svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ดีอีเอส โว ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ช่วยให้ปชช.รู้ก่อนเชื่อ-แชร์ ลดเฟกนิวส์

02 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โฆษกดีอีเอส ฝ่ายการเมือง โว การทำงานของ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ช่วยลดจำนวนเฟกนิวส์ลงได้ กระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแส และเกิดการรับรู้ ก่อนเชื่อ ก่อนแชร์ เผย รอบสัปดาห์ มีข้อความกว่า 11.5 ล้านข้อความ พบ ข่าวนโยบายรัฐ ยังมาแรงส่งท้ายปี ติดอยู่ 4 อันดับแรก จาก 5

2 มกราคม 2565 นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า สรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่  24-30 ธ.ค. 64 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีข้อความที่เข้ามาทั้งสิ้น 11,545,688 ข้อความ จากการคัดกรองมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) จำนวน 202 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 105 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นข่าวเกี่ยวกับโควิด 22 เรื่อง

ดีอีเอส โว ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ช่วยให้ปชช.รู้ก่อนเชื่อ-แชร์ ลดเฟกนิวส์

ทั้งนี้ จากการประสานงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข่าวที่ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 58 เรื่อง พบว่าเป็นข่าวปลอมและข่าวบิดเบือน จำนวน 16 เรื่อง และพบว่าเฟกนิวส์ หมวดข่าวนโยบายรัฐ และข่าวสารราชการยังมาแรงส่งท้ายปี โดยติดอยู่ใน 4 อันดับแรกของสถิติข่าวปลอม 5 อันดับแรก ที่มีคนสนใจสูงสุดประจำสัปดาห์ ประกอบด้วย

  • อันดับ 1 เรื่อง ทหารไทยทำสงครามสู้รบกับพม่า บริเวณชายแดนอำเภอแม่สอด จ.ตาก อันดับ
  • อันดับ 2 เรื่อง รัฐบาลให้สิทธิพิเศษศาสนาอิสลามมากกว่าศาสนาพุทธ อันดับ
  • อันดับ 3 เรื่อง รถโดยสาร-รถบรรทุก ที่มีค่าควันดำเกินกำหนด โทษปรับ 2 หมื่นบาท
  • อันดับ 4 เรื่อง กรุงไทยส่ง SMS ให้ลงทะเบียนรับสิทธิ์ โครงการคนละครึ่ง เฟส 4
  • และอันดับ 5 เรื่อง สารซักฟอกในสบู่เหลว ถ้าใช้ร่วมกับสารประกอบตระกูลเอมีน จะกลายเป็นสารก่อมะเร็ง

ดีอีเอส โว ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ช่วยให้ปชช.รู้ก่อนเชื่อ-แชร์ ลดเฟกนิวส์

“จำนวนเบาะแสข้อความและเรื่องที่เข้าเกณฑ์ตรวจสอบ แม้จะยังมีเข้ามาต่อเนื่อง แต่ในแง่ผลการตรวจสอบ เห็นแนวโน้มจำนวนข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนมีสัดส่วนลดลง เมื่อเทียบกับข่าวที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นข่าวจริง ผลการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ ในการกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแส และเกิดการรับรู้ว่าควรตรวจสอบก่อนเชื่อ ก่อนแชร์” นางสาวนพวรรณกล่าวและว่า

 

ดังนั้น ขอเชิญชวนประชาชนในการทำงานร่วมกับรัฐบาล และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาข่าวปลอม เมื่อได้รับข่าวสารข้อมูลผ่านโซเชียล ควรตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ และสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter  เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87

 

logoline