svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ศบค. เผย พบคลัสเตอร์ส่วนใหญ่ร้านอาหาร-สถานบันเทิง คาดสิ้นม.ค.เกิน 2 หมื่น

10 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศบค. เผย พบคลัสเตอร์หลายจังหวัดจากร้านอาหาร-สถานบันเทิง นำไปแพร่ในครอบครัวและชุมชน คาดสิ้นเดือน ม.ค.ติดเชื้อเกิน 2 หมื่น และก.พ.อาจแตะ 3 หมื่น

10 มกราคม 2565 แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงที่ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ประจำวันที่ 10 มกราคม ว่า สถานการณ์ โควิด-19 ทั่วโลก พบว่ามีรายงานการติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1,852,185 ราย ผู้เสียชีวิต 3,306 ราย  ซึ่งอัตราการเสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง ซึ่งประเทศที่ติดเชื้อมากที่สุดยังเป็น สหรัฐอเมริกา รายงานอยู่ที่ 308,616 ราย โดยประเทศไทยรายงานผู้ติดเชื้ออยู่ในลำดับที่ 25 ของโลก โดยในวันนี้จะเริ่มรายงานสถานการณ์ โควิด-19 เป็นระลอกเดือนมกราคม 2565 ทั้งนี้หากนับการติดเชื้อเป็นระลอกมีหลายแบบ หากนับการติดเชื้อจะถือว่าเป็นระลอกที่ 5 แต่หากนับตามจำนวนผู้ติดเชื้อ ยอดเพิ่มขึ้นแต่ละครั้งจะเป็นระลอกที่4

ศบค. เผย พบคลัสเตอร์ส่วนใหญ่ร้านอาหาร-สถานบันเทิง คาดสิ้นม.ค.เกิน 2 หมื่น

สำหรับรายงานผู้ติดเชื้อในระลอกเดือนมกราคม 2565 (1-10 มกราคม) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,926 ราย ติดเชื้อในประเทศ 7,319 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 412 ราย ติดเชื้อจากเรือนจำที่ต้องขัง 195 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 54,041 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,277,476 ราย หายป่วยแล้ววันนี้ 3,612 ราย หายป่วยสะสม 28,985 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 13 ราย เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 63 รวม 21,838 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 58,159 ราย ในโรงพยาบาล 33,286 ราย โรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 24,873 ราย อาการหนัก 495 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 115 ราย

 

ผู้รับวัคซีนฉีดแล้ว 106,475,122 โดส เข็มที่หนึ่งเพิ่มขึ้น 12,766 ราย สะสม 51,514,791 ราย เข็มที่สองเพิ่มขึ้น 32,977 ราย สะสม 46,853,598 ราย เข็มที่สามเพิ่มขึ้น 93,142 ราย สะสม 8,106,733 ราย

ศบค. เผย พบคลัสเตอร์ส่วนใหญ่ร้านอาหาร-สถานบันเทิง คาดสิ้นม.ค.เกิน 2 หมื่น

ศบค. เผย พบคลัสเตอร์ส่วนใหญ่ร้านอาหาร-สถานบันเทิง คาดสิ้นม.ค.เกิน 2 หมื่น

ผู้ป่วยเสียชีวิต จำนวน 13 ราย เป็นจังหวัดนครปฐม 2 ราย เลย 1 ราย พิษณุโลก ลำปาง อุตรดิตถ์ รวม 3  ราย ยะลา สตูล รวม 3 ราย ชลบุรี กาญจนบุรี ตราด รวม 4 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 10 ราย คิดเป็น 77% อายุน้อยกว่า 60 ปีมีโรคเรื้อรัง 3 ราย คิดเป็น 23% โดยมี 10 ราย ใน 13 ราย ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบโดส ในส่วนยอด ATK วันที่ 9 มกราคม 2565 จำนวน 52,329 ราย ยอดตรวจผลบวก ATK วันที่ 9 มกราคมจำนวน 1,262 ราย และยอดผลบวกสะสม วันที่ 20 สิงหาคม 2564 ถึงวันที่ 9 มกราคม 2565 จำนวน 301,336 ราย

 

สำหรับรายงานผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศวันนี้ 412 ราย 61% เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบ Test & Go 36% เป็นระบบแซนด์บ็อกซ์ และ 3% เป็นกลุ่มที่มาจากการกักตัว จากการวิเคราะห์จะเห็นว่าคนที่เดินทางเข้ามามีจำนวนลดลง แต่สัดส่วนการติดเชื้อมีทิศทางแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกวัน ค่าเฉลี่ยของอายุจำนวนผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้ามาในวันนี้มีอายุหว่าง 30-39 ปี พบการติดเชื้อในการตรวจแบบ RT-PCR วันที่ 4-7 แบบ Test & Go อยู่ที่ 46.8% และแซนด์บ็อกซ์ อยู่ที่ 55.4% ส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้เป็นชาวต่างชาติถึง 376 คนคิดเป็น 91.26% กระจายอยู่ตามจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว มากที่สุดอยู่ที่ภูเก็ต 299 คน สุราษฎร์ธานี 32 คน

