svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นักวิจัย เผย "โอมิครอน" ไม่กระทบการผลิตวัคซีนใบยา

09 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักวิจัย ที่ผลิตวัคซีนโปรตีนจากพืชใบยาสูบ หรือ "วัคซีนใบยา" ไม่กังวลต่อการระบาดของไวรัสายพันธุ์โอมิครอน เพราะทีมวิจัยได้เดินหน้าคู่ขนานทั้งการพัฒนาวัคซีนในมนุษย์ และการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

9 ธันวาคม 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.วรัญญู พูลเจริญ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในทีมคณะวิจัย "วัคซีนใบยา" ป้องกันโควิด-19 ผลิตจากใบพืช เปิดเผยกับเนชั่นออนไลน์ว่า ขณะนี้วัคซีนใบยาอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบความปลอดภัยในมนุษย์ เป็นการทดสอบในเฟสที่ 1 โดยฉีดให้กับกลุ่มคนอายุ 18-60 ปี เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผลมีความปลอดภัย ขณะนี้กำลังรอผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 

นักวิจัย เผย "โอมิครอน" ไม่กระทบการผลิตวัคซีนใบยา

ขณะเดียวกันระยะเวลาที่ผ่านมาทีมวิจัยได้พัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 ที่จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดียิ่งขึ้น จึงได้เตรียมการทดสอบในมนุษย์ คาดว่าจะเริ่มได้ในเดือนมกราคมปี 2565 โดยวัคซีนทั้ง 2 ตัวนี้ ทีมวิจัยกำลังศึกษาคุณภาพว่าชนิดไหนมีประสิทธิภาพดีที่สุด ก่อนจะเข้าสู่การทดสอบในเฟสที่ 2 ในช่วงเดือนมีนาคมปี 2565 และหลังจากเฟส 2 จะต้องดูว่าวัคซีนที่ผลิตขึ้นมาสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ในระดับไหน ถ้าผลออกมาด้วยดีก็จะสามารถเข้าสู่เฟสที่ 3 ได้ในช่วงกลางปีหน้า และถ้าหากผลการทดลองประสบความสำเร็จก็จะสามารถผลิตวัคซีนให้คนไทยได้ใช้ในช่วงปลายปีหน้า โดยกำลังการผลิตสามารถผลิตได้ 1-5 ล้านโดสต่อเดือน สูงสุดคือ 60 ล้านโดสต่อปี

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.วรัญญู ยังกล่าวถึงไวรัสโอมิครอน ที่กำลังมีการระบาดอยู่ทั่วโลกถึงผลกระทบต่อการวิจัยการผลิตวัคซีนใบยาว่า ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาก็เกิดไวรัสหลายสายพันธุ์เข้ามาในไทย เพราะมีการกลายพันธุ์ของไวรัส ทางทีมวิจัยได้มีการเตรียมพร้อมและพัฒนาในการผลิตตัวโปรตีนของไวรัสที่มีการกลายพันธุ์และนำมาทดสอบในสัตว์

นักวิจัย เผย "โอมิครอน" ไม่กระทบการผลิตวัคซีนใบยา

ขณะเดียวกัน ทีมวิจัยต้องตรวจสอบเมื่อไวรัสมีการกลายพันธุ์ ซึ่งนั่นไม่ได้แปลว่าวัคซีนจะไม่ได้ผล จึงจำเป็นต้องมีการทดสอบก่อน ซึ่งเมื่อไหร่ที่มีไวรัสเข้ามา ทีมวิจัยมีการทดสอบวัคซีนจะนำเอาซีรั่มในสัตว์ทดลองที่ฉีดวัคซีนเข้าไป มาทำการทดสอบ ถ้าวัคซีนในทีมวิจัยยังสามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์นั้นได้อยู่ก็ไม่เป็นปัญหาที่ต้องปรับเปลี่ยนสูตร แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ไวรัสมีการกลายพันธุ์แล้ววัคซีนไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่จะไปปกป้องไวรัส ก็สามารถพัฒนาตัวโปรตีนใหม่ได้

สำหรับการพัฒนาวัคซีน ระยะเวลาจะไม่นานเหมือนตอนวิจัยครั้งแรก เนื่องจากวัคซีนใบยา แค่เปลี่ยนยีนส์บางส่วนสำหรับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ซึ่งกระบวนการผลิตทุกอย่างยังเหมือนเดิม ก็ไม่เป็นจำที่จะต้องไปทดสอบใหม่เหมือนเดิมทั้งหมด

 

รองศาสตราจารย์ ดร.วรัญญู ยังบอกอีกว่า ในแง่การทดสอบวัคซีนใบยา ซึ่งเป็นวัคซีนที่ทีมวิจัยผลิตขึ้นเอง จะต้องทำการทดสอบในอาสาสมัครที่ไม่เคยติดเชื้อโควิดและไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน ซึ่งจะมีผลกระทบอยู่บ้าง เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก หาอาสาสมัครได้ยากขึ้น ทีมวิจัยกำลังวางแผนในเฟสที่ 2 ที่ต้องใช้คนจำนวนมากขึ้น จะทำการทดสอบในต่างจังหวัดแทน และจะต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกว่า การทดสอบทั่วโลกทำอย่างไรถ้าหากประชาชนฉีดวัคซีนกันเกือบทั้งหมด ก็จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาทำการวิจัยเช่นเดียวกัน 

นักวิจัย เผย "โอมิครอน" ไม่กระทบการผลิตวัคซีนใบยา

logoline