svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

WHO เตือนโอมิครอนยิ่งพุ่ง อาจเกิดสายพันธุ์ใหม่ร้ายยิ่งขึ้น

05 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อนามัยโลกเตือนจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนยิ่งเพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่การเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่่อันตรายยิ่งขึ้น แต่ก็มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นว่า อาการป่วยโอมิครอนไม่รุนแรงเพราะเชื้อไม่ลงปอด

แคเทอรีน สมอลล์วูด  ผู้จัดการสถานการณ์โควิดขององค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำภูมิภาคยุโรป เตือนเมื่อวันอังคารว่า ยิ่งเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอนยิ่งแพร่กระจายมากขึ้น อาจทำให้เชื้อแบ่งตัวมากขึ้น และมีโอกาสมากขึ้น ที่จะเกิดสายพันธุ์ใหม่ แม้ขณะนี้โอมิครอนอาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่รุนแรงน้อยกว่า สายพันธุ์เดลตา แต่ใครจะบอกได้ว่า สายพันธุ์ใหม่ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร

 

คำเตือนนี้มีขึ้นในขณะที่โอมิครอนลุกลามทั่วโลกอย่างรวดเร็วเหมือนไฟป่า ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าอย่างรวดเร็ว โดยยุโรปมีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 5 ล้านคนในสัปดาห์สุดท้ายของปี 2564  และล่าสุดสหรัฐฯมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันเดียวเกินกว่า 1 ล้านคนเมื่อวันจันทร์

 

นอกจากนี้สมอลล์วูด เตือนว่า แม้เชื้อโอมิครอนมีความเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลน้อยกว่าเดลตา แต่ความสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่า ทำให้จำนวนผู้ป่วยมากกว่า และอาจมีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจำนวนมากกว่า จนทำให้โรงพยาบาลรองรับไม่ไหวและอาจเสียชีวิตได้

 

 

ขณะเดียวกัน อับดี มาฮามุด ผู้จัดการสถานการณ์โควิดของ WHO ประจำภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก เปิดเผยว่า มีผลการศึกษามากขึ้นที่บ่งชี้ว่า โอมิครอนทำให้เกิดการติดเชื้อในช่วงทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ได้ลงปอดที่จะทำให้เกิดอาการปอดอักเสบรุนแรง จึงทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งถือเป็นข่าวดี แต่ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยัน

 

แม้โอมิครอนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดตลอดกาลในหลายประเทศ แต่จำนวนผู้ป่วยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตน้อยกว่าการระบาดระลอกอื่นๆที่ผ่านมา

 

 

แต่มาฮามุด เตือนว่า ในกรณีแอฟริกาใต้ ที่เป็นหนึ่งในประเทศแรกที่มีการระบาดของโอมิครอน มีประชากรส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาว และมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้มีผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตจำนวนน้อย

 

เขาย้ำว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะลดผลกระทบจากโอมิครอน คือ การบรรลุเป้าหมายของ WHO ที่ต้องการให้ประชากร 70% ในแต่ละประเทศทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสภายในเดือน ก.ค. มากกว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 3 และ 4  ในบางประเทศ

 

 

 

logoline