svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดวิสัยทัศน์ "ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" เจ้าของฉายา "The Disruptor"

11 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชื่อนี้เป็นที่จับจ้อง หลัง“ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” ประกาศลาออกจากตำแหน่ง “อธิการบดี สจล.” หลังดำรงตำแหน่งเป็นเวลากว่า 6 ปี ก่อนหน้านี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ได้รับฉายา "The Disruptor" จากการพัฒนาการศึกษา เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ มากมาย

เฟซบุ๊กแฟนเพจ KMITL ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประกาศข่าวระบุว่า ในการประชุมสภาสถาบันฯ วาระพิเศษ ได้มีมติอนุมัติให้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลาออกจากตำแหน่ง อธิการบดี มีผลนับตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2564 หลังดำรงตำแหน่งสองสมัยเป็นเวลากว่า 6 ปี 7 เดือน ทั้งนี้ มีกระแสข่าวว่าหลังจากลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีแล้ว ศ.ดร.สุชัชวีร์ จะเดินหน้าลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.

 

ชวนคอข่าวชาวเนชั่นออนไลน์ ย้อนกลับไปอ่านบทสัมภาษณ์ของ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ที่ให้สัมภาษณ์กับ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจในปี 2562 ในขณะที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา กับเป้าหมายการดิสรัป ทั้งการศึกษาและการเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นสมาร์ทซิตี้

เปิดวิสัยทัศน์ "ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" เจ้าของฉายา "The Disruptor"

เปิดปูมหลัง-ทำความรู้จัก

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือที่หลายคนคุ้นชื่อ “พี่เอ้” หนุ่มหล่อ เท่ สมาร์ทวิสัยไกลในวัย 49 ปี เริ่มจากการเป็นผู้ช่วยอธิการบดีที่อายุน้อยที่สุดในวัย 31 ปี หลังจากนั้น เป็นคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ในวัย 38 ปี และเข้ารับตำแหน่ง อธิการบดี สจล. เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ปี 2558

 

ผลงานที่โดดเด่นในการดิสรัปด้านการศึกษา ที่ได้เห็นกันประจักษ์ชัด ก็คือ การจับมือกับ คาร์เนกี เมลลอน มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเอไอ ตั้งสถาบันร่วมระดับอุดมศึกษาภายใต้ชื่อ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) โดยใช้นวัตกรรมเป็นตัวนำจากเทคโนโลยีของ ‘คาร์เนกี เมลลอน’ พร้อมกับการตั้งคณะแพทย์ศาสตร์ ซึ่งยากมากในกฎระเบียบใหม่ ทำให้ที่ สจล. เป็นคณะแพทย์แห่งที่ 22 ของไทย

เปิดวิสัยทัศน์ "ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" เจ้าของฉายา "The Disruptor"

รวมถึงการตั้ง “ศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19” เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19)

 

“โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร” (KMCH) โรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์แบบครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้การบูรณาการณ์ศาสตร์ความรู้หลากคณะร่วมกับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เพื่อเพิ่มโอกาสทางการรักษา ลดการนำเข้าเครื่องมือจากต่างประเทศ ทำให้ได้รับฉายาว่า "The Disruptor" เมืองไทย

 

ศ.ดร.สุชัชวีร์ เปิดเผยกับ กรุงเทพธุรกิจ ว่า

"ฉายา The Disruptor ผมไม่รู้ที่มาที่ไป แต่หลายคนพูดจนติดปากว่า เป็นนักเปลี่ยนแปลง ที่กล้าทำในสิ่งที่คนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ และทำได้จริง ทำออกมาเห็นเป็นรูปธรรมจริง ตอนที่เราบอกว่าจะชนะสิงคโปร์ มีคนบอกว่า เงินก็ไม่มี ไม่มีทางเป็นไปได้ กลายเป็นแรงขับของเรา จนทุกวันนี้ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน มาร่วมตั้งสถาบันระดับอุดมศึกษาภายใต้ชื่อ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University)” ที่สจล. เป็นแห่งที่ 2 จากคอนแทค 5 ปี"

 

