svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กทม. เตรียม CI พร้อมรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษา

14 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กทม. เตรียม CI พร้อมรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษา ชวนลงทะเบียนรับวัคซีนผ่านแอปพลิเคชัน "QueQ" ระลอกนี้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกคนจะสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็วขึ้น

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย แถลงข่าวออนไลน์ ถึงการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

 

กทม. ฉีดวัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 เกิน 100% ประชาชนลงทะเบียนรับวัคซีนได้ทางแอปฯ "QueQ" โฆษกของกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันว่า วานนี้ (13 ม.ค. 65) ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 790 ราย เป็นคนไทย 747 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 447,098 ราย จากสถิติวันที่ 1-12 ม.ค. 65 เวลา 16.00 น. ผู้ป่วยโควิด-19 เข้าสู่ระบบ HI จำนวน 1,021 ราย และเข้าสู่ระบบ CI จำนวน 41 ราย

 

 

กทม. เตรียม CI พร้อมรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษา

 

จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 9,289,883 ราย คิดเป็น 120.66% ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 8,594,291 ราย คิดเป็น 111.63% รวมถึงได้เร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง

 

โดยกรุงเทพมหานครได้ขยายจุดให้บริการฉีดวัคซีนกับประชาชนเพิ่มขึ้นซึ่งนอกจากโรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 11 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งแล้ว กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับสถานพยาบาลของภาครัฐ สถานพยาบาลเอกชน และหน่วยงานต่างๆ ในการขยายจุดให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนครอบคลุมพื้นที่และสะดวกต่อการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนมากที่สุด

 

ปัจจุบันมีมากกว่า 100 แห่งทั่วพื้นที่ 50 เขต ซึ่งประชาชนสามารถลงทะเบียนขอรับวัคซีนได้ทั้งเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้น ได้ทางแอปพลิเคชัน QueQ โดยการให้บริการวัคซีนนั้นจะเป็นไปตามสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ตรวจเชิงรุกคัดกรองหาผู้ติดเชื้อในสถานที่เสี่ยงเข้าสู่ระบบการรักษาต่อเนื่อง นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังได้เร่งตรวจหาและคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกคนเข้าสู่ระบบการรักษาให้เร็วที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK ในสถานที่เสี่ยงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ ตลาด แคมป์คนงาน สถานประกอบการที่มีความเสี่ยง เป็นต้น

 

โดยตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 64 ถึงวันที่ 12 ม.ค. 65 มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ด้วยชุดตรวจ ATK ทั้งหมด 678,845 ราย พบผู้ติดเชื้อ 58,979 ราย คิดเป็น 8.69% สำหรับวันที่ 12 ม.ค. 65 มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกใน 20 แห่ง ตรวจ ATK จำนวน 2,481 ราย พบติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 46 ราย คิดเป็น 1.85% ซึ่งเป็นจำนวนไม่สูงมาก

 

 

กทม. เตรียม CI พร้อมรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษา

 

แต่กรุงเทพมหานครไม่ได้นิ่งนอนใจได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วจากเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน (OMICRON) ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เตรียมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อจำนวน 41 แห่งพร้อมเปิดให้บริการหากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน (OMICRON) จะมีอาการไม่รุนแรง ในเบื้องต้นจึงได้เน้นให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการไม่รุนแรงแยกกักหรือพักรักษาอาการที่บ้าน (HI)

 

กทม. เตรียม CI พร้อมรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษา

ตรวจ ATK พบติดโควิด-19 โทร. 1330 ได้ 24 ชั่วโมง หากฉุกเฉินแจ้งศูนย์เอราวัน โทร. 1669 ทั้งนี้ หากประชาชนตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเองจากชุดตรวจ ATK แล้วพบว่าผลการตรวจออกมาเป็นบวกติดเชื้อให้ติดต่อสายด่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โทร. 1330 กด 14 หรือไลน์ @สปสช ตลอด 24 ชั่วโมง

 

กรณีฉุกเฉินสามารถแจ้งได้สายด่วนศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร โทร. 1669 กด 2 ซึ่งหลังจากเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจะทำการประเมินอาการหากไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยจะให้ผู้ติดเชื้อทำ Home Isolation (HI) แยกกักและพักรักษาตัวที่บ้าน โดยเจ้าหน้าที่จะจัดส่งสิ่งของ อุปกรณ์จำเป็น และเวชภัณฑ์ ภายใน 24 ชั่วโมง รวมถึงมีตรวจประเมินสุขภาพด้วย Telemonitor ทุกวัน อาทิ วัดอุณหภูมิร่างกาย (Thermometer) วัดความดัน (Blood Pressure) วัดระดับออกซิเจนในเลือด (Pulse Oximeter)

 

กทม. เตรียม CI พร้อมรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษา

 

 

ซึ่งหากผู้ติดเชื้อไม่สามารถทำ HI ได้ เจ้าหน้าที่ก็จะนำเข้าสู่ระบบการรักษาที่ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation : CI) ที่ภาครัฐจัดไว้สำหรับดูแลรักษาผู้ป่วยในชุมชน หากผู้ป่วยโควิด-19 อาการดีขึ้นก็กลับบ้านได้ แต่หากอาการรุนแรงหรือหนักขึ้นก็จะส่งต่อการรักษาไปยัง Hospital โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลัก ตามอาการต่อไป

 

ส่วนผู้ที่ได้รับการประเมินอาการแล้วมีอาการปานกลางหรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีอาการหนักขึ้น ไม่สามารถทำ HI หรือ CI ได้ เจ้าหน้าที่ก็จะส่งเข้าระบบการรักษา Hospital โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลัก ตามอาการให้เร็วที่สุดเบื้องต้นกำหนดไว้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง

 

เตรียมพร้อม CI 41 แห่ง เตียงรองรับผู้ติดเชื้อ 5,116 ราย สำหรับศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation) ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 41 แห่ง มีเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 5,116 เตียง เปิดให้บริการ 25 แห่ง รวม 3,304 เตียง อยู่ระหว่างดำเนินการเปิดให้บริการ 16 แห่ง รวม 1,812 เตียง

 

 

กทม. เตรียม CI พร้อมรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษา

 

ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 12 ม.ค. 65) มีผู้ครองเตียง 239 ราย คงเหลือ 4,877 เตียง นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลสนามประจำกลุ่มเขต (District Field Hospital) จำนวน 8 แห่ง รวม 1,660 เตียง เปิดให้บริการ 3 แห่ง รวม 640 เตียง Standby mode พร้อมเปิดบริการ 5 แห่ง รวม 1,020 เตียง ครองเตียง 179 ราย คงเหลือ 1,481 เตียง

 

พร้อมกันนี้กรุงเทพมหานครได้มีการประสานความร่วมมือกับสถานพยาบาลทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานต่างๆ ในการเตรียมพร้อมเตียงสำหรับรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 กรณีที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 2-3 หมื่นเตียง

 

 

ซึ่งคาดว่าในการระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกนี้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกคนจะสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็วขึ้น และมีเตียงรองรับผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้าสู่ระบบการรักษาตามอาการในสถานพยาบาลต่างๆ ได้อย่างเพียงพอ

logoline