5 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กส่วนตัวของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความ "แนะฉีดวัคซีนช่วยลดความรุนแรงหากติดโควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" โดยระบุว่า...
"นับตั้งแต่เริ่มพบและวินิจฉัยสายพันธุ์โอมิครอน ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน องค์การอนามัยโลก ประกาศเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังในวันที่ 26 พฤศจิกายน"
ความจริงโอมิครอนนี้ ได้หลบซ่อนกระจายไปหลายท้องที่ เพราะไม่ได้มีการตรวจสายพันธุ์ในผู้ป่วยทุกราย จึงไม่แปลกที่ในปัจจุบันพบมากกว่า 20 ประเทศ และเริ่มพบในผู้ที่ไม่เคยเดินทางไปแอฟริกาตอนใต้ Local transmission) เช่นในประเทศนอร์เวย์ ก็มีการระบาดภายในประเทศเกิดขึ้น อเมริกาเอง ที่มีการตรวจสายพันธุ์มาก ก็พบในประชากร ที่ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ แสดงถึงการระบาดในท้องที่แล้ว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง >> "หมอยง" อธิบายชัด ทำไมไวรัสสายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ถึงชื่อ "โอไมครอน"
การตรวจสายพันธุ์ ไม่สามารถตรวจได้ทุกราย ทุกแห่ง เพราะมีขีดจำกัด ถ้าตรวจน้อยก็จะไม่พบ "โอมิครอน" พบได้แม้กระทั่งในผู้ป่วยที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว การติดเชื้อซ้ำ จากรายงานมาจนถึงขณะนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการน้อย แต่ปริมาณไวรัสในลำคอมีปริมาณมาก เช่น ผู้ป่วยในฮ่องกง มีปริมาณไวรัสค่อนข้างสูง และได้รับวัคซีนมาก่อน และสามารถติดต่อไปยังห้องตรงข้ามได้ เหตุการณ์แบบนี้ก็เคยเกิดในประเทศไทย ในระยะแรกของสายพันธุ์เดลต้า ที่บุคคล 2 คน ได้มากักตัวในโรงแรม อยู่ชั้นเดียวกัน และก็ไม่มีหลักฐานที่จะยืนยันที่แน่ชัดได้ว่าโรคนี้ ติดต่อผ่านทางอากาศ ที่ลอยไปมาแน่นอน การสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ บางครั้งเป็นการยากที่จะบอก อาจจะมีคนกลาง สัมผัสเป็นสื่อ ข้ามไปมา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง >> "หมอยง" แนะวิธีจัดการขยะติดเชื้อจาก ATK ลดการแพร่ระบาดของโควิด-19
"โอมิครอน" แพร่กระจายได้ง่าย ระบาดได้ง่าย จึงพบได้อย่างรวดเร็ว และกระจายไปในหลายทวีป ยังไม่มีหลักฐานว่า อาการที่เกิดจากสายพันธุ์นี้ จะรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิมเดลต้า ถ้าการแพร่กระจายได้เร็วกว่า สายพันธุ์นี้จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลต้า ในเวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
จากข้อมูลถึงปัจจุบัน รวมทั้งที่มีการระบาดนอกแอฟริกาตอนใต้ จะเห็นว่าผู้ป่วยครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ และอีกประมาณครึ่งหนึ่งมีอาการน้อย ยังไม่มีผู้ป่วยที่มีอาการมาก ถึงต้องนอนโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต
การฉีดวัคซีนให้มีภูมิต้านทาน แล้วสายพันธุ์นี้ระบาด มีอาการน้อย โรคไม่รุนแรง ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต และจะเป็นการกระตุ้นภูมิต้านทาน ให้สูงขึ้นและอยู่นาน ก็จะเป็นไปตามวิวัฒนาการของไวรัส ในการปรับตัวให้ลดความรุนแรงของโรคลง เหมือนโคโรน่าไวรัสที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจในเด็ก ที่พบอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุเลย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง >> โควิด-19 ยังอยู่อีกนาน "หมอยง" ชี้ต้องสร้างภูมิคุ้มกันหมู่