 

ในวันนี้เป็นไปตามการคาดการณ์เฝ้าระวังคลัสเตอร์ ที่เกิดขึ้นในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ มีการรายงานเข้ามาเป็นระยะๆ พบได้ในหลายจังหวัด เช่น คลัสเตอร์สถานบันเทิง ขอนแก่น บุรีรัมย์ พะเยา นนทบุรี ชลบุรี นครราชสีมา นครปฐม น่าน ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ซึ่งคลัสเตอร์ในร้านอาหารแต่ละจังหวัดเหล่านี้ มีลักษณะคล้ายกันคือ เป็นร้านอาหารกึ่งสถานบันเทิง ยังไม่ได้มีการดำเนินงานภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย อย่างที่เคยได้แจ้งไว้ทำให้มีโอกาสเพิ่มการแพร่ระบาดของเชื้อมากขึ้น และที่สำคัญสามารถแพร่เชื้อเข้าไปได้ในระดับชุมชน ครอบครัว จึงต้องทำให้มีการเฝ้าระวังและควบคุมใกล้ชิดมากขึ้น

นอกจากนี้มีการรับรายงานคลัสเตอร์ปีใหม่ จากหลายจังหวัด จากงานสังสรรค์ งานเลี้ยงปีใหม่ เป็นไปตามคาดการณ์ พบที่อุบลราชธานี 33 ราย ขอนแก่น 25 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 22 ราย นครศรีธรรมราช 13 ราย ราชบุรี 8 ราย ลพบุรี 7 ราย พะเยา 6 ราย น่าน 8 ราย อำนาจเจริญ  5 ราย ชลบุรี 5 ราย ยโสธร 6 ราย และ มหาสารคาม 4 ราย และคลัสเตอร์งานเลี้ยงวันเกิด ที่จังหวัดจันทบุรี

 

ปัจจัยสำคัญในการมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อ คือดื่มกินในสถานที่ที่มีคนหนาแน่นจำนวนมาก อากาศไหลเวียนไม่ดี ทั้งนี้หากมีการดื่มสุราและมีการพูดคุยกันเสียงดัง ส่วนใหญ่ใช้เวลายาวนาน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว

 

ดังนั้นในช่วงปีใหม่เป็นต้นมาทั้งคลัสเตอร์ ร้านอาหาร เลี้ยงฉลองปีใหม่เป็นไปด้วยกัน หากพบว่ามีการติดเชื้อแล้ว ควรรีบแยกตัวออกจากผู้อื่น และเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้รีบแยกตัวเองและสังเกตว่ามีอาการทางเดินหายใจหรือไม่ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยตัวหรือไม่ สำหรับโอมิครอน อาการไข้จะไม่มากเท่ากับติดสายพันธุ์เดลตา ดังนั้นหากมีอาการทางเดินหายใจแม้ไม่มีไข้และได้เดินทางไปในสถานที่เสี่ยงต้องรีบตรวจเช็คด้วย ATK  และหากมีผลเป็นบวกอันดับแรก คือต้องเข้าสู่ระบบการแยกกักรักษาที่บ้าน หรือเข้าสู่การรักษาในชุมชน

 

สำหรับการคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด ซึ่งขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีรายงานประจำวันตามสถานการณ์จริง ซึ่งต่อไปตามระดับเส้นกราฟสีเทาไปเรื่อยๆ ( พบการระบาดของเชื้อ โควิด-19 และฉีดวัคซีนใกล้เคียงช่วงธันวาคม 2564 ประชาชนส่วนใหญ่ย่อหย่อนต่อการปฎิบัติตาม UP) คาดว่าช่วงปลายเดือนมกราคมอาจจะมีผู้ติดเชื้ออยู่ระดับ 20,000 กว่าราย และหากเป็นไปตามนี้ในช่วงเดือนปลายเดือนกุมภาพันธุ์ ผู้ติดเชื้ออาจจะขึ้นไปแตะที่ 30,000 กว่าราย ส่วนการคาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตเป็นไปในแนวเดียวกันกลับสถานการณ์โลก คือ อัตราการเสียชีวิตของบ้านเราซึ่งเป็นสถานการณ์จริงที่รายงานรายวันไต่ต่ำกว่าเส้นสีเขียว ( ฉากทัศน์ ผลจากโอกาสติดเชื้อเพิ่มปานกลาง เร่งฉีดวัคซีนในทุกกลุ่มได้เร็วขึ้น และทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการ VUCA อย่างเคร่งครัด)

