svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"วิโรจน์"เตือนนายกฯ โอมิครอน ไม่กระจอก พร้อมรับมือแล้วหรือยัง

21 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"วิโรจน์" ซัด "ประยุทธ์" ออกมาฉลองที่ไทยฉีดวัคซีนโควิด 100 ล้านโดส ไม่นึกถึงกว่า 20,000 ครอบครัวที่สูญเสียคนที่รักจากการบริหารวัคซีนที่ผิดพลาดของรัฐบาล เตือน ‘โอมิครอน’ ไม่ได้กระจอกอย่างที่รัฐบาลคิด ควรเร่งจัดหาวัคซีนและยารักษาให้เพียงพอ

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โพสต์ยินดีที่ไทยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทะลุ 100 ล้านโดสได้ตามเป้าว่า

 

“นายกรัฐมนตรีควรสำเหนียกถึงครอบครัวที่ญาติพี่น้องเสียชีวิตไปสองหมื่นกว่าครอบครัวบ้างนะครับ ซึ่งเป็นความสูญเสียที่มาจากการบริหารจัดการวัคซีนที่ผิดพลาดของรัฐบาลซ้ำแล้วซ้ำอีก และที่ผ่านมา รัฐบาลตั้งเป้าหมายอะไรเอาไว้ ก็พลาดเป้ามาโดยตลอด เพราะจัดหาวัคซีนเข้ามาล่าช้าและจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอในการต่อสู้กับโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ”
 
วิโรจน์ แนะนำว่า รัฐบาลควรเตรียมพร้อมรับมือกับโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังระบาดอยู่ทั่วโลกในปัจจุบัน ไม่ควรจะพูดแต่ว่าโควิด-19 “กระจอก” เพราะอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็เคยพูดอยู่เช่นนี้มาตั้งแต่ 4 ก.พ.64 และมาพูดอีกครั้งเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.64ที่ผ่านมา โดยไม่นึกถึงผู้เสียชีวิตจำนวน 21,355 รายที่ต้องมารับกรรมจากความชะล่าใจของรัฐบาลชุดนี้

"วิโรจน์"เตือนนายกฯ โอมิครอน ไม่กระจอก พร้อมรับมือแล้วหรือยัง
 

ต้องอย่าลืมนะครับ ปัจจุบันทุกๆ ประเทศในโลกต่างกำลังเผชิญหน้ากับสายพันธุ์โอมิครอน ควบคู่ไปกับสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งมีผลการศึกษาประเมินว่า โอมิครอน สามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่าเดลต้า ถึง 70 เท่า  แม้ว่าจะมีความเชื่อในเบื้องต้นว่า โอมิครอน อาจจะอันตรายถึงแก่ชีวิตน้อยกว่าเดลต้า แต่จากการศึกษาของอิมพีเรียลคอลเลจ ที่อังกฤษ ระบุชัดว่า ไม่มีหลักฐานใดที่สามารถยืนยันได้ว่า โอมิครอน อันตรายน้อยกว่าเดลต้า ดังนั้น เราจึงไม่ควรที่จะประเมิน โอมิครอนเอาไว้ต่ำเกินไป


 
ปัจจุบัน ประชากรไทยที่ฉีดแอสตร้าเซเนก้ามีถึง 13 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุอยู่ไม่น้อย แต่มีการวิจัยระบุว่า การฉีดแอสตร้าเซเนก้า 2 เข็ม 25 สัปดาห์มีประสิทธิภาพสู้โอมิครอนได้เพียง 5.9% เมื่อเทียบกับไฟเซอร์ 2 เข็มที่ 34% ขณะที่การศึกษาของฮ่องกงพบว่า วัคซีนซิโนแวคไม่มีประสิทธิภาพที่จะโอมิครอนได้เลย ดังนั้น ประชาชนไทยจะต้องเร่งรัดการฉีดเข็มที่ 3 เสริมภูมิกันอีกจำนวนมาก

"วิโรจน์"เตือนนายกฯ โอมิครอน ไม่กระจอก พร้อมรับมือแล้วหรือยัง
 

 ขณะนี้ หลายประเทศเร่งจัดหาวัคซีน mRNA มาฉีดเสริมภูมิให้กับประชาชนแล้ว เช่น นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ถึงกับออกโรงต่อสายเร่งรัดการส่งมอบวัคซีน กับซีอีโอของไฟเซอร์ โดยตรง เพื่อนำมาฉีดเป็นเข็มที่ 3 ให้กับประชาชน ขณะที่ประเทศเยอรมนี ก็ได้ตัดสินใจสั่งซื้อเพื่อสำรองวัคซีนเพิ่มขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่วัคซีนเริ่มขาดแคลนมากขึ้น ประเทศในกลุ่ม EU ก็ได้ตัดสินใจ เปิดคำสั่งสั่งซื้อวัคซีนรุ่นที่มีการปรับปรุงเพื่อรับมือกับโอมิครอน ไว้แล้วถึง 180 ล้านโดส ยืนยันได้ว่า ไม่มีประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศไหน ที่มองว่า โอมิครอน กระจอก
 


