เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในรัฐไวโอมิง ซึ่งเป็นรัฐของการทำเหมืองถ่านหินชั้นนำของสหรัฐฯ กำลังจะกลายเป็นที่ตั้งของโครงการทดลองเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาเศรษฐีบิล เกตส์ โดยสถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะปิดตัวลงในเร็วๆ นี้
บริษัท เทอร์ร่าพาวเวอร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเบลล์วิว รัฐวอชิงตัน จะสร้างโรงไฟฟ้า " นาเทรียม " ในเมืองเคมเมอเรอร์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของไวโอมิง ที่มีประชากร 2,600 คน โดยโรงไฟฟ้า " นอห์ตัน " ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งดำเนินการโดยร็อกกี้เมาเท่นพาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทฯ ในเครือแปซิฟิกคอร์ป จะปิดดำเนินการในปี 2568
โครงการนี้ คาดการณ์ว่าจะจ้างแรงงานมากถึง 2,000 คนในระหว่างการก่อสร้าง และอีก 250 คนเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ในขณะที่อุตสาหกรรมถ่านหินที่นี่ต้องลดการจ้างงานลง
หากโรงไฟฟ้าดังกล่าว มีความน่าเชื่อถือเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเดิม โรงไฟฟ้าขนาด 345 เมกะวัตต์จะผลิตพลังงานที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศได้มากเพียงพอสำหรับบ้านเรือนประมาณ 250,000 หลัง
การประกาศดังกล่าวนี้ มีขึ้นไม่กี่วันหลังจากเจ้าหน้าที่จากสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ให้คำมั่นในการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสกอตแลนด์ ว่าจะดำเนินการต่อไป เพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บิล เกตส์ ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟต์ และประธานของเทอร์ร่าพาวเวอร์ ได้ประกาศแผนสำหรับโครงการที่ไวโอมิง พร้อมกับเจ้าหน้าที่จากร็อกกี้เมาเท่นพาวเวอร์ รัฐบาลสหรัฐฯ และทางการของรัฐที่ผลิตถ่านหินประมาณ 40% ของประเทศ หลังจากการประกาศ 4 เมืองในรัฐไวโอมิง ก็ได้เสนอตัวเข้าร่วมโครงการ
แต่ขนาดของกลุ่มคนงานซึ่งมีประสบการณ์ในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจตั้งโรงไฟฟ้าในเมืองเคมเมอเรอร์
การพัฒนาเครื่องจำลอง เพื่อฝึกคนงานในการดำเนินงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเป็นระยะเวลา 7 ปีของโครงการ โดยการก่อสร้างจะเริ่มขึ้นในปี 2567
ข้อเสนอหลักของโครงการ
จะเป็นเตาปฏิกรณ์แบบเร็วที่ระบายความร้อนด้วยโซเดียม และสะสมพลังงานด้วยเกลือหลอมเหลว ซึ่งว่ากันว่ามันทำงานได้ดีกว่า ปลอดภัยกว่า และมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าพลังงานนิวเคลียร์แบบเดิม
คุณสมบัติที่โดดเด่น
การถ่ายเทความร้อนสูงของโซเดียมจะช่วยให้ นาเทรียม ระบายความร้อนด้วยอากาศได้ ซึ่งจะทำให้โรงงานสามารถปิดตัวได้อย่างรวดเร็วในกรณีฉุกเฉิน และการไม่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเครื่องสูบน้ำฉุกเฉินจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้
ขณะที่คนอื่น ๆ ก็ยังคงสงสัยเกี่ยวกับประโยชน์ของโซเดียมเมื่อเทียบกับน้ำในการหล่อเย็น อย่างเช่นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไป
ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสหรัฐฯ ได้ทดลองกับเตาปฏิกรณ์แบบเร็วที่ระบายความร้อนด้วยโซเดียมมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แต่มีเพียงรัสเซียเท่านั้นที่ใช้เตาปฏิกรณ์ดังกล่าวในระดับการผลิตขนาดใหญ่