“การจะเป็น Disruptor คือ เหนือคำบรรยาย ดูเป็นไปไม่ได้ เช่น เอาชนะสิงคโปร์ได้ ตั้งคณะแพทย์ หรืออธิการมาเต้นแร็พ อธิการฯ ปลอมตัวเป็นนักศึกษา ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นไปได้ แต่มันเป็นไปได้”

   เปิดวิสัยทัศน์ "ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" เจ้าของฉายา "The Disruptor"

เป้าหมายใหญ่...เปลี่ยน “กรุงเทพฯ” เป็น “สมาร์ทซิตี้”

ย้อนไปอ่านบทสัมภาษณ์ เมื่อช่วงประมาณปี 2562 จะได้เห็นว่าเป้าหมายของ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ ให้เป็นสมาร์ทซิตี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ในตอนนั้นไดปิดเผยไว้ว่า อยากเห็นกรุงเทพฯ เปลี่ยน ผมอยากให้คนกรุงเทพฯ ไม่ต้องถูกรังแกจนเคยชิน พูดว่ารถในกรุงเทพฯ ยังไงก็ติด เห็นน้ำท่วมในซอยบ้านจนคิดว่ามันไม่มีทางที่น้ำจะไม่ท่วมจนชิน ขณะที่โตเกียวคน 40 กว่าล้านคน หนาแน่นกว่ากรุงเทพฯ แต่รถไม่ติด เจอพายุไต้ฝุ่น 7-12 ลูกต่อปี หนักกว่าไทย ทำไมน้ำไม่ท่วม พื้นที่ต่ำกว่าแม่น้ำอ่าวโตเกียวตั้งเยอะ แต่น้ำไม่ท่วม ทำไมเขาทำได้ ?

เปิดวิสัยทัศน์ "ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" เจ้าของฉายา "The Disruptor"

เปิดวิสัยทัศน์ "ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" เจ้าของฉายา "The Disruptor"

ลอนดอน ขนาดใหญ่เท่ากรุงเทพฯ ตอนนี้คนขี่จักรยานไปทำงาน กรุงเทพฯ บอกว่าทำไม่ได้ร้อน สิงคโปร์ร้อนกว่า เพราะอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรแต่เขาเดิน ส่วนประเทศไทยจะมีพายุเข้าก็ไม่รู้ก่อน ฟุตบาธเดินไม่ได้ ไม่ใช่เพราะร้อนแต่มันเดินไม่ได้จริงๆ เราควรใช้ความฉลาดของเทคโนโลยี AI มาแก้ไขเรื่องของการจราจร ตอนนี้เขาทำมาทุกเมืองแล้ว สิงคโปร์ก็เป็น Smart Nation โตเกียวก็ทำแล้ว ลอนดอนไปถึงไหนแล้ว และเทคโนโลยีปัจจุบันก็ทั้งถูกและเชื่อถือได้

 

มุ่งใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา"ฝนตก-รถติด"

 

ศ.ดร.สุชัชวีร์ เผยอีกว่า สจล. มีศูนย์พยากรณ์อากาศ ใช้งบประมาณเพียง 5 ล้านบาท แต่พยากรณ์อากาศแม่นมาก สามารถรู้ก่อน 24 ชั่วโมงว่าฝนจะตกไล่ตั้งแต่หนองจอก มีนบุรี เข้าไปที่รามคำแหง รัชดา เพลินจิต เพราะฉะนั้น สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ว่า กรุณาไปทำงานช้าสัก 2 ชั่วโมง รถก็ไม่ติด หรือ อาจจะให้ทำงานที่บ้าน

 

นอกจากนี้ เรื่องเปิดปิดประตูน้ำ เอาไวไฟตัวเล็กๆ ไปติด ก็รู้แล้วว่า ตัวสูบน้ำทำงานดี ไม่ดีอย่างไร สามารถดูผ่านมือถือได้เลย เพราะขนาดเปิดไฟเปิดแอร์ที่บ้าน มือถือยังทำได้ นั่นคือ สมาร์ทซิตี้จริงๆ ใช้บริหารเมือง ทำให้ประชาชนมีความปลอดภัย แก้ปัญหาที่ซ้ำซาก แจ้งก่อนที่ฝนจะตก แก้ปัญหาน้ำท่วมก่อนน้ำจะมา หรือแก้ปัญหารถติด ด้วยการบริหารการจราจร

