svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สรุปสถานการณ์ "โควิด-19" ในประเทศไทย ตลอดปี 2564

23 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตลอดปี 2564 ประเทศไทย รับมือสถานการณ์ โควิด-19 อย่างหนักหน่วง เมื่อเชื้อโควิด-19 เกิดกลายพันธุ์ สร้างความรุนแรง แพร่ระบาดรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน"วัคซีน"ป้องกันโควิด-19 ก็ถูกใช้เป็นอาวุธต่อกรกับโรคร้าย ทาง"เนชั่นออนไลน์"ได้รวบรวมเหตุการณ์สำคัญ ๆ ตลอดปีไว้ที่นี่

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ทั่วโลกมีมาต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 ปี โดยในปี 2564 ถือเป็นปีที่มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งการกลายพันธุ์ ของ โควิด-19 เพิ่มขึ้นหลายสายพันธุ์ การผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 นานาชนิด รวมไปถึงความสำเร็จของยารักษาโควิดที่เป็นความหวังของคนทั้งโลก

 

ประเทศไทย ผ่านการระบาดระลอกแรกปี 2563 จาก คลัสเตอร์สนามมวย ลามไปในหลายจังหวัด กระทั่งการระบาดระลอกที่สอง จาก คลัสเตอร์ตลาดมหาชัย “สมุทรสาคร” ช่วงปลายปี 2563 ส่งผลให้มีการประกาศ “ล็อกดาวน์สมุทรสาคร” ตั้งแต่คืนวันที่ 19 ธ.ค. 63 

 

ระดมเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานสักดการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในพื้นที่สมุทรสาคร

 

 ปรับสีโซนพื้นที่ควบคุมการระบาด "โควิด-19" ตั้งแต่ต้นปี  

เมื่อเริ่มต้นปี 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันที่ 2 ม.ค. 64 กำหนดพื้นที่ประกาศใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ยกระดับ ‘พื้นที่ควบคุมสูงสุด’ โซนสีแดงเป็น 28 จังหวัด แต่ยังไม่มีการประกาศ “ล็อกดาวน์” เพิ่มเติม โดยให้มีผล 4 ม.ค. 64 หลังมีการระบาดขยายวงกว้างมากกว่า 50 จังหวัด โดยแบ่งสีพื้นที่ 4 ระดับ

  • พื้นที่สีแดง พื้นที่ควบคุมสูงสุด (28 จังหวัด)
  • พื้นที่สีส้ม พื้นที่ควบคุม (11 จังหวัด)
  • พื้นที่สีเหลือง พื้นที่เฝ้าระวังสูง (38 จังหวัด)
  • พื้นที่สีเขียว พื้นที่เฝ้าระวัง

 

ศบค. ประกาศเขตพื้นที่โซนสีต่างๆ เพื่อคุมการระบาด โควิด-19

 

“เราใช้ยาแรงเจ็บปวด แต่เราเอาอยู่ ในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค. 63 ช่วง 2-3 เดือน เราเอาอยู่ ครั้งนั้นเราเรียนรู้การ ล็อกดาวน์ ซึ่งเป็นคำพูดที่เจ็บปวดหัวใจไม่มีใครอยากได้ยิน แต่มีพื้นที่ควบคุมสูงสุดคือ พื้นที่สีแดงที่ไม่อยากใช้คำว่าล็อคดาวน์ แต่ขอให้เป็นการเข้มงวดมากๆและควบคุมสูงสุดมากๆ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าวในการแถลงข่าว 2 ม.ค. 64

มาตรการกำหนดโซนสีพื้นที่ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และ มาตรการในการเยียวยาประชาชนอย่างต่อเนื่อง กระทั่งล่าสุดหลังจาก เปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยว เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 64 ศบค. ปรับพื้นที่สถานการณ์โควิด โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

  • พื้นที่สีแดงเข้ม พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
  • พื้นที่สีแดง พื้นที่ควบคุมสูงสุด
  • พื้นที่สีส้ม พื้นที่ควบคุม (39 จังหวัด)
  • พื้นที่สีเหลือง พื้นที่เฝ้าระวังสูง (30 จังหวัด) 
  • พื้นที่สีเขียว พื้นที่เฝ้าระวัง
  • พื้นที่สีฟ้า พื้นที่เฝ้าระวังสูง พื้นที่นําร่องท่องเที่ยว (8 จังหวัด)

สรุปสถานการณ์ "โควิด-19" ในประเทศไทย ตลอดปี 2564

 

 วัคซีนป้องกันโควิด-19 ความหวังลดการระบาด ไม่ป่วยหนัก 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นบุคคลแรกที่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค ที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี หลังจากที่ซิโนแวค จัดส่งวัคซีน “โคโรนาแวค” ล็อตแรกจำนวน 2 แสนโดส ถึงไทยเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 64 โดยในวันดังกล่าวมี 3 รัฐมนตรีที่อายุไม่เกิน 60 ปี ฉีดวัคซีนของซิโนแวคด้วย

