จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากแต่ความรุนแรงของโรคมีอาการน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา ระบบ Home Isolation หรือ การรักษาตัวอยู่ที่บ้าน จึงถูกยกระดับความสำคัญให้เป็นระบบทางเลือกหลักในการดูแลผู้ป่วย เพื่อลดภาระหนักให้กับโรงพยาบาล มีเตียงเพียงพอสำหรับรองรับป่วยอาการรุนแรง ช่วยให้ระบบสารธารณสุข และเศรษฐกิจเดินควบคู่ไปด้วยกันได้
ทั้งนี้ผู้ป่วยที่เข้าระบบ Home Isolation จะได้รับการดูแลอย่างดีทั้งเรื่องการได้รับคำปรึกษาติดตามอาการ การจ่ายยานำส่งถึงบ้าน และจะได้รับจัดส่งอาหารครบ 3 มื้อ
หากได้กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อผู้ติดเชื้อที่รักษาในระบบ Home Isolation ได้โพสต์ภาพอาหารที่มีเพียงข้าวเปล่า ทอดมัน 1 ชิ้น น้ำแกง 1 ถุง ลงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทวิตเตอร์ ผู้ใช้บัญชีชื่อ @Plobjai จนกลายเป็นประเด็นร้อน มีประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น ถามหางบประมาณที่ถูกจัดสรรมาสำหรับทำอาหารให้ผู้ป่วย
ขณะที่ นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ได้ออกมาเคลื่อนไหว เปิดเผยเบื้องลึกเบื้องหลังของการจัดจ้างการทำข้าวกล่องสำหรับผู้ป่วยที่เข้าระบบ Home Isolation
นายกสมาคมภัตตาคารไทย ได้เปิดเผยกับ “เนชั่นออนไลน์” ถึงงบประมาณที่ทางสมาคมภัตตาคารไทยเคยได้รับ เมื่อเป็นผู้รับทำข้าวกล่องสำหรับผู้ป่วยที่เข้าระบบ Home Isolation เมื่อเดือน ก.ค.- ก.ย. 2564 เฉพาะใน 50 เขต กทม. เป็นงบประมาณ 102 ล้านบาท
โดยได้จัดสรรเป็นค่าอาหารเฉลี่ยมื้อละ 100 บาท 3 มื้อต่อวัน และรวมค่าจัดส่งเป็น 380 บาท/คน/วัน
ล่าสุด นายกสมาคมภัตตาคารไทย ได้รับการติดต่อจากบริษัทหนึ่ง ที่รับงานจากหน่วยงานของรัฐ ติดต่อมาให้ทำข้าวกล่อง
โดยราคาค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 48 บาท/กล่อง ทั้งนี้จากการได้รับข้อมูลมาจาก สปสช. ทราบว่า จากต้นน้ำ ได้ให้ค่าอาหาร 400 บาท/วัน/คน
ทั้งนี้ นางฐนิวรรณ ได้เผยแพร่ข้อมูลในเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อให้สาธารณชนรับรู้ มีข้อความบางส่วนที่แสดงถึงลับลมคมในการจัดจ้างการทำข้าวกล่อง ดังนี้
ที่ผ่านมาไม่แน่ใจว่าทราบกันมั้ย ว่าร้านอาหารที่ถูกว่าจ้างให้ทำข้าวกล่องผู้ป่วย ถูกกดราคา 40 บาทกว่า ๆ ต่อมื้อ จากงบที่สปสช.ให้มา 400 บาทต่อวัน โดนเครดิตเทอมอีก 15-30 วัน
แทบไม่ต้องนึกถึงคุณภาพอาหารเลยว่าจะเป็นอย่างไร ต่อให้จะมีการกำหนดมาตรฐาน SOP อย่างไร ร้านก็ต้องหาทางลดต้นทุนเพื่อให้อยู่ได้ แถมไม่พอร้านยังต้องทำอาหารกันตั้งแต่ตี 2 ตี 3 เพื่อที่จะต้องส่งให้ทันกำหนดก่อนตี 5 อาหารถึงมือผู้ป่วยตอน 9 โมงอย่างเร็ว shelf life อาหารจะเป็นอย่างไร
งานนี้ยืนยันเลยว่า สมาคมฯ หรือตัวดิฉันเองไม่ได้อะไร และไม่ได้หวังจะเอาผลประโยชน์อะไรจากงานนี้(หักหัวคิว) ต้องการเพียงให้คนร้านอาหารได้ความเป็นธรรมจากราคาอาหารที่เหมาะสมต่องบประมาณและให้ผู้ป่วยได้อาหารคุณภาพดี ปรุงสดใหม่สำคัญเลยคือ อยากให้คนป่วยสีเขียวมั่นใจในระบบนี้เพื่อที่ประเทศจะได้ไม่ต้องกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์
ทั้งนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เปิดตัวเลข โอนค่าบริการกรณีโควิด-19 เดือน ต.ค.-พ.ย. 2564 จำนวน 2.1 หมื่นล้านบาท ให้หน่วยบริการที่ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ทั้งบริการคัดกรอง รักษาพยาบาล บริการระบบดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน/ชุมชน และ UCEP COVID-19 (เจ็บป่วยฉุกเฉิน/โควิด)
จากการเปิดเผยของ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ในฐานะเลขาธิการ สปสช. ได้ดำเนินการลงนามเพื่ออนุมัติโอนค่าบริการฯ สำหรับเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2564 แล้วให้กับหน่วยบริการแล้วรวมจำนวน รวม 21,203,336,431.67 บาท
ในจำนวนนี้เป็นค่าบริการตรวจคัดกรองและรักษาพยาบาลจำนวน 17,401,609,557.07 บาท ค่าบริการระบบดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านและในชุมชน (Home Isolation/ Community Isolation : HI/CI) จำนวน 31,640,000 บาท และค่าบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตโรคโควิด-19 (UCEP COVID - 19) จำนวนเงิน 3,770,086,874.60 บาท
บทสรุปของเรื่องนี้ เมื่อรัฐขอความร่วมมือกับผู้ป่วยให้เข้าระบบการรักษาแบบ Home Isolation/ Community Isolation ประชาชนต้องมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย ได้รับคำปรึกษา ได้รับยา ได้รับอาหารที่จะช่วยให้สุขภาพกาย รวมถึงสุขภาพจิต ฟื้นฟูจากอาหารเจ็บป่วย
ทั้งนี้ในส่วนของงบประมาณค่าอาหารนั้น เป็นส่วนหนึ่งในงบประมาณของการบริการระบบดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านและในชุมชน (Home Isolation/ Community Isolation : HI/CI) จำนวน 31,640,000 บาท หากแต่จะถูกจัดสรรปันส่วนอย่างไรนั้น ประชาชนไม่สามารถคาดเดาได้จากสภาพ และปริมาณอาหารในกล่องได้เลย