เปิดวิสัยทัศน์ "ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" เจ้าของฉายา "The Disruptor"

เผยแรงบันดาลใจ ในการก้าวสู่การเป็น Disruptor

 

“ตอนเป็นเด็ก เราแสวงหา Role Model เคยบอกพ่อว่า อยากไปเหยียบดวงจันทร์เหมือน นีล อาร์มสตรอง มีความฝัน มีจินตนาการ พ่อไม่เคยบอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่พ่อบอกว่าขอให้ตั้งใจเรียนให้ดี ก็สามารถเป็นนักบินอวกาศได้ ด้วยความที่พ่อเป็นครู จึงชอบซื้อหนังสือ เช่น National Geographic มีภาพสวยๆ เราเห็นตึกเอ็มไพร์สเตท และมีวิศวกรถ่ายรูปข้างหน้ารู้สึกว่าเท่มาก เห็นคนที่สร้างสะพานโกลเด้นเกท และขึ้นไปบนยอดสะพาน อยากจะเป็นอย่างเขาบ้าง อยากจะสร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้นบนโลกและยืนอยู่ตรงนั้นอ่านหนังสือไปเรื่อยๆ เราก็ชอบคนนั้นคนนี้เป็น Role Model”

 

เมื่อถามว่า ทุกวันนี้คิดว่ามาถึงจุดสูงสุดในชีวิตแล้วหรือยัง ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า ไม่มีใครรู้ได้ว่า จุดสูงสุดของเราอยู่ที่ตรงไหน ถามว่าพอใจไหม บอกได้ว่าที่สุดเลย ทำไมวันนี้เราถึงทำงานหนักได้ทุกวัน พอล้มตัวลงนอนก็หลับ นอนน้อยแต่หลับได้ วันละ 4-5 ชั่วโมง ทุกวันก่อนนอนผมคิดว่าเรามาถึงวันนี้ได้อย่างไร

 

จากเด็กต่างจังหวัดเด็กบ้านนอก เคยเรียนโรงเรียนระยองวิทยาคมเป็นที่หนึ่งของจังหวัด แต่ในกรุงเทพฯ เขาเก่งกว่าเราเยอะมาก สู้กันไม่ได้ ทำให้เราคิดว่ามาถึงวันนี้ได้ ไปเรียนมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลก ได้เป็นศาสตราจารย์ เป็นนายกวิศวกรรมสถาน นายกสภาวิศวกร เป็นอธิการบดี ได้รางวัลมากมาย รู้สึกว่าเราภูมิใจ ดีใจ เพราะฉะนั้นพรุ่งนี้เราอยากจะทำอะไรให้คนอื่นบ้าง

 

เปิดวิสัยทัศน์ "ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" เจ้าของฉายา "The Disruptor"

 

ครั้งหนึ่ง ทางศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับ The People เมื่อ 2 กรกฎาคม 2562 บทสัมภาษณ์ในครั้งนั้น เสนอมุมมอง ด้วยวิสัยทัศน์ที่ก้าวล้ำไว้อย่างน่าสนใจ ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ให้ได้รับทราบกัน เนื้อหาระบุว่า

...