ศบค. เผย พบคลัสเตอร์ส่วนใหญ่ร้านอาหาร-สถานบันเทิง คาดสิ้นม.ค.เกิน 2 หมื่น

แต่จากการที่มีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นในระลอกเดือนมกราคม 2565 ทางศบค. และกระทรวงสาธารณสุขได้มีการเตรียมการยกระดับการจัดการไว้แล้ว ซึ่งจะต่างจากการระบาดหนักในช่วงรอบเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา โดยในขณะนั้นประชาชนคนไทยยังได้รับวัคซีนไม่ครอบคลุม กลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุผู้มีโรคประจำตัวมีจำนวนมาก และช่วงนั้นเราเพิ่งทำระบบการรักษาที่บ้านและการดูแลในชุมชน โดยตอนนี้ มีการยกระดับเตรียมพร้อมในการเปิดให้บริการแบบการรักษาตัวที่บ้านและรักษาตัวในชุมชน 

 

จังหวัดที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างมากคือ กลุ่มจังหวัดที่มีการติดเชื้อจำนวนมากใน 10 อันดับแรก และจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าหลัก 100 ราย เช่น พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ทั้งนี้หากมีผลการตรวจ ATK เป็นบวกและมีอาการน้อยให้ติดต่อ 1330 หรือไลน์ สปสช. ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดให้ติดต่อคอลเซ็นเตอร์ของจังหวัดหรืออำเภอนั้นๆ เพื่อที่จะได้รีบเข้าสู่การรักษาในระบบที่บ้านหรือชุมชน แต่หาก ATK ผลเป็นบวกและมีอาการหนัก เช่น เป็นผู้มีความเสี่ยงสูง อายุมากกว่า 60 ปี มีโรคประจำตัว มีไข้มากกว่า 39 องศา นานกว่า 1 วัน จะมีการพิจารณาตามเกณฑ์ส่งต่อให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามการระบาดในระลอกนี้ กรมการแพทย์ ได้มีการดูแลผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้ป่วยเด็กไว้ด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนในกลุ่มอายุ 5-11 ปี โดยมีการเตรียมยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียแบบน้ำไว้ เตรียมพร้อมการดูแลรักษาใน Community Isolation สำหรับผู้ปกครองที่จะต้องไปดูแลเด็ก ซึ่งจะมีการเตรียมพร้อมประสานงานทั้งในกรุงเทพมหานครและภูมิภาค ส่วนประชาชนที่สงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง เช่น ไปในสถานที่หรือเข้าร่วมกิจกรรมเสี่ยง ขอให้สังเกตอาการ

 

ทั้งนี้กรมการแพทย์ได้มีการ เก็บข้อมูล ลักษะการติดเชื้อโอมิครอน พบว่า 48% ไม่มีอาการ ขณะที่อาการของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ในประเทศไทยที่ 41 ราย พบว่าอาการไอ 54% เจ็บคอ 37% มีไข้ 29% ปวดกล้ามเนื้อ 15% มีน้ำมูก 12% ปวดศีรษะ 10% หายใจลำบาก 5% ได้กลิ่นลดลง 2%

 

นอกจากนี้ยังมีรายงานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายละเอียดจำแนกตามสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังและการกลายพันธุ์ ซึ่งผลจากการสุ่มตรวจกลายพันธุ์ซึ่งเป็นสายพันธุ์โอมิครอน พบแล้ว 5,397 ราย กระจายไป 71 จังหวัด ทั้งนี้การกลายพันธุ์ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ถึง วันที่ 9 มกราคม มีสัดส่วนเป็นเชื้อเดลตา 64.71% โอมิครอน 35.17% ที่เหลือจะเป็นเบตาและอัลฟา หากพิจารณาเป็นสัปดาห์ที่มีการสุ่มตรวจจำแนกเชื้อล่าสุด 2-8 มกราคม พบเป็นสัดส่วนโอมิครอน 70.3% เดลตา 29.7% หากพิจารณาเป็นรายสัปดาห์ การแพร่ระบาดของโอมิครอนเพิ่มขึ้นไปตามคาดการณ์ โดยสัปดาห์ล่าสุดโอมิครอนถึง 91.3% เป็นการสุ่มตรวจจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ขณะที่โอมิครอนในประเทศ ประมาณ 57.9%

logoline