svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

Exclusive : ดร.มานะ ชี้ e-bidding เสี่ยงเกิดคอร์รัปชันภาครัฐ

13 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เปิดเผยกับเนชั่นออนไลน์ว่า e-bidding มีความผิดปรกติที่ส่อถึง “ความเสี่ยงที่จะเกิดการคอร์รัปชัน” แม้มีการตรวจพบแต่หน่วยงานรัฐมักอ้าง “จัดซื้อถูกระเบียบ เป็นไปตามขั้นตอน”

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์พิเศษ เนชั่น ออนไลน์ กรณีการทุจริตในรัฐบาลปราบโกง ห้วง 7 ปี พบว่า วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) นั้น เมื่อนำโปรแกรม ACT Ai เว็บไซต์ที่ประชาชน นักข่าว หรือนักวิชาการ สามารถเปิดค้นหาตรวจจับความผิดปกติได้ว่า มีการจัดซื้อจัดจ้างที่ไหนบ้าง กระทรวงต่างๆ กำลังซื้ออะไรอยู่สามารถเข้าไปดูง่ายๆ เหมือนกับดู Google เป็นการรวบรวมข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐทั้งหมดอย่างเป็นทางการ 

 

ข้อมูลจาก ACT Ai เผยให้เห็นความผิดปรกติในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐกว่า 8 หมื่นโครงการที่ซุกซ่อนอยู่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกฝ่ายรู้แต่ (ดูเหมือนจะ) ทำอะไรไม่ได้ 
 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมในรายการสืบสวนความจริง วันเสาร์ที่ 15 มกราคม 2565 เวลา 10.10 น. ทางช่องเนชั่น ทีวี 22

10 อันดับหน่วยงานเสี่ยงที่จะเกิดการคอร์รัปชัน

 

สำหรับ 10 หน่วยงานที่มีการจัดซื้อฯ แล้วมีความผิดปรกติที่ส่อถึง “ความเสี่ยงที่จะเกิดการคอร์รัปชัน” มากที่สุด และคำอ้างที่ว่า “จัดซื้อถูกระเบียบ เป็นไปตามขั้นตอน” จริงหรือไม่
 
10 อันดับหน่วยงานที่มีโครงการจัดซื้อน่าจับตามอง..
1. กรมชลประทาน         พบ   6,197    โครงการ 
2. กรมการปกครอง        พบ   2,513    โครงการ 
3. กรุงเทพมหานคร       พบ   2,111    โครงการ 
4. กรมทางหลวงชนบท  พบ   1,966    โครงการ 
5. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ   พบ   1,503    โครงการ 
6. กรมทางหลวง            พบ   1,020    โครงการ 
7. การประปาส่วนภูมิภาค  พบ    993   โครงการ 
8. การประปานครหลวง  พบ       949   โครงการ 
9. กรมทรัพยากรน้ำ       พบ       828   โครงการ 
10. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  พบ   725   โครงการ 

สำหรับ ACT Ai รวบรวมข้อมูลจากระบบ e-GP ของกรมบัญชีกลาง ในการตรวจจับความผิดปรกติ ระบบจะแสดงเครื่องหมายแจ้งเตือนสีเหลือง ⚠️ เมื่อโครงการนั้นๆ ส่อให้เห็นความเสี่ยงที่ผิดปกติในการเสนอราคา (ไม่ใช่การตัดสินว่าเกิดแล้ว) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด 

 

เช่น มีผู้ซื้อซองจำนวนมากแต่เข้าเสนอราคาน้อยราย มีการเกาะกลุ่มเสนอราคาที่ใกล้เคียงกันหรือเท่ากัน มีผู้ที่ชนะการประมูลเพียงรายเดียวที่เสนอราคาต่ำสุด บริษัทที่ได้งานเสนอราคาเท่าราคากลางหรือต่ำกว่าเพียง 0 - 1% ในขณะที่รายอื่นๆ เกาะกลุ่มเสนอสูงกว่าราคากลาง เป็นต้น 

 

การประเมินนี้รวมถึงกรณีที่เรียกกันทั่วไปว่า “ฮั้วแตก” และ “ฟันราคา” เพื่อให้ได้งาน ที่จะมีราคาประมูลต่ำผิดปรกติ 20 – 70% กรณีเช่นนี้หน่วยงานอาจได้รับผลดีคือ จ่ายเงินน้อย ต้นทุนต่ำ หรืออาจเกิดผลเสียเพราะคู่สัญญาอาจส่งมอบงานไม่ได้ เนื่องจากราคาต่ำเกินจริงมาก

 

ยังมีพฤติกรรมแวดล้อมอีกมากที่ต้องอาศัยการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม เช่น มีการหมุนเวียนกันยื่นประมูลงานในหลายโครงการโดยผลัดกันเป็นผู้ยื่นราคาต่ำสุด (ผู้ชนะ) หรือราคาสูงกว่า (คู่เทียบ) ผู้ยื่นประมูลหลายรายใช้เอกสารเงินค้ำประกันซองจากแหล่งเดียวกันหรือใช้หลักทรัพย์เดียวกัน ผู้ยื่นประมูลหลายรายใช้ที่อยู่หรือสถานที่ติดต่อที่เดียวกัน เป็นต้น

logoline