The People : วิศวกรอุโมงค์จะมาเปลี่ยนกรุงเทพได้อย่างไร

ดร. สุชัชวีร์ : ตั้งแต่วันที่ผมเรียนเกี่ยวกับเรื่องการก่อสร้างและไฟฟ้าใต้ดิน ยิ่งเรียนยิ่งมีความเชื่อมั่นว่าใต้ดินเป็นที่ที่เรามองข้ามไป เราสามารถใช้ประโยชน์ได้มหาศาลโดยเรายังคงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมข้างบนได้ โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวต้นไม้สูง ๆ ลองจินตนาการว่าถ้าเกิดเรามียางลบวิเศษ ถนนเพลินจิตที่วันนี้เป็นบีทีเอส ได้เปลี่ยนไปลงดิน แล้วเรามาขยายฟุตบาท เพราะเราไม่ได้เสียเกาะกลางจราจร แล้วปลูกต้นไม้สูง ๆ มีทางเดินกว้าง ๆ ช่วงคริสต์มาสเราก็จะได้ต้นคริสต์มาสสูง ๆ ไม่ได้ต้นคริสต์มาสแค่ศอกเดียว เพราะสูงกว่านี้ติดคาน แล้วพื้นที่ข้างล่างเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน นอกจากนั้น ยังได้แหล่งขายของน่ารัก ๆ เหมือนญี่ปุ่นเกาหลี เหมือนกับตลาดรถไฟ แต่อยู่ใต้ดินหมด แล้วสามารถเชื่อมโยงกับห้างสรรพสินค้าออฟฟิศต่าง ๆ ได้ กรุงเทพฯ มันจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน แต่เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วเราก็อยากให้โครงการต่อ ๆ ไปน่าจะคิดเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ใต้ดินมากขึ้น เท่านั้นไม่พอการทำรถไฟฟ้าบนดินน่าจะไปทำข้างนอก เพราะมีพื้นที่ให้เลี้ยวตรงไหนก็ได้ แต่ในเมืองถ้าเกิดจะหักเลี้ยวต้องไปทุบตึก เพราะหักศอกไม่ได้ต้องเลี้ยวโค้งกว้าง ๆ ใต้ดินมีข้อได้เปรียบเวลาจะเลี้ยว สามารถกดให้ต่ำแล้วก็เลี้ยวได้ โดยที่ผลกระทบต่อตึกน้อยมาก ๆ นั่นคือส่วนหนึ่ง 

 

ประเทศต่าง ๆ ในโลก วันนี้ในเมืองจะเป็นระบบใต้ดินแทบทั้งสิ้น นอกเมืองถึงจะเป็นลอยฟ้าหรือจะเป็นแบบทางราบ อันนั้นคือเรื่องของการขนส่งมวลชน นอกจากการใช้พื้นที่ใต้ดินช่วยเรื่องรถติด โดยให้คนหันมาใช้ขนส่งมวลชนให้มากขึ้นแล้ว ยังช่วยเรื่องปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากได้ เพราะปัจจุบันกรุงเทพฯ ฝนตกก็ท่วมทุกที เมื่อสัปดาห์ก่อนปีก่อนเราก็ติดอยู่ในรถ ตั้งแต่คนต้องซื้อคอมฟอร์ท 100 ตั้งแต่หลาย ๆ ท่านยังไม่เกิด จนมาถึงวันนี้ยังหน้ามืดอยู่เหมือนเดิม เดี๋ยวนี้ต่างประเทศเขาใช้พื้นที่ใต้ดินเป็นที่เก็บน้ำชั่วคราว กรุงเทพฯ เวลาฝนตกมาน้ำบนถนนถนนก็ไหลลงไปซอย ซอยเลยน้ำท่วมครึ่งแข้ง เพราะว่าแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่สูงกว่าคลอง สูงกว่าถนน กรุงเทพต้องใช้การสูบน้ำขึ้นตลอด เมื่อไหร่เครื่องสูบน้ำมีปัญหาฟิวส์ขาดบ้างเสียบ้างไม่มีความเชื่อมโยงบ้าง กรุงเทพฯ เลยจมน้ำทุกครั้งซ้ำซาก

 

ประเทศอื่นก็เหมือนเราอย่างกรุงโตเกียว พื้นที่ต่ำเพราะคนสูบน้ำมาก่อนสมัยในอดีต เจอพายุไต้ฝุ่นน้ำท่วมคนตายเป็นพัน ๆ คนยิ่งกว่ากรุงเทพฯ อีก เขาคิดใหม่คือแทนที่จะสูบน้ำขึ้นอย่างเดียว เขาทำปล่องไว้ตามจุด พอตกมาน้ำจะไหลลงปล่อง จากนั้นก็เข้าไปเก็บอยู่ที่แท็งก์น้ำคอนกรีตเสริมเหล็กใต้ดิน ที่ได้น้อมนำแนวทางแก้มลิงของพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 แต่บนดินไม่มีพื้นที่แก้มลิงให้เก็บน้ำ เลยทำแก้มลิงเป็นแท็งก์น้ำคอนกรีตเสริมเหล็กใต้ดิน น้ำฝนตกมาน้ำก็ลงแนวดิ่งไม่ได้ต้านแรงโน้มถ่วงตามธรรมชาติ พอฝนหยุดตกก็ค่อยสูบน้ำออกขึ้นมาคลอง จากคลองไปแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเล แบบนี้การใช้พื้นที่ใต้ดินเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทำได้แน่นอนครับ

