svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

“ไวรัสโอมิครอน” ฉุดเศรษฐกิจไทย-กระทบเศรษฐกิจโลก

12 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

EIC เผยผลวิเคราะห์การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ส่งผลกระทบต่อการพื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและโลก ในไตรมาสแรกปี 2565 ภาคการท่องเที่ยวบาดเจ็บหนัก

ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ได้แพร่ระบาดไปยังหลายพื้นที่ทั่วโลก ล่าสุดในช่วงต้นเดือนมกราคม 2565 จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19  ของโลก เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ประมาณ 3 ล้านรายต่อวัน และค่าเฉลี่ย 7 วันย้อนหลังก็ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 2.2 ล้านราย ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้อใหม่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา ช่วงเดือนเมษายน-ตุลาคม 2021 ที่ประมาณ 600,000-800,000 รายต่อวัน

 

สำหรับประเทศไทย การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ยกระดับความรุนแรงของสถานการณ์และแจ้งเตือนภัยเป็นระดับ 4 การเตือนภัยระดับเกือบสูงสุดแล้ว

 

ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด รายวัน ล่าสุด ณ วันที่ 12 มกราคม มีผู้ติดเชื้อรายใหม่  7,618 ราย ขณะที่ปัจจุบันไทยพบผู้ติดเชื้อโอมิครอน ยืนยันแล้วกระจายตัวอยู่ใน 71 จังหวัดทั่วประเทศ

 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (Economic Intelligence Center: EIC) ได้วิเคราะห์ผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโอมิครอน ต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

โอมิครอน - กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

 

การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน เพิ่มความเสี่ยงด้านต่ำให้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ผ่าน 5 ช่องทาง ได้แก่

 

1) มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับชะลอตัวลง

 

2) การบริโภคภาคเอกชนอาจชะลอลงจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง

 

3) ปัญหาห่วงโซ่อุปทานขาดตอนทั้งในภาคสินค้าและแรงงาน อาจยืดเยื้อและทวีความรุนแรงขึ้น

 

4) บางธนาคารกลางอาจเร่งสิ้นสุดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเร็วกว่าที่คาดไว้เดิม จากข้อกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเร็ว

 

 5) นักลงทุนมีแนวโน้มปิดรับความเสี่ยง (Risk-off) และเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ทำให้ค่าเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่อาจอ่อนค่าลงในระยะสั้น

 

 

“ไวรัสโอมิครอน” ฉุดเศรษฐกิจไทย-กระทบเศรษฐกิจโลก

 

 

 

ทั้งนี้กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets: EMs) มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดมากกว่า จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

 

(1) อัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ทำให้ภาครัฐอาจต้องพึ่งพามาตรการควบคุมการเดินทางและจำกัดการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคบริการมากกว่าในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูง ทำให้การควบคุมอาจเข้มงวดน้อยกว่า

 

(2) สัดส่วนการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูงกว่า ซึ่งภาคท่องเที่ยวมีความอ่อนไหวต่อการแพร่ระบาดที่สูง 

 

(3) พื้นที่ในการดำเนินนโยบายการคลัง (Policy space) เพื่อสนับสนุนการหยุดชะงักของเศรษฐกิจมีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงต้นทุนในการดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลังที่สูงกว่า เนื่องจากหลายประเทศต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนภายนอกซึ่งดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น

 

 

 

 

 

“ไวรัสโอมิครอน” ฉุดเศรษฐกิจไทย-กระทบเศรษฐกิจโลก

 

 

 

EIC ประเมินว่า การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 1 ของปีนี้ มีแนวโน้มชะลอลงจากที่คาดไว้เดิม แต่สถานการณ์การระบาดจะเริ่มคลี่คลาย และเศรษฐกิจโลกจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป หลังมีการระดมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (booster) ในจำนวนที่มากเพียงพอต่อประชากร และเริ่มแจกจ่ายวัคซีนสูตรใหม่ที่จะควบคุมการระบาดได้

 

EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกทั้งปี 2022 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงราว 0.3-0.4% เทียบกับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโอมิครอน ทำให้ในปี 2022 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวราว 4.1%

