svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดวิธีสังเกตอาการป่วย "โรคซึมเศร้า" ปัญหาที่คนทั่วโลกเผชิญหน้า

17 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ย้อนข้อมูลกรมสุขภาพจิต เปิดวิธีสังเกตอาการป่วย "โรคซึมเศร้า" และข้อแนะนำเบื้องต้นหากพบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคดังกล่าว หลังเพิ่งเกิดเหตุอดีตนักแสดงดัง "ไมเคิล พูพาร์ต" ที่ป่วยซึมเศร้า จบชีวิตตัวเอง

ภายหลังเกิดข่าวช็อกวงการบันเทิง อดีตนักแสดงชื่อดัง “ไมเคิล พูพาร์ต” หรือนายมิเชล ชัยโรจน์ พูพาร์ต อายุ 52 ปี ใช้อาวุธปืนลั่นไกตัวเองเสียชีวิต ภายในบ้านพักซอยนาคนิวาส 5 ย่านลาดพร้าว โดยหนึ่งในสาเหตุมาจากปัญหาเรื่องสุขภาพ ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง และซึมเศร้า

 

โดยเฉพาะเรื่อง “ซึมเศร้า” กลายเป็นปัญหาที่หลายคนทั่วโลก ต้องเผชิญหน้ากับอาการป่วยเหล่านี้ และมีคนไทยที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวนับล้านคน

เปิดวิธีสังเกตอาการป่วย "โรคซึมเศร้า" ปัญหาที่คนทั่วโลกเผชิญหน้า

ทางองค์การอนามัยโลก เคยเปิดเผยผลสำรวจเมื่อปี 2560 ว่า ช่วงเวลานั้นมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ทั่วโลกประมาณ 322 ล้านคน หรือร้อยละ 4.4 ของประชากรโลก และในประเทศไทย จากข้อมูลเมื่อปี 2551 มีผู้ป่วยซึมเศร้าจำนวน 1.5 ล้านคน

 

สำหรับ "โรคซึมเศร้า" เป็นโรคผิดปกติของสมอง ที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม จนส่งต่อไปยังสุขภาพร่างกาย ส่วนสาเหตุมาจากความผิดหวัง หรือการได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง ซึ่งทางแพทย์ให้ข้อมูลเชิงวิชาการว่า โรคดังกล่าวเกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน

เปิดวิธีสังเกตอาการป่วย "โรคซึมเศร้า" ปัญหาที่คนทั่วโลกเผชิญหน้า

ก่อนหน้านี้กรมสุขภาพจิต เคยให้ข้อมูลอาการของผู้ป่วย “โรคซึมเศร้า” เผื่อให้ตัวเอง และคนรอบข้างคอยสังเกตอาการ โดยแบ่งอาการออกเป็น 4 ด้าน

 

1.ด้านความคิด มีความคิดลบตลอดเวลา รู้สึกสิ้นหวัง มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกผิด รู้สึกตัวไร้ค่า คิดถึงแต่เรื่องอยากตาย

2.ด้านอารมณ์ ซึมเศร้า โกรธง่าย กังวลตลอดเวลา หงุดหงิดฉุนเฉียว

3.อาการทางกาย นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป น้ำหนักลดหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติ

4.พฤติกรรรม ความสนใจสิ่งต่างๆ ลดลงอย่างมาก รู้สึกอ่อนเพลีย การทำงานช้าลง การงานแย่ลง ไม่มีสมาธิ และการตัดสินใจแย่ลง

ซึ่งกรมสุขภาพจิตให้แนะนำ 6 ประการ เมื่อรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

 

1.หากมีอาการให้ปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี จะทำให้อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็วและหายขาด

2.กินยาต้านเศร้าต่อเนื่อง 6-9 เดือน ตามแพทย์สั่ง และห้ามหยุดยาเอง

3.ดูแลตัวเอง ไม่อดนอน ควรนอนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ไม่อดอาหาร กินให้ครบทุกมื้อ

4.ไม่เครียด หาวิธีระบาย ออกกำลังกายเป็นประจำ

5.ไม่ใช้สารเสพติด ไม่ดื่มสุรา หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชูกำลัง ชา กาแฟ

6.ญาติหรือคนใกล้ชิดต้องดูแล อยู่ให้ห่างของมีคม ปืน ยาฆ่าแมลง และยาอันตรายต่างๆ ที่สามารถใช้ฆ่าตัวตายได้

เปิดวิธีสังเกตอาการป่วย "โรคซึมเศร้า" ปัญหาที่คนทั่วโลกเผชิญหน้า

logoline