เปิดวิสัยทัศน์ "ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" เจ้าของฉายา "The Disruptor"

 

The People : โครงการแบบนี้มีความเป็นไปได้แค่ไหน

ดร. สุชัชวีร์ : หนึ่งคือผมไม่ได้คิดคนแรก เรื่องแก้มลิงเราได้นำแนวทางพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ส่วนแท็งก์น้ำขนาดยักษ์คอนกรีตเสริมเหล็กใต้ดิน ที่โตเกียวทำเสร็จมาตั้งนาน ทำให้โตเกียวฝนตกมากกว่ากรุงเทพฯ พื้นที่ต่ำกว่าแห้งสนิท เพราะฉะนั้นมีความเป็นไปได้ แล้วถามว่าทำในเมืองไทยได้ไหม อุโมงค์สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเราทำเสร็จมาเกือบจะ 20 ปี สถานีสีลมลึกมาก ใหญ่กว่าแก้มลิงใต้ดินอีก ตอนนี้เทคโนโลยีของไทยวิศวกรไทยทำได้มาตั้งนานแล้ว

 

ปัญหาตอนนี้คือ ความเข้าใจในปัญหา เมื่อเราไม่เข้าใจปัญหาแล้ว เราก็ไม่รู้จะแก้ตรงไหน สองคือความใส่ใจ คือหนึ่งต้องเข้าใจก่อน ว่าปัญหาเป็นอย่างไร กรุงเทพฯ อยู่ต่ำกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา ทุกอย่างมันต้องอยู่ด้วยระบบสูบน้ำ พื้นที่เป็นยังไง การใช้เครื่องสูบน้ำขนาดเล็กขนาดใหญ่ให้มีความเชื่อมโยงกันเป็นอย่างไร ต้องเข้าใจก่อน จากนั้นใส่ใจ ใส่ใจคือพอรู้ว่าต้องใช้เครื่องสูบน้ำ ถ้าเกิดตัวหนึ่งมันเสียตัวนั้นเสียไม่มีเชื่อมโยงกันแล้วยังไงก็จมน้ำอยู่ดี และสุดท้ายคือมองให้กว้างว่าโลกวันนี้เขาใช้เทคโนโลยีอะไรกันบ้าง หลังจากนั้นก็นำมาใช้ในประเทศไทย ตัวอย่างก็คือการทำแก้มลิงคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นแท็งก์น้ำ เหมือนเป็นแก้มลิงใต้ดินในกรุงเทพฯ ตรงนี้แหละทำได้ แต่ถ้าเกิดว่าไม่เข้าใจแล้วไม่ใส่ใจ ไม่มองกว้าง เพราะไม่รู้เทคโนโลยี มันก็ยังไม่เกิดเสียที

 

เปิดวิสัยทัศน์ "ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" เจ้าของฉายา "The Disruptor"

 

“ความภาคภูมิใจของเรา กลายเป็นพลังที่ว่าเราน่าจะทำได้ดีขึ้น น่าจะทำอะไรให้คนได้เห็นมากขึ้น แก้ปัญหาที่ยากขึ้น ด้วยความมั่นใจมากขึ้น และยอมรับกับความล้มเหลวมากขึ้น สร้างพลังใจขึ้นมา ยิ่งมีปัญหาใจก็ยิ่งเข้มแข็ง เพราะฉะนั้น ความที่เราเจอปัญหาต่างๆ ทำให้ใจของผมแกร่งขึ้นทุกวัน และทำให้เราเข้าใจว่าปัญหามันเป็นบวก ยิ่งเจอปัญหามาก ยิ่งทำให้ได้พัฒนาตัวเอง” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย

เปิดวิสัยทัศน์ "ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" เจ้าของฉายา "The Disruptor"

ขอขอบคุณ : กรุงเทพธุรกิจ / The People 

 

 

 

 

 

logoline