 

 

โดยเศรษฐกิจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets: EMs) มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดมากกว่า เนื่องจากมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก สัดส่วนการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวที่สูง และความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่มีอยู่อย่างจำกัด

 

 

 

“ไวรัสโอมิครอน” ฉุดเศรษฐกิจไทย-กระทบเศรษฐกิจโลก

 

 

สำหรับผลกระทบต่อเงินเฟ้อโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยอัตราเงินเฟ้อของภาคบริการและสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภทมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากอุปสงค์จากการใช้จ่ายภายนอกบ้านที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของสินค้าคงทนอาจปรับเพิ่มสูงขึ้น จากอุปทานที่ลดลงและต้นทุนค่าขนส่งที่อาจปรับเพิ่มขึ้นตามปัญหาอุปทานคอขวดที่อาจรุนแรงขึ้น

 

นอกจากนี้ ความกังวลต่อการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ อาจเพิ่มแรงกดดันต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่อยู่ในภาวะตึงตัวอยู่แล้วในปัจจุบัน ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานอาจอยู่ในระดับสูง

 

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มมีแนวโน้มชะลอลงเป็นลำดับ จากการคลี่คลายของปัญหาด้านอุปทาน ประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่จะทยอยตึงตัวขึ้นในปีนี้ ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ

 

 

“ไวรัสโอมิครอน” ฉุดเศรษฐกิจไทย-กระทบเศรษฐกิจโลก

 

 

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน เป็นความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังเปิดประเทศ โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้ โดยคาดว่าจะกระทบผ่านช่องทางภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกเป็นหลัก

 

โดย EIC ปรับลดประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2022 ลงเหลือ 5.9 ล้านคน (จาก 7.7 ล้านคน) และปรับลดการขยายตัวมูลค่าการส่งออกไทยในปี 2022 ลงเหลือ 3.4% (จาก 4.7%) ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2022 จะขยายตัวเพียง 3.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 3.4%

 

EIC  ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2022 เหลือขยายตัวเพียง 3.2% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.4% จากนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มลดลงจากคาดการณ์เดิมในไตรมาสแรก การส่งออกที่อาจปรับชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก และการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศซึ่งรวมถึงการบริโภคและการลงทุนที่อาจชะลอลง

 

 

อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ยังมีอยู่สูง โดยปัจจัยที่ต้องจับตามองอันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ได้แก่

1) ระดับการระบาดและความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์ Omicron

2) การดำเนินมาตรการของรัฐ

 

เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด สำหรับผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อไทยจะมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอทำให้ผู้ผลิตยังไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคได้มากนัก

 

 

“ไวรัสโอมิครอน” ฉุดเศรษฐกิจไทย-กระทบเศรษฐกิจโลก

 

 

ผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล

ในห้วงเวลาที่ยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนทั่วโลก นักลงทุนอาจต้องการเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ (อายุ 10 ปี) อาจปรับลดลงตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในบางช่วง ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศอื่น ๆ รวมถึงไทยเช่นกัน

 

อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดปรับดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวจะมีแนวโน้มกลับมาสูงขึ้น ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลาดแรงงานที่ตึงตัวขึ้น และแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวที่มีความสัมพันธ์ค่อนข้างสูงกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวนั้น คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นหลังสถานการณ์การระบาดดีขึ้นเช่นกัน

 

 

“ไวรัสโอมิครอน” ฉุดเศรษฐกิจไทย-กระทบเศรษฐกิจโลก

 

 

ตลาดการเงินไทย

พบว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลออกจากตลาดทุนไทยในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มมีแนวโน้มรุนแรงและมีรายงานข่าวการติดเชื้อในประเทศไทย ทั้งนี้ปริมาณเงินที่ไหลออกจะไม่รุนแรงนักเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่อื่น เนื่องจากไทยยังมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง

 

สำหรับค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2022 EIC มองว่ามีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยตามการขาดดุลของบัญชีเดินสะพัดที่ลดลง และการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจไทย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

logoline