svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

อัยการ ชี้ "เสาไฟกินรี" อบต. ราชาเทวะ "ฮั้ว" สำนวนดีเอสไอ-สตง. สรุปตรงกัน

02 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อัยการ ชี้ "เสาไฟกินรี" อบต. ราชาเทวะ "ฮั้ว" เป็นขบวนการ สำนวน จาก ดีเอสไอและสตง. สรุปผลออกมาตรงกันส่งถึงมือ ป.ป.ช.แล้ว

2 ธันวาคม 2564 “มหากาพย์เสาไฟกินรี” ที่สร้างกันทั่วประเทศ ราคาแต่ละต้นราคาสูง  แต่อ้างว่าเป็น “ประติมากรรม” ทำให้ไม่มีราคากลาง  กำหนดราคากันเอง ยิ่งไปกว่านั้นบางพื้นที่เป็นเสาไฟไม่มีประติมากรรม แต่ราคาก็กว่าครึ่งแสนเช่นกัน

 

โดยการไต่สวนเรื่องนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ส่งข้อมูลหลักฐานให้ ป.ป.ช.ไปก่อนแล้ว และอีกส่วนคือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ รับเป็น “คดีพิเศษ” ด้วย

 

โครงการเสาไฟฟ้ากินรี ที่ได้รับความสนใจที่สุด คือ ของ องค์การบริหารส่วนตำบล( อบต.) ราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ที่ตั้งกันถี่ยิบ ทั้งริมถนนใหญ่ ถนนซอย ริมน้ำ หรือแม้แต่ในพื้นที่รกร้างไม่มีถนน ทำสัญญากว่า 10 สัญญา งบประมาณรวมกว่า 900 ล้านบาท โดยมีเอกชนเพียงรายเดียว คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด เป็นผู้ได้รับสัญญา

นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 2

คดีอบต.ราชาเทวะล่าสุด นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 2 ที่อัยการสูงสุดมอบหมายให้สอบสวนคดีนี้ร่วมกับดีเอสไอ ได้เผยความคืบหน้ากับ Nation TV ว่า ผลการสอบสวนพบว่า บริษัทผู้ชนะการประมูล กับ “บริษัทคู่เทียบ” ที่เสนอราคาร่วมกัน มีพฤติการณ์ในการตกลงร่วมกันในการเสนอราคา เพื่อให้ได้งาน โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม อันเป็นความผิดตาม “พ.ร.บ.ฮั้วประมูล” หรือ พระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ

อัยการ ชี้ "เสาไฟกินรี" อบต. ราชาเทวะ "ฮั้ว" สำนวนดีเอสไอ-สตง. สรุปตรงกัน

ขณะนี้ ดีเอสไอ ได้ส่งสำนวนการสอบสวน 27 แฟ้มไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้งองค์คณะไต่สวนกล่าวหาผู้บริหาร อบต.ราชาเทวะ กระทำการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าว เข้าข่ายความผิดตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561

       

โดยการสอบสวนของ ดีเอสไอ ได้ข้อมูลสำคัญ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์กับ ป.ป.ช. ที่สามารถเชื่อมโยงถึง “ขบวนการ” ตั้งแต่ผู้กำหนดงบประมาณ ผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดซื้อจัดจ้าง และผู้ที่ร่วมฮั้วประมูล ทำให้รัฐเสียหายและอาจจะมีการขยายผลต่อไป

ทั้งนี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ส่งรายงานผลการตรวจสอบคดีดังกล่าวให้ ป.ป.ช.พิจารณาประกอบสำนวนผลการตรวจสอบ สรุปได้ว่า

1.ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง กองช่างของ อบต.ราชาเทวะ ไม่ได้เป็นผู้กำหนดแบบสเปคงาน แต่มีกลุ่มบุคคลจัดการมาให้เรียบร้อย

 

2.มีการกำหนดให้ผู้เสนอราคา นำเอกสารพร้อมตัวอย่างชุดเสาไฟฟ้าประติมากรรมและอุปกรณ์ครบชุดมาแสดง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาโครงการ โดยกำหนดระยะเวลาให้นำมาแสดง นับจากวันที่มีประกาศประกวดราคาห่างกันตั้งแต่ 8 วัน ถึง 1 เดือนเท่านั้น

 

สตง.เห็นว่า การกำหนดเงื่อนไขแบบนี้ มีลักษณะกีดกันไม่ให้ผู้เสนอราคารายอื่น สามารถเข้าแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรม และเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ ที่มีคุณลักษณะเฉพาะตรงตามเงื่อนไขในเอกสารการประกวดราคา ที่หน่วยงานกำหนด เนื่องจากตัวอย่างประติมากรรมต้องทำขึ้นใหม่ ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาด ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ

 

3.การจัดทำราคากลางเสาไฟประติมากรรม ไม่มีราคามาตรฐาน ทำให้มีการกำหนดราคากลางไว้ค่อนข้างสูง โดยบางโครงการมีการกำหนดราคากลางเฉพาะส่วนที่เป็น “ประติมากรรม” สูงเกือบร้อยละ 50 ของราคาเสาไฟเฉลี่ยต่อต้น 

 

4.การติดตั้งเสาไฟไม่เป็นไปตามมาตรฐานไฟฟ้าสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนใหญ่มีระยะห่างน้อยกว่ามาตรฐานที่กำหนด 

 

5.มีการติดตั้งเสาไฟประติมากรรมในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น บริเวณพื้นที่รกร้าง ซอยตัน หรือติดตั้งบนถนนลูกรัง และไม่มีถนน 

 

6.มีเสาไฟอย่างน้อย 5 โครงการ ติดตั้งในที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ธนารักษ์สมุทรปราการ  ริมคลองเทวะและคลองลาดกระบัง ในความดูแลของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสมุทรปราการ  โดยทั้งหมด อบต.ราชาเทวะ ไม่ได้ขออนุญาตก่อนติดตั้ง จึงถูกบังคับให้รื้อถอน

logoline