปีละ 270,000 คน หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนผู้เสียชีวิต 1.24 ล้านคนต่อปี

บทลงโทษ "คนเดินเท้า-คนขับรถ" ฝ่าฝืนกฎ "ทางม้าลาย" ถูกปรับมากน้อยขนาดไหน

ทีมข่าวได้ตรวจสอบข้อมูลไปที่ "พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522" ซึ่งกำหนดข้อปฏิบัติและบทลงโทษไว้ชัดเจนสำหรับผู้ใช้รถยนต์และคนเดินทาง ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้ให้นิยาม "ทางข้าม" ไว้ว่า "พื้นที่ที่ทำไว้สำหรับให้คนเดินเท้าข้ามทาง โดยทำเครื่องหมายเป็นเส้นหรือแนวหรือตอกหมุดไว้บนทาง และให้หมายความรวมถึงพื้นที่ที่ทำให้คนเดินเท้าข้ามไม่ว่าในระดับใต้หรือเหนือพื้นดินด้วย"

บทลงโทษ "คนเดินเท้า-คนขับรถ" ฝ่าฝืนกฎ "ทางม้าลาย" ถูกปรับมากน้อยขนาดไหน

สำหรับ "พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522" ได้กำหนดข้อปฏิบัติสำหรับรถยนต์-คนเดินทางไว้ดังนี้ 

มาตรา 22 (4)

สัญญาณจราจรไฟลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยวหรือชี้ให้ตรงไป หรือสัญญาณจราจรไฟสีแดงแสดงพร้อมกับสัญญาณจราจรไฟลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยวหรือชี้ให้ตรงไป ให้ผู้ขับขี่เลี้ยวรถหรือขับรถตรงไปได้ตามทิศทางที่ลูกศรชี้ และต้องขับรถด้วยความระมัดระวัง และต้องให้สิทธิแก่คนเดินเท้าในทางข้ามหรือรถที่มาทางขวาก่อน

มาตรา 57(4) 

ห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถในทางข้าม หรือในระยะ 3 เมตรจากทางข้าม

มาตรา 70

ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก ทางข้ามเส้นให้รถหยุด หรือวงเวียน ต้องลดความเร็วของรถ

ขณะที่ข้อกำหนด "คนเดินเท้า" เกี่ยวกับทางข้ามได้บัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 104

ภายในระยะไม่เกิน 100 เมตร นับจากทางข้ามห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางนอกทางข้าม

มาตรา 105 

คนเดินเท้าซึ่งประสงค์จะข้ามทางเดินรถในทางข้ามที่มีไฟสัญญาณจราจรควบคุมคนเดินเท้า ให้ปฏิบัติตามไฟสัญญาณจราจรที่ปรากฎต่อหน้า ดังต่อไปนี้

(1) เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีแดง ไม่ว่าจะมีรูปหรือข้อความเป็นการห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถด้วยหรือไม่ก็ตาม ให้คนเดินเท้าหยุดรออยู่บนทางเท้า บนเกาะแบ่งทางเดินรถหรือในเขตปลอดภัย เว้นแต่ทางใดที่ไม่มีทางเท้า ให้หยุดรอบนไหล่ทางหรือขอบทาง

(2) เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีเขียว ไม่ว่าจะมีรูปหรือข้อความเป็นการอนุญาตให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถด้วยหรือไม่ก็ตาม ให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถได้ นักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

(3) เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีเขียวกระพริบทางด้านใดของทาง ให้คนเดินเท้าที่ยังมิได้ข้ามทางเดินรถหยุดรอบนทางเท้า บนเกาะแบ่งทางเดินรถหรือในเขตปลอดภัย แต่ถ้ากำลังข้ามทางเดินรถให้ข้ามทางเดินรถโดยเร็ว

มาตรา 106

คนเดินเท้าซึ่งประสงค์จะข้ามทางเดินรถในทางข้ามหรือทางร่วมทางแยกที่มีสัญญาณจราจรควบคุมการใช้ทางให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีแดงให้รถหยุดทางด้านใดของทางให้คนเดินข้ามทางเดินรถตามที่รถหยุดนั้น และต้องข้ามทางเดินรถภายในทางข้าม

(2) เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีเขียวให้รถผ่านทางด้านใดของทางห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถด้านนั้น

(3) เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีเหลืองอำพันหรือไฟสีเขียวกระพริบทางด้านใดของทาง ให้คนเดินเท้าที่ยังมิได้ข้ามทางเดินรถหยุดรอบนทางเท้าบนเกาะแบ่งทางเดินรถ หรือในเขตปลอดภัย แต่ถ้ากำลังข้ามทางเดินรถอยู่ในทางข้ามให้ข้ามทางเดินรถโดยเร็ว

มาตรา 107 

คนเดินเท้าซึ่งประสงค์จะข้ามทางเดินรถในทางที่มีพนักงานเจ้าหน้าที่แสดงสัญญาณจราจรให้ปรากฏไม่ว่าจะเป็นสัญญาณด้วยมือและแขน หรือเสียงสัญญาณนกหวีด ให้ปฏิบัติตามมาตรา 106 โดยอนุโลม

มาที่ "บทลงโทษ" ฝ่าฝืนกระทำความผิดมาตราที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดไว้ดังนี้

มาตรา 147 

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 104 มาตรา 105 และ 106 ปรับไม่เกิน 200 บาท 

มาตรา 148 

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 57 มาตรา 70 ปรับไม่เกิน 500 บาท 

มาตรา 152 

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 22 ปรับไม่เกิน 1,000 บาท

.

บทลงโทษ "คนเดินเท้า-คนขับรถ" ฝ่าฝืนกฎ "ทางม้าลาย" ถูกปรับมากน้อยขนาดไหน

ขอขอบคุณ กรุงเทพธุรกิจ ,ข้อมูลของสำนักกลุ่มงานจัดระบบจราจร , สำนัการจราจรการขนส่ง กทม.

logoline