svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

อึ้ง! ดีอีเอสเผยปี 64 คนไทย 23 ล้านคน แชร์ข่าวปลอม ส่วนมากอายุ 18-24 ปี

27 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชวนอึ้ง! ดีอีเอสเผยสถิติเชิงลึกจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ปี 64 พบคนไทย 23 ล้านคน แชร์ข่าวปลอม ส่วนมาก อายุ 18-24 ปี

     ต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีคนไทยจำนวนมากใช้โซเชียลในชีวิตประจำทำให้ต้องพบกับข่าวปลอมทางโซเชียลจำนวนมาก โดยวันนี้ (27 ธ.ค.) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส เปิดเผยถึงการดำเนินงานของ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ว่า การจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยหลังจัดตั้งขึ้น มาเป็นเวลา 2 ปี สามารถลดจำนวนข่าวปลอมลงได้จำนวนมาก โดยการเก็บสถติตั้งแต่จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมวันที่ 1 พ.ย 62 ถึง 23 ธ.ค 64 มีจำนวน ผู้โพสต์ข่าวปลอม 1,167,543 คน และจำนวนผู้แชร์ข่าวปลอม 23,785,145 คน

 

     โดยช่วงอายุของผู้โพสต์และแชร์มากที่สุด คือ อายุ 18-24 ปี คิดเป็นสัดส่วน 54.5% ขณะที่อายุ 55-64 ปี มีพฤติกรรมแพร่กระจายข่าวปลอมต่ำสุด คิดเป็น 0.1% สำหรับกลุ่มอาชีพที่ช่วยเผยแพร่ข้อเท็จจริงในเรื่องข่าวปลอมมากที่สุด  คือ กลุ่มผู้สื่อข่าว คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 16.7% เนื่องมาจากเป็นกลุ่มอาชีพที่ประชาชนให้ความสนใจ และเกิดเชื่อถือในการเผยแพร่มากที่สุด รองลงมา คือ กลุ่มผู้จัดการ/ผู้บริหาร 9.3% และผู้ประกอบกิจการต่างๆ 8% ขณะที่ กลุ่มอาชีพของผู้แชร์ข่าวที่เข้าข่ายเป็นข่าวปลอมมากที่สุด 3 อ้นดับแรก ได้แก่ กลุ่มอาชีพคุณครู อาจารย์ 14.0% ตามมาด้วย กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มอาชีพช่างภาพ 9.4% และกลุ่มอาชีพวิศวกร 7.0%

 

อึ้ง! ดีอีเอสเผยปี 64 คนไทย 23 ล้านคน แชร์ข่าวปลอม ส่วนมากอายุ 18-24 ปี

     สำหรับภาพรวมผลการดำเนินการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (วันที่ 1 พ.ย. 62 – 23 ธ.ค. 2564) มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรอง 455,121,428 ข้อความ หลังจากคัดกรองพบข้อความข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 13,262 เรื่อง แบ่งเป็น โดยหมวดหมู่สุขภาพ 6,855 เรื่อง ตามมาด้วย หมวดหมู่นโยบายรัฐ 5,865 เรื่อง  หมวดหมู่เศรษฐกิจ 282 เรื่อง และหมวดหมู่ภัยพิบัติ 260 เรื่อง
 

อึ้ง! ดีอีเอสเผยปี 64 คนไทย 23 ล้านคน แชร์ข่าวปลอม ส่วนมากอายุ 18-24 ปี

     ด้าน น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เริ่มจัดเก็บข้อมูลการเปรียบเทียบ เทรนด์ ของหมวดหมู่ข่าวทั้ง 4 หมวด โดยระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 63 – 23 ธ.ค. 64 พบว่า หมวดนโยบาย มีแนวโน้มสูงสุด มียอดเฉลี่ยการพูดถึง 53,017 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 46.77% โดยพบว่าข่าวปลอมสูง ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 เนื่องจากเป็นช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายออกมาเพื่อเยียวยาให้กับประชาชน มียอดการพูด การสนทนา การโพสต์ บทความ ถึงนโยบายเยียวยา การแชร์ข้อมูลความถี่สูงขึ้น

 

     “ขอฝากข้อคิดสำหรับพี่น้องประชาชน  ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ว่า  ขอให้ท่านระลึกอยู่ตลอดเวลา เมื่อใช้สื่ออนไลน์  “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน”  ทุกท่านจะปลอดภัยจากการถูกฉ้อโกง  หลอกลวง  บนสื่อสังคมออนไลน์อย่างแน่นอน ซึ่งในปีหน้าเราจะเดินหน้าขับเคลื่อนการสร้างการรับรู้ เท่าทันข่าวปลอมอย่างต่อเนื่อง และรณรงค์ต่อต้าน การเผยแพร่ข่าวปลอม เพื่อให้ประชาชนได้ใช้งานบนสื่อสังคมออนไลน์อย่างปลอดภัย และรู้เท่าทันสื่อในยุคดิจิทัล ตลอดจนมีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหาข่าวปลอม สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับสังคม โดยเจาะกลุ่มเป้าหมาย อาทิ กลุ่มสมาคมวิทยุสื่อสาร กลุ่ม อสม. และกลุ่ม อสด.” 
 

อึ้ง! ดีอีเอสเผยปี 64 คนไทย 23 ล้านคน แชร์ข่าวปลอม ส่วนมากอายุ 18-24 ปี

logoline