svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ภูเขาไฟระเบิด "ตองกา" ทำโลกสะเทือน กระทบลูกโซ่ปัญหาสิ่งแวดล้อม

19 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักวิทยาศาสตร์หวั่นวิตก เหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดที่ "ตองกา" นอกจากความเสียหายของพลเรือนแล้ว ยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาวตามมาด้วย

แม้ความเสียหายจากเหตุภูเขาไฟใต้น้ำในตองกา ระเบิดอย่างรุนแรง เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา จะยังไม่สามารถประเมินได้ทั้งหมด เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของตองกา เป็นเกาะโดดเดี่ยวห่างไกลในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ แต่คลื่นสึนามิจากเหตุระเบิด ก็สร้างความวิตกให้กับประชาชนในหลายประเทศ

ภูเขาไฟระเบิดในตองกา โลกสะเทือน

ภูเขาไฟ ฮังกา ฮาอาปาย Hunga Ha’apai ในประเทศตองกา เกิดการปะทุเมื่อช่วงเช้าวันที่ 14 ม.ค.ก่อนจะปะทุซ้ำอย่างรุนแรงอีกครั้งช่วงบ่ายวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า เป็นการระเบิดของภูเขาไฟครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี นับจากการระเบิดของภูเขาไฟปินาตูโบ บนเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี 1991

 

การระเบิดอย่างรุนแรงครั้งนี้ เทียบได้กับระเบิดนิวเคลียร์ขนาด 10 เมกกะตัน กลุ่มควันและเถ้าภูเขาไฟพุ่งสูงขึ้นไปในอากาศถึง 20 กม.ขณะที่แรงสั่นสะเทือนและเสียงจากการระเบิดนั้น สามารถรู้สึกได้ไกลถึงหลายประเทศ เกิดสึนามิซัดชายฝั่งตองกาและริมฝั่งทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก

ภูเขาไฟระเบิดในตองกา โลกสะเทือน

แม้ความเสียหายจากสึนามิครั้งนี้ จะไม่ได้รุนแรง เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุสึนามิครั้งใหญ่ในปี 2004 จากเหตุแผ่นดินไหวใกล้เกาะสุมาตรา แต่เนื่องจากตองกา อยู่ในแนววงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) รอบมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลกที่มีพลัง และยังมีกิจกรรมของภูเขาไฟอย่างต่อเนื่อง จึงเกรงกันว่า แรงระเบิดของภูเขาไฟครั้งนี้ จะเป็นการสะสมพลัง สร้างความเครียดให้กับรอยเลื่อน และอาจส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง หรือเกิดการระเบิดครั้งใหญ่ของภูเขาไฟลูกอื่นๆ ได้อีก

 

ภาพของภูเขาไฟ ฮังกา ฮาอาปาย ที่จมหายไปในทะเล หลังเหตุระเบิด อาจสร้างความวิตกให้กับประชาชนทั่วไป ถึงความรุนแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่เป็นที่น่าประหลาดใจของนักวิทยาศาสตร์ เพราะปรากฏการณ์ลักษณะนี้ สามารถพบเห็นได้ไม่ยากในทางธรณีวิทยา และเกาะภูเขาไฟแห่งนี้ ก็ถือว่าเป็นเกาะที่อายุยังน้อย เนื่องจากเพิ่งโผล่พ้นทะเล หลังการปะทุเมื่อปี 2009 และได้มีการขยายขนาดขึ้นหลังเกิดการปะทุรุนแรงอีกครั้งเมื่อปี 2015 ทำให้ขนาดของเกาะใหญ่ขึ้น ยาว 2 กิโลเมตร กว้าง 1 กิโลเมตร และสูง 100 เมตร จนการปะทุครั้งล่าสุด พื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะ ก็จมหายไปในทะเลอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์วิตกเกี่ยวกับสิ่งที่จะตามมาหลังการระเบิดของภูเขาไฟครั้งนี้ นอกเหนือจากความเสียหายเฉียบพลันจากแรงระเบิด และความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวตองกาแล้ว คือผลกระทบระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการระเบิดขนาดใหญ่ของภูเขาไฟ จะส่งเถ้าถ่านและฝุ่นภูเขาไฟ

ภูเขาไฟระเบิดในตองกา โลกสะเทือน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งเป็นแก๊สพิษ ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศถึงชั้นสตราโตสเฟียร์ stratosphere และจะแขวนลอยอยู่บนบรรยากาศนานนับเดือน และจะกระจายไปทั่วโลก และอาจส่งผลให้เกิดฝนกรดขึ้นได้ในหลายพื้นที่

 

ไม่นับเถ้าภูเขาไฟซึ่งเป็นพิษ ที่จะปกคลุมพื้นดินและมหาสมุทรรอบตองกาและประเทศใกล้เคียงไปอีกยาวนาน ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน ทั้งเรื่องแหล่งนำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภค การทำเกษตรกรรมหรือการประมง ไม่เว้นแม้แต่การขนส่งคมนาคม ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการบินด้วย

ภูเขาไฟระเบิดในตองกา โลกสะเทือน

logoline