svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ปอท. คาดแนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ปี 65 ไม่เปลี่ยนรูปแบบแต่พัฒนามากขึ้น

03 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รอง ผบก.ปอท. คาดแนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ปี 65 ไม่เปลี่ยนรูปแบบแต่พัฒนามากขึ้น ยืนยันตำรวจพร้อมพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อติดตามจับกุม

     วันนี้ (3 ม.ค.) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวถึงแนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยีใน ปี 65 ว่า เมื่อพิจารณาข้อมูลจากสถิติการเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ศูนย์บริการประชาชน บก.ปอท. ปี 61 - 64 พบว่า รูปแบบของอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือใช้เทคโนโลยีในการกระทำความผิดที่มีประชาชนมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ยังคงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยในปี 64 มีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์จำนวน 698 ราย 

 

     โดยสาเหตุที่การด่าทอ ให้ร้ายกันในสื่อสังคมออนไลน์ ครองความเป็นอันดับ 1 มาตลอดหลายปี อาจเนื่องมาจาก ประชาชนเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น การโพสต์ การแสดงความคิดเห็น การส่งต่อข้อมูลที่ทำให้ผู้อื่นเสียหายจึงมีมากขึ้น  

 

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
 

     ส่วนอันดับ 2 คือความเสียหายจากการถูกแฮก เพื่อปรับเปลี่ยน / ขโมย / ทำลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ มีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์จำนวน 585 ราย ความเสียหายรวมประมาณ 67 ล้านบาท และอันดับ 3 คือ การหลอกขายสินค้า / บริการ พบว่ามาเป็นอันดับ 3 โดยมีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์จำนวน 445 ราย ความเสียหายรวมประมาณ 45 ล้านบาท 

 

     ซึ่งจากสถิติดังกล่าวข้างต้นทำให้สังเกตได้ว่า รูปแบบของอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน หากไม่นับความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว พบว่าจะมีอยู่ 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ การแฮกข้อมูล และการฉ้อโกงออนไลน์ เป็นหลัก ซึ่งพบว่าอาชญากรรมใน 2 รูปแบบนี้ คนร้ายมักอาศัยโอกาสจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเอื้อประโยชน์ในการกระทำความผิด หรือปกปิดตัวตนไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถสืบสวนหาตัวคนร้ายได้โดยง่าย 
 

ปอท. คาดแนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ปี 65 ไม่เปลี่ยนรูปแบบแต่พัฒนามากขึ้น

     พ.ต.อ.ศิริวัฒน์  กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าแนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในปี 65 ยังไม่น่าจะแตกต่างไปจากเดิม แต่คนร้ายอาจนำเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การให้ร้ายหรือระรานทางไซเบอร์(Cyber Bullying) , การหลอกลวงผ่านอีเมล (email scam) , การแฮกเพื่อเอาข้อมูลหรือเงินผ่านการลวงให้กด ล่อให้กรอก (Phishing) , มัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware), การหลอกลวงขายสินค้า , การหลอกรักออนไลน์ (Romance Scam) , การหลอกรักลวงลงทุน (Hybrid Scam) , การหลอกลวงด้วยการโทรศัพท์โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ , การหลอกให้ลงทุนในลักษณะแชร์ออนไลน์และแชร์ลูกโซ่ , การขูดรีดดอกเบี้ยเงินกู้และการทวงหนี้ในลักษณะผิดกฎหมายจากแก๊งแอพพลิเคชั่นเงินกู้ , การปล่อยข่าวปลอมในโลกออนไลน์เพื่อหวังผลด้านต่าง ๆ (Fake News) เป็นต้น

 

     อย่างไรก็ตาม ประโยคที่ว่า “อาชญากรรมมักทิ้งร่องรอย” ยังคงใช้ได้กับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนติดตามจับกุมคนร้าย ที่อาจพัฒนาตัวเองจากอาชญากรภาคพื้นดิน (On Ground) มาเป็นอาชญากรบนอากาศ (Online) ตำรวจจึงต้องมีการพัฒนาทักษะ ความรู้ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แต่ก็ยังจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือในการสืบสวนสอบสวนด้วย โดย ผบ.ตร.ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดดำเนินการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดในลักษณะดังกล่าว รวมถึงเน้นย้ำให้แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ประชาชนให้รู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยีด้วย 

 

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

logoline