svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ไบเดน - ปูติน เจรจาหวังลดความตึงเครียดทางทหารกรณียูเครน

08 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผู้นำสหรัฐและรัสเซียนั่งลงคุยกันเป็นครั้งที่ 2 คราวนี้ประเด็นใหญ่เป็นเรื่องที่สหรัฐบอกว่ารัสเซียเตรียมบุกยูเครน ในขณะที่ฝ่ายรัสเซียบอกว่าเรื่องแบบนี้เป็น " ข่าวปลอม "

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้จัดการเจรจา ซึ่งไม่ค่อยได้เกิดขึ้นบ่อยนักระหว่างผู้นำทั้งสอง ท่ามกลางความตึงเครียดที่บริเวณชายแดนด้านตะวันออกของยูเครน

 

ในการเจรจาผ่านระบบวิดีโอลิงก์ ไบเดนได้แสดงถึง "ความกังวลอย่างยิ่ง" ต่อการรวมพลของทหารรัสเซียใกล้กับยูเครน รวมถึงขู่รัสเซียเรื่องการตอบโต้ด้วยมาตรการทาง "เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและอื่น ๆ" 

 

ขณะที่มอสโกบอกก่อนหน้านี้ว่า มีความจำเป็นที่จะต้องมีการเจรจา เนื่องจากความตึงเครียดนั้น "เกินเลยขอบเขต" ไปแล้ว

 

มีรายงานว่ารัสเซียได้โยกทหารจำนวนมากมายังชายแดน แต่รัสเซียได้ยืนยันว่าไม่มีเจตนาที่จะโจมตียูเครน และทั้งหมดเป็นการดำเนินการอยู่ภายในฝั่งของรัสเซีย

 

ขณะเดียวกัน รัสเซียก็เรียกร้องการรับประกันว่า ยูเครนจะไม่เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มนาโต้ แต่มหาอำนาจตะวันตกบอกว่า รัสเซียควรเคารพอธิปไตยของยูเครนเรื่องการตัดสินใจเข้าร่วม หรือไม่เข้าร่วมกับกลุ่มใด ๆ 

 

การเจรจาเริ่มต้นเมื่อ 10:07 น. ตามเวลาตะวันออกของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นช่วงเย็นของเมื่อวาน ตามเวลามอสโก 

 

การเจรจาดำเนินการผ่านระบบวิดีโอลิงก์ที่ปลอดภัย ซึ่งรัฐบาลสหรัฐชุดก่อนได้จัดตั้งเอาไว้ แต่ไม่เคยถูกใช้มาก่อน

 

ภาพที่นำออกเปิดเผย เป็นภาพการทักทายที่เป็นมิตรระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และรัสเซีย หลังจากนั้น การเจรจาดำเนินไปเป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยไม่มีการเปิดให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องได้เข้าฟัง

 

ผู้นำสหรัฐ เข้าร่วมประชุมจากทำเนียบขาว ส่วนปูตินอยู่ที่ที่พักของเขาในรีสอร์ทของเมืองโซซิ ทางตอนใต้ของรัสเซีย

ไบเดน - ปูติน เจรจาหวังลดความตึงเครียดทางทหารกรณียูเครน

 

 

ในการแถลงหลังการเจรจา ทำเนียบขาวบอกว่า “ประธานาธิบดีไบเดนแสดงความกังวลอย่างมากของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรยุโรปของเราเกี่ยวกับการเพิ่มกำลังของรัสเซียรอบยูเครน และแสดงให้เห็นชัดเจนว่าสหรัฐฯ และพันธมิตรของเราจะตอบโต้ด้วยเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและอื่น ๆ มาตรการในกรณีที่เรื่องนี้ลุกลาม "

“ประธานาธิบดีไบเดนย้ำถึงการสนับสนุนของเขาต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน และเรียกร้องให้มีการลดระดับความรุนแรงและกลับสู่การเจรจาต่อรอง”

 

ทำเนียบขาวบอกว่า ประธานาธิบดีทั้งสองยังได้หารือเกี่ยวกับ "การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ-รัสเซียเกี่ยวกับเสถียรภาพเชิงยุทธศาสตร์ การสนทนาแยกต่างหากเกี่ยวกับแรนซัมแวร์ ตลอดจนการทำงานร่วมกันในประเด็นระดับภูมิภาค เช่น อิหร่าน"

 

ฝ่ายทำเนียบเครมลินบอกหลังการเจรจาที่ “ตรงไปตรงมาและเป็นไปในเชิงธุรกิจ”  ว่ามอสโก “สนใจอย่างจริงจัง” ในการได้รับ “การค้ำประกันทางกฎหมายที่น่าเชื่อถือและมั่นคง” เรื่องการไม่ขยายตัวเพิ่มเติมของนาโต้มาทางตะวันออกและการติดตั้ง “ระบบอาวุธโจมตีเชิงรุกในประเทศที่อยู่ติดกับรัสเซีย”

 

เมื่อถูกถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของไบเดน บอกว่า สหรัฐฯ "ไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาหรือ ยอมถอยใด ๆ "