 

สรุปสถานการณ์ "โควิด-19" ในประเทศไทย ตลอดปี 2564

"วันหน้าเมื่อแพทย์ให้ฉีดวัคซีน ผมก็พร้อมเสมอ ผมก็ชินกับการฉีดยาอยู่แล้ว" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในวันฉีดวัคซีนเข็มแรกของไทย เนื่องจากข้อกำหนดของ ซิโนแวค นั้นเหมาะสำหรับผู้ที่อายุไม่เกิน 60 ปี

 

กระทั่งวันที่ 19 มี.ค. 64 พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) เข็มแรกของประเทศไทย ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรัฐมนตรีอีก 19 คน ร่วมรับวัคซีนด้วย

 

สรุปสถานการณ์ "โควิด-19" ในประเทศไทย ตลอดปี 2564

การเดินหน้าฉีดวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ในช่วงแรก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระดมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับบุคลากรด่านหน้า อาทิ แพทย์ พยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ กระทั่งวันที่ 7 มิ.ย. 2564 กระทรวงสาธารณะสุข ได้เริ่มปูพรมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรกให้กับประชาชนทั่วประเทศ เป้าหมายฉีดให้ครบ 100  ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564

 

สรุปสถานการณ์ "โควิด-19" ในประเทศไทย ตลอดปี 2564

การระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนสอดคล้องกันการเร่งป้องกันการระบาดโควิด-19 ระลอกสาม ที่มีจุดเริ่มต้น “คลัสเตอร์สถานบันเทิง” ที่สร้างความโกลาหลปั่นป่วนอย่างหนัก มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงถึง 22,000 คนในเดือนสิงหาคม

 

ทั้งนี้จากจาก ระบบหมอพร้อม ข้อมูลถึง14 ธ.ค. 64 ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีน แบ่งรายละเอียดได้ดังนี้ 

  • ฉีดวัคซีนสะสม 97,893,176 โดส 
  • เข็มแรก 50,012,231 ราย
  • เข็มที่สอง 43,572,451 ราย 
  • เข็มที่สาม 4,266,735 ราย
  • เข็มที่สี่ 41,759 ราย 

 

โควิด-19 ระบาดเข้าสู่เรือนจำทั่วประเทศ

 

 โควิด-19 ระลอกสาม ล็อกดาวน์ ครั้งใหญ่ของประเทศ 

การแพร่ระบาดระลอกสาม ช่วงเดือนมี.ค. 64 เป็น “คลัสเตอร์สถานบันเทิง” โควิด-19 กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ โดยเป็นโควิด-19 กลายพันธุ์อัลฟา” ตรวจพบครั้งแรกสหราชอาณาจักร ในเวลาต่อมาถูกโจมตีซ้ำด้วย โควิด-19 กลายพันธุ์ “เดลตา” ที่พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย ซึ่ง เดลตา มีความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษ 1.7 เท่า

 

การแพร่ระบาดของ โควิด-19 กลายพันธุ์ ส่งผลให้ เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 64 ส่งยอดผู้ติดเชื้อสูงสุดของประเทศ 23,418 ราย เสียชีวิต 184 คน ขณะที่วันที่ 18 สิงหาคม 2564 มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 312 คน ผู้ติดเชื้อ 20,515 ราย

 

สรุปสถานการณ์ "โควิด-19" ในประเทศไทย ตลอดปี 2564

 

การระบาดระลอกสาม ศบค. เริ่มสั่งปิดสถานบันเทิงยาว สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ แต่การแพร่ระบาดยังคงไม่ลดลง ในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 29 เม.ย. 64 มีมติ “ล็อกดาวน์” คุมเข้ม พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, เชียงใหม่ และชลบุรี ขอความร่วมมืองดเดินทางออกนอกพื้นที่ มีผลวันที่ 1 พ.ค. 64

 

พร้อมกำหนดมาตรการ ดังนี้ 

  • ต้องสวมหน้ากากเมื่อออกนอกเคหสถาน,
  • ห้ามกิจกรรมที่มีการรวมตัวมากกว่า 20 คน
  • งดรับประทานอาหารในร้าน ซื้อกลับบ้านได้ไม่เกิน 21.00 น.
  • ร้านสะดวกซื้อ เปิดเวลา 04.00 - 23.00 น.
  • ปิดสถานบันเทิง
  • ห้างสรรพสินค้า เปิดไม่เกิน 21.00 น. (จำกัดจำนวนคน งดส่งเสริมการขาย สถานศึกษาห้ามใช้อาคารสถานที่จัดการเรียนการสอน)
  • ปิดสถานที่เสี่ยง ยกเว้นกีฬากลางแจ้งไม่เกิน 21.00 น. แข่งขันโดยไม่มีผู้ชม
  • ขอความร่วมมืองดเดินทางออกนอกพื้นที่

