ทีมศัลยแพทย์ของมหาวิทยาลัยศูนย์การแพทย์รัฐแมรีแลนด์ของสหรัฐฯ ได้ปลูกถ่าย หัวใจหมู ให้นายเดวิด เบนเน็ตต์ วัย 57 ปี เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มกราคม และร่างกายฟื้นตัวได้ดี ทำให้เขาเป็นมนุษย์คนแรกของโลกที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์ ซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้ายหลังจากนายเบนเบเน็ตต์กำลังจะเสียชีวิต และไม่มีสิทธิ์ได้รับบริจาคอวัยวะจากมนุษย์เนื่องจากมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ซึ่งหลังการผ่าตัดนาน 9 ชั่วโมง และผ่านมา 4 วัน ก็พบว่า เขาฟื้นตัวได้ดี หายใจได้เอง แต่ยังต้องใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงหัวใจ ที่เรียกว่า ECMO (เอคโม่) เพื่อช่วยสูบฉีดโลหิตไปทั่วร่างกาย ซึ่งแพทย์หวังว่าจะค่อยหยุดการใช้งานของเครื่องได้ในที่สุด
แม้ทีมแพทย์ก็บอกว่ายังเร็วเกินไปที่จะรู้ว่าการผ่าตัดครั้งนี้ได้ผลจริงหรือไม่ แต่ก็ถือเป็นย่างก้าวที่สำคัญของภารกิจอันยาวนานของความคิดที่จะใช้ช่วยชีวิตมนุษย์ โดยใช้อวัยวะของสัตว์ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมผ่านการปลูกถ่าย และสามารถทำงานในร่างกายมนุษย์ได้โดยไม่ถูกปฏิเสธ ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนอวัยวะบริจาคที่เรื้อรังมานาน
ลูกชายของเบนเน็ตต์บอกว่าพ่อของเขาทราบดีว่า ไม่มีหลักประกันว่าการผ่าตัดที่เปรียบเสมือนการทดลองนี้จะได้ผล แต่เขากำลังจะตายและไม่มีสิทธิ์ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจจากมนุษย์ทำให้ไม่มีทางเลือก แถลงการณ์ของเขาที่เผยแพร่โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ระบุว่า
"ผมต้องเลือกระหว่างการตายกับการผ่าตัดปลูกถ่ายแบบนี้ ผมต้องการมีชีวิตอยู่ถึงมันจะเหมือนยิงปืนเข้าไปในความมืด แต่มันก็เป็นทางเลือกสุดท้ายของผม"
เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา เบนเน็ตต์ต้องนอนติดเตียงและต้องใช้เครื่อง "หัวใจเทียม" (Cardiopulmonary bypass) หรือ CPB ซึ่งเขาบอกว่า "ผมหวังว่าจะลุกจากเตียงได้เสียที หลังจากอาการดีขึ้น" แต่แพทย์ก็ยังต้องสังเกตอาการเขาไปอีกสองสามสัปดาห์ เพื่อดูว่าการทำงานของหัวใจปกติดีหรือไม่ ขณะที่ ดร.บาร์ทลีย์ กริฟฟิธ ผู้อำนวยการโครงการปลูกถ่ายหัวใจของศูนย์การแพทย์ฯ ที่นำการผ่าตัดบอกว่า "มันทำให้ชีพจรเต้น มันทำให้เกิดความดันโลหิต มันคือหัวใจของเขา"