 

ต่อข้อกล่าวหาต่าง ๆ ของฝ่ายไบเดน ผู้นำรัสเซียตอบโต้ว่า เป็นฝ่ายของนาโต้ต่างหากที่ “พยายามอย่างอันตรายในการพิชิตดินแดนยูเครน” และ “สร้างศักยภาพทางทหารที่ชายแดนของเรา”

 

เรื่องนี้สอดคล้องกับที่รัฐมนตรีต่างประเทศ เซรเกย์ ลาฟรอฟ ตั้งข้อสังเกตเมื่อวันก่อนว่า "หน่วยทหารและอาวุธสำคัญจากประเทศนาโต รวมทั้งอเมริกาและอังกฤษกำลังถูกย้ายเข้ามาใกล้พรมแดนของเรามากขึ้น"

ไบเดน - ปูติน เจรจาหวังลดความตึงเครียดทางทหารกรณียูเครน

ในการเจรจา ปูตินยังได้ยกตัวอย่างที่เฉพาะเจาะจงเพื่อแสดงถึงนโยบาย "ทำลายล้าง" ของยูเครน ซึ่งเขาบอกว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อรื้อข้อตกลงมินสค์ และการเจรจา "รูปแบบนอร์มังดี" โดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ เขายังแสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับ “การกระทำที่เป็นการยั่วยุ” โดยรัฐบาลยูเครนต่อผู้คนในภูมิภาคดอนบาส ซึ่งเป็นพื้นที่ของกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนทางด้านตะวันออกของยูเครนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย 

 

ไบเดนและปูตินเคยพบกันครั้งล่าสุดที่สวิตเซอร์แลนด์เมื่อเดือนมิถุนายน แต่การประชุมสุดยอดครั้งนั้น มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย นอกเหนือจากการตกลงที่จะส่งเอกอัครราชทูตของแต่ละฝ่ายกลับไปทำงานตามเดิม และเริ่มการเจรจาเรื่องการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์

 

ในการประชุมทางโทรศัพท์เมื่อคืนวันจันทร์ ทำเนียบขาวบอกว่าผู้นำสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ได้กำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน "เพื่อกำหนดการสร้างความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญและร้ายแรงต่อเศรษฐกิจรัสเซีย" หากรัสเซียเปิดฉากการบุกยูเครน คาดว่าไบเดนจะพูดคุยกับผู้นำยุโรปทั้ง 4 อีกครั้งหลังจากพูดคุยกับปูติน

 

มาตรการที่เป็นไปได้ ก็รวมถึงการจำกัดธนาคารของรัสเซียเรื่องการแปลงเงินสกุลเงินรูเบิลเป็นสกุลเงินต่างประเทศ หรือแม้แต่ตัดการเชื่อมต่อรัสเซียจาก Swift  ซึ่งเป็นระบบการชำระทางการเงินระดับโลก

 

ก่อนการเจรจา Bloomberg News รายงานว่าสหรัฐฯ จะพยายามระงับระบบท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ของรัสเซียไปยังเยอรมนี ซึ่งที่จริงแล้ว สหรัฐก็พยายามทำเรื่องนี้มาก่อนที่จะเกิดกรณีปัญหาล่าสุดเสียด้วยซ้ำ

 

ก่อนหน้านี้ ฝ่ายรัสเซียต้องการการรับประกันว่ายูเครนจะไม่พยายามยึดพื้นที่ของกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดน และเตือนตะวันตกว่าอย่าข้าม "เส้นแดง" ของรัสเซียโดยการเพิ่มยูเครน เข้าเป็นพันธมิตรทางทหารของนาโต้

 

เชื่อกันว่ามีทหารรัสเซียมากกว่า 90,000 นาย มีการรวมพลอยู่ใกล้กับพรมแดนของยูเครน ทหารส่วนใหญ่อยู่ในแหลมไครเมีย ซึ่งรัสเซียยึดมาจากยูเครนและถูกผนวกเข้าเป็นดินแดนรัสเซียในปี 2557 นอกจากนั้นก็อยู่ใกล้ ๆ กับภูมิภาคดอนบาสทางตะวันออกของยูเครน ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน

 

เจ้าหน้าที่ยูเครนบอกว่ามอสโกอาจกำลังวางแผนโจมตีทางทหารในช่วงปลายเดือนมกราคม ขณะที่โฆษกเครมลิน ดิมิทรี เปสคอฟ ได้ประณามข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลตามหน้าสื่อตะวันตกพวกว่าเป็นพวก “ฮิสทีเรีย” 

 

ผู้คนมากกว่า 14,000 คนเสียชีวิตในความขัดแย้ง 7 ปี นับตั้งแต่ที่เกิดรัฐประหารล้มล้างประธานาธิบดียูเครนที่สนับสนุนรัสเซีย จนนำไปสู่การก่อกบฎในดอนบาส และการยึดไครเมียของรัสเซีย


ไบเดน - ปูติน เจรจาหวังลดความตึงเครียดทางทหารกรณียูเครน

logoline