svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ตำรวจ บันทึกภาพใบขับขี่ โดยไม่ได้รับความยินยอม "ละเมิดสิทธิฯ"

18 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กสม. ชี้ กรณีตำรวจบันทึกภาพใบขับขี่ประชาชนในด่านตรวจ โดยไม่ได้รับความยินยอม เข้าข่าย การละเมิดสิทธิมนุษยชน

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วสันต์ ภัยหลีกลี้ และ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อัจฉรา ฉายากุล แถลง กรณีเรื่องร้องเรียน 2 กรณี  ที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล จากการที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น และ  สถานีตำรวจภูธรกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์  บันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่ของ "ผู้ร้อง" โดยไม่ได้รับความยินยอม

 

ทั้ง 2 กรณี ผู้ร้องได้ขับรถยนต์ผ่านจุดตรวจ จุดสกัด ตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ และสิ่งผิดกฎหมาย  เจ้าหน้าที่ได้ขอตรวจใบอนุญาตขับขี่  และ  ผู้ร้องได้ใช้โทรศัพท์ถ่ายทอดสดบันทึกภาพเคลื่อนไหวการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่   ขณะที่เจ้าหน้าที่  ได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่บันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่ของผู้ร้องโดยไม่ได้รับอนุญาต จากผู้ร้องก่อน  ผู้ร้องทั้ง 2 กรณีเห็นว่าการกระทำ "ละเมิด"  สิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล  ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2562

ในการพิจารณาคำร้อง เห็นว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 32 ได้รับรองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว  รวมถึงสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลไว้ โดยเฉพาะการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว หรือ  การนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด  จะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามกฎหมาย  ที่ตราเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ขณะที่  กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 17 ได้รับรองสิทธิของบุคคล  ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมิให้ถูกแทรกแซงความเป็นอยู่ส่วนตัวโดยพลการ  หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย  การแทรกแซงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว จึงอาจกระทำได้เฉพาะกรณีที่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาศัยอำนาจตามกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น   เพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น"

สำหรับการตั้งจุดตรวจ-จุดสกัด เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 อาจมีกรณีที่ล่วงล้ำ หรือ  กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้อง จึงต้องกระทำโดยระมัดระวังเท่าที่จำเป็น และส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้น้อยที่สุด

แม้การขอตรวจใบอนุญาตขับขี่ ณ จุดตรวจ จุดสกัด จะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย แต่การที่เจ้าหน้าที่บันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่ของผู้ร้อง ถือเป็นขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขอตรวจใบอนุญาตขับขี่ โดยที่ใบอนุญาตขับขี่ ยังปรากฏข้อมูลส่วนบุคคลหลายรายการ การบันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่  จึงอาจเป็นการ “ล่วงล้ำ” หรือ กระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว รวมถึงสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลได้

การที่เจ้าหน้าที่อ้างว่า  บันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่  เพื่อเก็บหลักฐานยืนยันความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติหน้าที่ หากผู้ร้องนำภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกไว้ไปเผยแพร่  ให้เกิดความเสียหาย “มิใช่เหตุตามกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ในการตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด ทั้งไม่ปรากฏว่า มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่กระทำเช่นนั้นได้”

" หากเจ้าหน้าที่เห็นว่า การถูกบันทึกภาพเคลื่อนไหวการปฏิบัติหน้าที่และโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์เข้าข่ายขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ สามารถรวบรวมพยานหลักฐาน ดำเนินคดีได้    โดยไม่มีความจำเป็นต้องบันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่ผู้ร้อง  ดังนั้น  การที่เจ้าหน้าที่บันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่โดยที่ผู้ร้องมิได้ให้ความยินยอมโดยชัดแจ้งก่อน จึงถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว รวมถึงสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ร้องอันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน"

กสม.จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด ระมัดระวังการบันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่หรือเอกสารอื่นใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร และต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายเท่าที่จำเป็นและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

logoline