วิโรจน์ แนะนำให้รัฐบาลปรับแผนการรับมือโอมิครอน ไว้ว่า รัฐบาลไทยควรเร่งรัดติดตามการส่งมอบวัคซีนในเดือนธันวาคมนี้ ให้สามารถส่งมอบได้ครบ 10 ล้านโดสตามแผนการจัดหา และต้องทบทวนการสำรองวัคซีนไฟเซอร์เพื่อการฉีดเสริมภูมิให้มากกว่า 30 ล้านโดสที่วางไว้เดิม ลดการสำรองวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าลงจากเดิมที่ตั้งสำรองไว้ถึง 52 ล้านโดส รวมถึงจัดหาวัคซีนอื่นๆ เพื่อฉีดเป็นเข็มที่ 4 เพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชนที่มีความกังวลในวัคซีนชนิด mRNA เพื่อเพิ่มความครอบคลุมการฉีดวัคซีนให้เพิ่มมากขึ้น



รัฐบาลยังควรพิจารณาฉีดเข็มที่ 4 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้า เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะมีความมั่นใจในการให้บริการด้านสาธารณสุข หากโอมิครอนระบาด เพราะงานวิจัยของอิมพีเรียลคอลเลจชี้ว่า เมื่อเวลาผ่านไป ประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มที่ 3 ก็ลดลงเช่นกัน ซึ่ง ปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์ ก็ฉีดเข็มที่ 3 ไปกว่า 4 เดือนแล้ว


นอกเหนือจากวัคซีนแล้ว รัฐบาลยังควรเร่งจัดหายารักษาให้เพียงพอ เพื่อลดอัตราการป่วยหนัก และอัตราการเสียชีวิต จากการติดเชื้อโควิด-19 เช่น ฟาวิพิราเวีย ,โมโนโคลนัล แอนตี้บอดี้, โมลนูพิราเวีย และแพ็กซ์โลวิด นอกจากนี้ ปัจจุบันมีการพัฒนายารักษาโควิด-19 ขนานใหม่ๆ ที่คาดว่ามีประสิทธิผลในการรักษาที่สูงขึ้น อยู่เป็นระยะๆ รัฐบาลจำเป็นต้องติดตาม และพิจารณาจัดหาเพื่อสำรองเอาไว้ใช้ในการรักษาชีวิตของประชาชน ให้มีความเพียงพอ


ยาอีกหลายประเภท รัฐบาลก็มีความจำเป็นต้องสำรองไว้อย่างเพียงพอเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ยาที่ใช้รักษาภาวะปอดอักเสบของผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง และยาที่จำเป็นต้องใช้ในงานวิสัญญี สำหรับผู้ป่วยหนัก ซึ่งปัจจุบัน มีการรายงานจากแพทย์ผู้ปฏิบัติงานว่า มีการขาดคราวอยู่เป็นระยะๆ รัฐบาลจำเป็นต้องติดตามสต๊อก และการกระจายสต๊อกของยา เหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่า แพทย์จะสามารถเบิกจ่ายเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยตามการวินิจฉัยได้อย่างทันท่วงที

ผม และคณะที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของพรรคก้าวไกล ทราบดีว่า ยารักษาโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นยาต้านไวรัส หรือยารักษาภาวะปอดอักเสบ นั้นมีราคาแพงมากๆ แต่ก็ต้องยืนยันให้รัฐบาลตระหนักว่า ต่อให้ยาจะแพงอย่างไร ก็ไม่แพงไปกว่า “ชีวิตของประชาชน” และ “ความสูญเสียของครอบครัว” ที่ประเมินค่าไม่ได้


การสำรองยาเอาไว้เป็นเพียงบันไดขั้นแรกเท่านั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องทำต่อก็คือ การนำเอายาดังกล่าวบรรจุเข้าไปในบัญชียาหลักแห่งชาติ พร้อมทั้งมีกำหนดข้อบ่งชี้ในการใช้ยาในแนวเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์ ให้มีหลักเกณฑ์ และขั้นตอนที่แพทย์สามารถเบิกใช้ได้ตามการวินิจฉัย ให้มีความชัดเจน มีการกระจายสต๊อกของยาอย่างเหมาะสมครอบคลุมพื้นที่การให้บริการสาธารณสุข เพื่อให้มั่นใจว่า ประชาชนทุกคนจะสามารถเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพดังกล่าว อย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ว่ามีเฉพาะกลุ่มคน VVIP เท่านั้น ที่จะได้รับสิทธิการมีชีวิตรอด จากยาที่มีคุณภาพเหล่านี้

logoline