svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

การสอบซูนึงเข้ามหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้เริ่มแล้ว

18 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เริ่มแล้วการสอบซูนึงหรือการสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้ ที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวกำหนดความฝันและอนาคตที่โหดที่สุด เพราะใช้เวลาสอบถึง 8 ชั่วโมง ท่ามกลางเสียงสะท้อนความวิตกต่อสุขภาพจิตของนักเรียน

ทุกวันที่ 18 พฤศจิกายนของทุกปี ทั่วประเทศเกาหลีใต้จะถูกความเงียบเข้าปกคลุม เพราะนักเรียนต้องใช้สมาธิภายใต้บรรยากาศที่กดดันอย่างสูง สำหรับการสอบที่เป็นตัวชี้ชะตาและตัดสินอนาคต "College Scholastic Ability Test" (CSAT) ที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเริ่มออกมาติงแล้วว่า น่าจะต้องทบทวนการ สอบซูนึง ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2537 ได้แล้ว เพราะมุ่งเน้นที่การเรียนรู้ท่องจำมากเกินไป ทั้งยังเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพจิตในหมู่เยาวชนที่บางคนถูกพ่อแม่กดดันตั้งแต่เรียนอนุบาล 

 

ภาพ : Reuters

 

ในช่วงที่เด็ก ๆ สอบ พ่อแม่ปู่ย่าตายายก็จะพากันขอพรที่วัดนิกายเซน "โชเกซา" ในกรุงโซล เพื่อให้ลูกหลานสอบติดจะได้เข้าเรียนต่อตามมหาวิทยาลัยดัง ๆ ภายในวัดยังมีกลุ่มที่ทุ่มเทสุด ๆ ที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน โดยกลุ่มหนึ่งเพิ่งเสร็จการสวดภาวนาครบ 100 วัน และกลุ่มใหม่เข้าไปแทนที่ 

 

ภาพ : Reuters

การสอบที่ใช้เวลา 8 ชั่วโมง นักเรียนทุกคนจะต้องทำสอบวิชาหลัก ได้แก่ ภาษาเกาหลี, คณิตศาสตร์, ภาษาอังกฤษ, ประวัติศาสตร์เกาหลี และวิชารอง ได้แก่ สังคมศาสตร์, วิทยาศาสตร์, อาชีวศึกษา และภาษาต่างประเทศที่สอง หรือ อักษรจีน ซึ่งแต่ละวิชามีคะแนน 1-9 โดย 9 เป็นคะแนนสูงสุด และคะแนนเหล่านี้คือตัวกำหนดมหาวิทยาลัย, งาน, รายได้และอนาคตของพวกเขา 

 

ในวันสอบเด็ก ๆ เหมือนมีเกราะป้องกันการถูกรบกวนจากทุกทิศทาง ตลาดหุ้นเปิดช้ากว่าปกติ 1 ชั่วโมง เครื่องบินต้องปรับตารางใหม่ป้องกันการลงจอดในช่วงสำคัญ รัฐบาลขยายบริการขนส่งสาธารณะป้องกันการจราจรติดขัด และตำรวจคอยพาผู้เข้าสอบไปสถานที่สอบให้ทันเวลา 

 

ภาพ : Reuters

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ซูนึง กลายเป็นมาตรวัดความมั่งคั่ง ที่ผู้ปกครองสามารถส่งลูกหลานไปโรงเรียนกวดวิชาที่รองรับผู้แสวงหาความได้เปรียบให้ลูกหลาน ด้วยความเชื่อที่ว่าการเรียนกวดวิชาต่างจากโรงเรียนปกติ ค่าใช้จ่ายจึงถูกทุ่มไปกับการท่องจำมากกว่าความคิดสร้างสรรค์ ทั้งยังสร้างระบบการศึกษาที่กำหนด "ผู้ชนะ" หรือ "ผู้แพ้" ตั้งแต่อายุยังน้อย ไปจนถึงเข้าทำงาน ซึ่งการแก้ระบบต้องแก้ไปถึงบริษัทเอกชนด้วยว่า ต้องเปลี่ยนแนวคิดการรับพนักงานที่คัดสรรเฉพาะแต่ผู้ที่จบมหาวิทยาลัยชั้นนำเท่านั้น 

 

ภาพ : Reuters

logoline