 

สรุปสถานการณ์ "โควิด-19" ในประเทศไทย ตลอดปี 2564

 

ต่อมา เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 64 ศบค. มีมติปรับมาตรการเข้มข้นและผ่อนคลายกิจการกิจกรรมบางส่วน พร้อมปรับการควบคุมโควิด-19แนวใหม่ ที่สมดุลกับการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัยจากโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับ นโยบายการเตรียมเปิดประเทศของรัฐบาล ในวันที่ 1 พ.ย. 64 โดยคงมาตรการทางสังคม Work From Home และเคอร์ฟิว 21.00-04.00 น. ใน 29 จังหวัดสีแดงเข้มต่อไปอีก 14 วัน

 

หลังการเปิดประเทศ ศบค. ประเมินสถานการณ์ มีการผ่อนคลายเพิ่มขึ้น แต่จากการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เมื่อ 12 พ.ย. 64  ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ มีมติ ไม่คลายล็อกดาวน์ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ โดยมีมติให้เลื่อนเปิดจากกำหนดเดิม 1 ธ.ค. 64 ไปเป็น 16 ม.ค. 65  ด้วยเหตุผลเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูง

 

WHO ประกาศตั้งชื่อสายพันธุ์ B.1.1.529 เป็นตัวอักษรกรีก ว่า โอมิครอน (Omicrom)

 

 โควิดกลายพันธุ์ "โอมิครอน" เขย่าขวัญใกล้สิ้นปี 

ในช่วงปลายปี 2564 หลังโควิดสายพันธุ์เดลตาเริ่มคลี่คลาย สายพันธุ์อื่นไม่ว่าจะเป็น เดลตาพลัส แลมดา สายพันธุ์มิว ดูจะไม่อันตรายมาก แต่  WHO ได้ออกมาประกาศ การตรวจพบ โควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529 ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา เป็นสายพันธุ์ใหม่มาแรง คาดว่าอาจสร้างความรุนแรงชนิดคาดไม่ถึง หลายประเทศปิดพรมแดนทันทีเพื่อสกัดการระบาด

 

WHO ประกาศตั้งชื่อสายพันธุ์ B.1.1.529 เป็นตัวอักษรกรีก ว่า “โอมิครอน” (Omicrom) ถือเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล เนื่องจากสายพันธุ์นี้มีการกลายมากกว่า สายพันธุ์เดลตา ถึง 2 เท่า โดยเฉพาะบริเวณหนาม (Spike) ที่มากกว่า 30 ตำแหน่ง จนกังวลว่าจะดื้อต่อภูมิคุ้มกัน และพบการระบาดในหลายจังหวัดของแอฟริกาใต้ มีแนวโน้มที่จะแทนที่สายพันธุ์เดลตาที่ระบาดอยู่ก่อนหน้า

 

ทันทีที่การแพร่ระบาดของ โอมิครอน เริ่มขยายวงกว้าง สหรัฐอเมริกา และ สหราชอาณาจักร ได้ประกาศปรับคำแนะนำการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นใหม่เร็วขึ้น !!

 

สรุปสถานการณ์ "โควิด-19" ในประเทศไทย ตลอดปี 2564

 

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) สหรัฐอเมริกา แนะนำให้ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน Pfizer หรือ Moderna ซึ่งเป็นวัคซีน mRNAโดยเว้นระยะห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 6 เดือน

 

ขณะที่ คณะกรรมการร่วมด้านการให้วัคซีนและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค (JVCI) สหราชอาณาจักร แนะนำให้เลื่อนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมาเป็นภายใน 3 เดือนหลังได้รับเข็มที่ 2 ซึ่งคาดว่าเพราะสูตรวัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม มีประสิทธิผลลดลงเร็วกว่าวัคซีน Pfizer 2 เข็ม และขยายกลุ่มอายุที่ควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นลงมาถึงกลุ่มอายุ 18-39 ปี เป็น 18 ปีขึ้นไปเหมือนสหรัฐอเมริกา

 

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ต้องฉีดเข็มกระตุ้นเร็วขึ้น เพื่อรับมือสาพันธุ์ "โอมิครอน"

 

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่มนุษย์ พยายามทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะ โควิด-19 ไม่ว่าคิดค้นยารักษา หรือวัคซีนป้องกัน แต่ โควิด-19 ยังคงอยู่ เกิดกลายพันธุ์ พบการแพร่ระบาดเปลี่ยนไปตลอดเวลา ปรับตัวเพื่ออยู่รอด 

 

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราต้องตระหนักในมากที่สุดคือ การป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยการ ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่าง และฉีดวัคซีน จนกว่า โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เหมือนไข้หวัดในปัจจุบัน

 

สรุปสถานการณ์ "โควิด-19" ในประเทศไทย ตลอดปี 2564

logoline