svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดจุดขายใหม่ระดับโลกของประเทศไทยกับ “พลังงานสะอาด”

22 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โลกใหม่หลังยุคโควิดน่าจะเกิดอะไรใหม่ๆ และนำไปสู่สิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกมากมาย เพราะความเสียหายจากวายร้ายโควิด เตือนใจให้ผู้คนบนโลกระลุกว่า จากนี้ไปเราจะอยู่แบบเดิมอีกไม่ได้ "พลังงานสะอาด" กำลังก็เป็นอีกทางเลือกใหม่ หรือ “ของใหม่”ที่จะเป็นจุดขายของประเทศไทย

บทความที่น่าอ่านและน่าติดตามชุดนี้ หยิบยกมาจาก เว็บไซต์ข่าวคุณภาพอย่าง กรุงเทพธุรกิจ ที่ได้นำเสนอบทความ สาระดีๆ ตลอดมา ในวันนี้ขออนุญาตหยิบยกเอาเรื่องราวที่นำเสนอผ่านจากมุมมองและวิสัยทัศน์ของ คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ได้เผยแพร่เอาไว้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านและจะได้ก้าวตามเทรนด์และกระแสโลกในยุค 2022 โลกยุคหลังโควิด

..

 

ในปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญกับวิกฤต 2 เรื่องใหญ่ คือ โลกร้อน และ โรคระบาด ซึ่งเป็นวิกฤตที่ส่งผลสะเทือนไปทั่วทุกมุมของโลก ทุกประเทศ ทุกคน ล้วนต้องรับผลร่วมกัน เจ็บร่วมกัน และจำเป็นที่ต้องร่วมมือกัน เพื่อให้ทุกคนรอดพ้นจากวิกฤติไปด้วยกัน

 

ปัญหาโลกร้อน เป็นปัญหาที่สั่งสมมายาวนานจนมาถึงจุดวิกฤต เกิดจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่นๆ ที่มาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่างๆ เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ การปล่อยก๊าซจากหลุมฝังกลบขยะ การทำนาข้าว ฟาร์มปศุสัตว์ การใช้สาร CFC ในตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ รวมไปถึงการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม และภาคการขนส่ง

เปิดจุดขายใหม่ระดับโลกของประเทศไทยกับ “พลังงานสะอาด”

ทั่วโลกตระหนักว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องใกล้ตัว จึงได้ร่วมมือกันตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านความตกลงต่างๆ ตั้งแต่การวางกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(UNFCCC) การลงนามในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เมื่อปี 2540 จนมาถึงความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี 2558 แต่ดูเหมือนว่า ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนยังไปได้ช้า

 

จนกระทั่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โลกถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ส่งผลให้ผู้คนเกิดความตระหนักถึงภัยใกล้ตัวมากขึ้น และอยากเห็นโลกใบนี้กลับมาสะอาด ปลอดภัย น่าอยู่ มีการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน

เปิดจุดขายใหม่ระดับโลกของประเทศไทยกับ “พลังงานสะอาด”

ประเทศต่างๆ ได้ทยอยประกาศแนวทางการพัฒนาและแผนการลงทุนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายนี้ เช่น ยุโรปได้ประกาศนโยบาย Green Deal ด้วยงบประมาณรวมกว่า 22 ล้านล้านบาท ในช่วงเวลา 7 ปี เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อย 55% ภายในปี ค.ศ. 2030

 

ขณะที่ญี่ปุ่นประกาศใช้ Green Growth Strategy (GGS) เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 ส่วนเกาหลีใต้ใช้นโยบาย Green New Deal พร้อมทุ่มงบประมาณกว่า 2 ล้านล้านบาท สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน รถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสีเขียว

สำหรับประเทศไทยเอง ในการประชุม COP26 รัฐบาลได้ตอกย้ำว่าจะบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และ Net Zero Greenhouse Gas Emission ภายในปี ค.ศ. 2065 พร้อมทั้งได้เตรียมแสดงศักยภาพด้าน BCG (Bio-Circular-Green Economy) และจุดแข็งด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ให้ชาวโลกได้เห็นในช่วงเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ในปีหน้าด้วย

 

ความตื่นตัวในเรื่องนี้ไม่ได้เกิดแค่ในระดับประเทศเท่านั้น แต่ในภาคธุรกิจ บริษัทชั้นนำทั่วโลกต่างก็ยึดแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ ESG (Environmental, Social, Governance) เป็นหัวใจหลักในการทำธุรกิจ รวมถึงการออกไปลงทุนในต่างประเทศ จึงเป็นเหตุว่า ที่ผ่านมาบริษัทใหญ่จำนวนมากเลือกแหล่งลงทุนโดยพิจารณาจากประเทศที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนป้อนให้ธุรกิจของตัวเองได้ หลายบริษัทตั้งเป้าหมายถึงขนาดที่ว่าในสถานประกอบการ จะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) 100% หรือ RE 100

เปิดจุดขายใหม่ระดับโลกของประเทศไทยกับ “พลังงานสะอาด”

ประเทศที่มีความพร้อมด้านพลังงานสะอาดมีอยู่ไม่มาก และประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น ขณะที่หลายประเทศยังใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานหลัก แต่ไทยมีขีดความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพื่อป้อนภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ หรือขยะชุมชน เพราะเรามีวัตถุดิบ มีเทคโนโลยี มีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ และมีการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยตั้งแต่ปี 2560 จนถึงเดือนกันยายน 2564 มีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ 1,169 โครงการ เงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท

เปิดจุดขายใหม่ระดับโลกของประเทศไทยกับ “พลังงานสะอาด”

 

จากนี้ไป “พลังงานสะอาด” จะกลายเป็นจุดขายสำคัญที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ เข้าสู่ประเทศไทย อีกทั้งยังช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยอีกจำนวนมากด้วย

 

ขอขอบคุณที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

 

logoline