เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
วันนี้ (30 พ.ย.) นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กล่าวถึงความคืบหน้าการกู้เงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อนำมาอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรว่า ปัจจุบันกำลังรอความชัดเจนของแต่ละสถานบันการเงิน ซึ่งล่าสุดทางกองทุนเข้าไปเจรจากับสถาบันการเงิน 10 แห่ง โดยเฉพาะธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน เนื่องจากเป็น 2 สถานบันการเงินที่เคยทำการกู้เงินด้วยในอดีตปี 2554 เพื่อนำมาดูแลราคาน้ำมันเช่นกัน ซึ่งคาดว่าได้รับเงินภายในเดือน มิ.ย. 2565 ภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่ประมาณ 2.5-3%
เบื้องต้นคาดว่า สถาบันการเงินที่ทำการให้กู้จะมีความชัดเจนภายในช่วงเดือน ม.ค. 2565 โดยจะนำเข้าที่ประชุมบริษัท และจ่ายเงินออกมาหลังจากนั้นเป็นงวด ๆ ซึ่งทางกองทุนฯ ได้วางแผนชำระเงินกู้อยู่ที่ประมาณ 3 ปี คาดว่าจะเริ่มชำระคืนได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 - 3 ของปี 2566 ซึ่งทางกองทุนมั่นใจว่าจะสามารถชำระคืนได้ครบถ้วน
นายวิศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกแล้วเห็นได้ว่า ในในปัจจุบันที่เป็นช่วงของฤดูหนาวที่ทำให้ราคาพลังงานเพิ่มขึ้นสูง จึงต้องมีการอุดหนุนราคาไปก่อน แต่ในช่วงถัดไปที่จะมีการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีกำลังการผลิตในตลาดโลกที่เพียงพอ จะส่งผลให้สามารถเก็บเงินเข้ากองทุนได้เป็นปกติและนำไปจ่ายชำระเงินที่กู้มาได้ตามกำหนด
อย่างไรก็ตามในอนาคตหากสถานการณ์พลังงานยังไม่คลี่คลาย จะมีการเตรียมแผนเพื่อขอกู้งบเงินเพิ่มเติมอีก 10,000 ล้านบาท รวมถึงใช้กลไกอื่น ๆ อาทิ ลดการชดเชยและมีการไปเจรจากับกระทรวงการคลังเพื่อใช้กลไกทางภาษี เช่น ภาษีสรรพสามิต เป็นต้น
โดยในอดีตปี 2554 กองทุนฯ เคยดำเนินการกู้เงินเพื่อนำมาอุดหนุนราคาน้ำมันแล้ว 20,000 ล้านบาท และสามารถดำเนินการชำระเงินกู้ได้ภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเสถียรภาพทางการเงินที่ดี และยืนยันว่าในช่วง 4 เดือนที่รอเงินกู้นั้น กองทุนยังมีสภาพคล่องโดยสถานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุดคงเหลือสุทธิ ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ 1,426 ล้านบาท
สำหรับสถานการณ์ราคา LPG ได้เข้าไปอุดหนุนเพื่อตรึงราคา LPG ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อลดผลกระทบค่าครองชีพประชาชนในช่วงสถานการณ์ดังกล่าวตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มีนาคม 2563 ไปแล้ว 13,251 ล้านบาท ส่งผลให้ส่วนบัญชี LPG มีวงเงินติดลบอยู่ที่ 20,974 ล้านบาท แต่ก็ยังยืนยันว่าจะมีแผนใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลราคาต่อไป โดยได้มีการขยายกรอบวงเงินอุดหนุนจากเดิมอยู่ที่ 21,000 ล้านบาท เป็น 23,000 ล้านบาท เพื่อให้ชดเชยได้ครบจนถึงสิ้นปี 2564