เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
ยังคงเป็นประเด็นดราม่าต่อเนื่อง ภายหลัง “2 พส.” ทั้งพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ และพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต แห่งวัดสร้อยทอง ประกาศกำหนดวันลาสิกขา จนสร้างความแตกตื่นให้บรรดาแฟนคลับ กระทั่งมีเสียงวิจารณ์ไปถึงเรื่องทรัพย์สินระหว่างที่ครองสมณเพศด้วยนั้น
ล่าสุดนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า ทรัพย์สินที่พระภิกษุได้มาระหว่างเป็นพระภิกษุนั้น เป็นทรัพย์สินที่ศรัทธาญาติโยม ได้ถวายไว้แก่พระภิกษุ ในฐานะผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา ทรัพย์สินเหล่านั้น มิได้ถวายเป็นของส่วนตัว แต่ถวายแด่พระภิกษุในฐานะตัวแทนพระพุทธศาสนา
ดังนั้นถือว่าทรัพย์สินเหล่านั้น มิใช่ของพระภิกษุ แต่เป็นของวัด เมื่อพระภิกษุรูปนั้นมรณภาพลงไป ทรัพย์สินเหล่านั้นจึงตกเป็นของวัด ญาติพี่น้องจะเอาไปไม่ได้ ยกเว้นไว้แต่ทรัพย์สินนั้น ที่ได้มาก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และมีการจำหน่ายทรัพย์สินระหว่างยังมีชีวิตอยู่ หรือทำพินัยกรรมไว้ ซึ่งได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1623
และได้บัญญัติไว้ในมาตรา 1624 “ทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินนั้นหาตกเป็นสมบัติของวัดไม่ และให้เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นจะจำหน่ายโดยประการใดตามกฎหมายก็ได้”
เมื่อวิเคราะห์ตามมาตรา 1623 แล้ว เบื้องต้นอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่า ทรัพย์สินที่พระภิกษุได้มาในระหว่างอยู่ในสมณเพศเป็นกรรมสิทธิ์ของพระภิกษุรูปนั้น ฉะนั้นท่านจึงสามารถจำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือโดยพินัยกรรมก็ได้ แต่หากพิจารณาถึงที่มาและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติให้ถ่องแท้แล้ว จะเห็นว่าหาเป็นดังเช่นที่กล่าวมาข้างต้นไม่ กล่าวคือ มาตรา 1623 นี้ มีที่มาจากกฎหมายลักษณะมรดก บทที่ 36 ซึ่งตราไว้ว่า
“มาตราหนึ่ง ภิกษุจุติจากอาตมภาพ และคฤหัสถ์ จะปันเอาทรัพย์มรดกนั้นมิได้ เหตุว่าเขาเจตนาทำบุญให้แก่เจ้าภิกษุเป็นของอยู่ในอารามท่านแล้ว ถ้าเจ้าภิกษุอุทิศไว้ให้ทานแก่คฤหัสถ์ๆ จึ่งรับทานท่านได้”
ข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1623 ว่า ทรัพย์สินของพระภิกษุจะตกเป็นของวัด ต่อเมื่อท่านมิได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิต หรือโดยพินัยกรรม ข้อนี้เป็นไปตามพระธรรมวินัย ซึ่งผู้ทรงศีลเป็นพระภิกษุ จะพึงบำเพ็ญจาคะ ทำบุญให้ทานแก่คนอื่น กฎหมายจึงได้บัญญัติยกเว้นไว้ให้ท่านจำหน่ายทรัพย์สินได้ ทั้งในระหว่างชีวิตและโดยพินัยกรรม
ทรัพย์ใดที่ท่านได้จำหน่ายไปแล้วเช่นนี้ ย่อมไม่ตกเป็นสมบัติของวัด ประเพณีในทางปฏิบัติของพระภิกษุที่เคร่งในพระธรรมวินัย เมื่อได้จตุปัจจัยมาเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใด ท่านมักจะจับสลากแจกจ่ายไปในบรรดาสามเณรและศิษย์วัด ไม่เก็บสะสมไว้ แม้ท่านจะทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์เมื่อท่านมรณภาพ ก็อยู่ในหลักการของการบำเพ็ญจาคะอยู่นั่นเอง ทางวัดจะโต้แย้งเอาเป็นสมบัติของวัดไม่ได้
เมื่อพิจารณาดูถึงที่มาของมาตรา 1623 ประกอบกับวัตถุประสงค์แล้วจะเห็นว่า ทรัพย์สินที่มีผู้ให้แก่พระภิกษุในขณะอยู่ในสมณเพศนั้น กฎหมายถือว่าเป็นของที่ให้ เพื่อทำบุญในพระพุทธศาสนา ไม่ได้ให้แก่พระภิกษุเป็นการส่วนตัว เพราะถ้าไม่ใช่เป็นพระภิกษุ ก็จะไม่มีคนทำบุญให้ หรือดังที่มีผู้ตั้งคำถามว่า “ถ้าไม่บวชจะได้มาหรือ”
นอกจากนี้ นายศรีสุวรรณ ยังโพสต์อีกรอบว่า “เราจะสนับสนุนให้คนมาบวชเป็นพระ เพื่อแสวงหาสะสมทรัพย์สินเงินทอง เมื่อได้มากอักโข แล้วก็ลาสิกขา นำทรัพย์นั้นติดตัวไปเสวยสุขได้หรือ”
ไม่ทันไร “พระมหาไพรวัลย์” เขียนเฟซบุ๊กตอบโต้ทันทีว่า ลุงศรีแกจะโง่แล้วขยัน หรือโง่แล้วอวดฉลาดคนเดียว อาตมาไม่มีปัญหานะ แต่ทำไมสื่อบางช่อง ต้องพลอยบื่อ พลอยบ้าจี้ตามลุงแกด้วย แล้วสื่อแบบนี้หรอ ที่สังคมจะฝากความประเทืองทางปัญญาอะไรด้วยได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มา ในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ ให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือ โดยพินัยกรรม ปล.เรียนกฎหมายมาเพื่อที่จะโง่ขนาดนี้ เสียเวลาเรียนเพื่ออะไร
“สึกเมื่อไหร่ ถ้าพูดจาส่งเดชอีก อาตมาจะเป็นฝ่ายฟ้องลุงบ้างล่ะนะ แก่กะโหลกกะลา”
จากนั้นพระนักเทศน์ชื่อดัง ยังโพสต์รัวๆ อีกว่า “ข้าวแม้แต่ทัพพีเดียว ไม่เคยใส่ให้ แต่เสร่อวุ่นวายไม่ว่างเว้น”
ขณะที่นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ ระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า #อยากบอกว่ากูอายแทน โง่แล้วขยัน เป็นคำที่คมมาก ถ้าเป็นสมัยฮิตเลอร์ คนที่โง่แล้วขยันคนพวกนี้ จะสร้างความเสียหายให้กับสังคม ฮิตเลอร์จะสั่งประหารชีวิตหมด
“พระที่บวชแล้วได้ทรัพย์สินมาในระหว่างเป็นพระ เมื่อเสร็จก็สามารถนำทรัพย์สิน กลับบ้านได้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าให้ตกเป็นของวัด ยกเว้นตายคาผ้าเหลือง”
ดังนั้นคุณศรีสุวรรณ นักร้องมืออาชีพ ควรจะอ่านตัวบทกฎหมายบ้าง ก่อนที่จะโพสต์ เดี๋ยวสังคมจะมองว่าไม่ทำการบ้านหิวแสงอย่างเดียว ลองไปดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1623 และคำพิพากษาฎีกา ที่ 903 /2536