svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งโรงงานน้ำตาล

12 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็งเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล พร้อมอ่านแถลงการณ์ยืนหยัดคัดค้านโรงงานน้ำตาล จี้รัฐประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยด้านชุมชน

  12 ธันวาคม 2564 เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง บ้านเชียงเพ็งหมู่ที่ 1 ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ได้มีชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง ประมาณ 20 กว่าคน ร่วมกันทำกิจกรรมเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล พร้อมอ่านแถลงการณ์ยืนหยัดคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล พร้อมเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการ “ประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยด้านชุมชน ดิน น้ำ ป่า อากาศ และคุณภาพชีวิต” เพื่อแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น 
 

 

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งโรงงานน้ำตาล

ในขณะที่จากรณีชาวบ้าน อ.จะนะ จ.สงขลา ได้ขึ้นมาทวงสัญญาจากรัฐบาลในการที่รัฐบาลได้ตกลงกับชาวบ้านไว้เมื่อปีที่แล้วว่าจะยุติการดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะไว้ก่อนในทุกกรณี แล้วตั้งกรรมการที่เชื่อถือได้ เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายขึ้นมาศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) อย่างรอบคอบ เพื่อสร้างชุดข้อมูลทางวิชาการที่มีคุณภาพสำหรับการตัดสินใจ ซึ่งข้อตกลงนี้ คณะรัฐมนตรีหรือ ครม.ก็รับทราบ ดังปรากฏในการประชุม ครม.เมื่อ 15 ธันวาคม 2563 แต่ล่าสุดกลับปรากฏว่ารัฐบาลไม่ดำเนินการใด ๆ ตามข้อตกลง พร้อมกับเดินหน้าโครงการต่อ และเมื่อชาวบ้านมาทวงสัญญารัฐบาลกลับใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามจับกุม ซึ่งทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็งมองว่ารัฐบาลไม่ได้มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา แต่กลับเพิ่มความขัดแย้งให้กับชุมชนมากกว่า ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านออกมาแสดงออกในการปกป้องทรัพยากรชุมชน ปกป้องวิถีชีวิตของตนเอง เหมือนกับหลายพื้นที่
 

 

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งโรงงานน้ำตาล


เรื่องนี้น.ส.วาสนา ขันคำ อายุ 67 ปี กลุ่มอนุรักษ์อนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง กล่าวว่า วันนี้ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็งได้จัดกิจกรรมเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้น เพราะว่าเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาทางบริษัทฯได้เอาของแจกมาให้เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงเพ็งและทางเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงเพ็งได้ทำหน้าที่ในการเอาของจากบริษัทฯมาแจกชาวบ้าน ซึ่งทางกลุ่มตั้งคำถามว่าเป็นบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลที่จะต้องมาแจกของบริษัทหรือไม่ ที่ผ่านมาก็ควรจะรู้ว่าทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็งคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลมาตลอดระยะเวลามา 4 ปีแล้ว ซึ่งวันที่  13  ธ.ค.นี้ ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็งจะเข้าไปถามปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงเพ็งและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่ารับใช้ทุนหรือรับใช้ประชาชนกันแน่ ซึ่งทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็งยังกล่าวให้กำลังใจพี่น้องจะนะที่ออกมาคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมในการปกป้องบ้านเกิด ปกป้องทรัพยากรและวิถีชีวิตเหมือนกับกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายกำลังดำเนินการอยู่
ส่วนน.ส.นวพร เนินทราย อายุ 32 ปี กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง ได้อ่านแถลงการณ์ ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า  เป็นเวลา 4 ปีแล้วที่กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายตำบลเชียงเพ็งได้ยืนหยัดคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ตั้งในพื้นที่ตำบลน้ำปลีก ในขณะที่โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ดำเนินการมาปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว เพราะพื้นที่เราอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลได้เปิดดำเนินการเรารับรู้ได้ถึงมลภาวะที่เกิดจากเสียงดังรบกวนวิถีชีวิตปกติสุขของชุมชน  การเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเพื่อคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เรามีจุดยืนที่ชัดเจนในการปกป้องวิถีชีวิตบ้านเกิด ปกป้องทรัพยากร แต่รัฐบาลไม่เคยที่จะฟังเสียงของชาวบ้าน ในทางกลับกันยังเปิดช่องทางเอื้อให้กับทุน  ตลอดจนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศในครั้งนี้ซึ่งจะทำให้ภาคอีสานมีนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ มีกลุ่มโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานซึ่งเกิดจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกหลายประเภทภายในพื้นที่เดียวกันในพื้นที่ 13 จังหวัดของภาคอีสาน นับเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ขนาดใหญ่จากนโยบายรัฐ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่และสภาพแวดล้อมอย่างกว้างขวาง

 สิ่งสำคัญจะต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ก่อน ไม่ใช่แค่การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นรายโครงการเหมือนที่ผ่านมา รวมถึงการกำหนดนโยบายที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร และเมื่อประชาชนในแต่ละพื้นที่ติดตามข้อมูลโดยยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสดงความกังวลในเรื่องผังเมือง พื้นที่เปราะบางหรือพื้นที่ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ผลกระทบต่อวิถีชีวิต ความมั่นคงทางอาหาร และผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ 
บทเรียนสถานการณ์ปัญหาโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการที่ผ่านมาทั้งการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 และ     ครั้งที่ 2 เพื่อนำไปสู่การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA นั้น ไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่แต่เป็นเพียงพิธีกรรมของบริษัทที่ปรึกษาที่ทำให้ครบกระบวนการเท่านั้น ถึงแม้ว่าโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลจะดำเนินการเป็นปีที่ 3 แล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ชุมชนรับรู้ได้ในปัจจุบันคือผลกระทบ 
ดังนั้นทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็งจึงเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการ “ประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยด้านชุมชน ดิน น้ำ ป่า อากาศ และคุณภาพชีวิต” เพื่อแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น 

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งโรงงานน้ำตาล

โดย  - ศูนย์ข่าวภาคอีสาน 

logoline