svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

ผอ.ตอบข้อสงสัยเจาะบาดาลลึก1พันเมตร ยันไม่เกิดปัญหาดินทรุด

16 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผอ.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต4 ขอนแก่น ยันเจาะบาดาลลึก1พันเมตร เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งไม่ทำให้ดินทรุด เพราะเจาะในชั้นหินแข็งทั้งหมด ชี้ โครงการคืบหน้า50% เตรียมพัฒนาระบบน้ำกระจายสู่ชุมชน

16 พฤศจิกายน 2564 นายอุโรม แก้วจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต4 ขอนแก่น เปิดเผยความคืบหน้าโครงการเจาะน้ำบาดาลความลึก 1พันเมตร หรือ1กิโลเมตร เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ที่บ้านหินขาว หมู่ 15 ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ว่า การทำโครงการครั้งนี้นอกจากตั้งใจจะแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับพี่น้องประชาชนแล้ว ยังต้องการศึกษาหาแหล่งน้ำบาดาลใหม่ๆ เนื่องจากที่ผ่านมามีการพัฒนาบ่อน้ำบาดาลมาตั้งแต่ปี 2500 จนถึงขณะนี้มีประมาณ 346,000 กว่าบ่อ แต่ส่วนใหญ่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์เจาะที่ความลึกไม่เกิน50เมตร 

 

โดยโครงการเจาะน้ำบาดาลที่ ต.สาวะถี ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือก็เป็นการสร้างบ่อ สูบทดสอบคุณภาพน้ำ เพราะการศึกษาเบื้องต้นที่เจาะลงไป 1,014 เมตร จะพบชั้นน้ำจืดขนาดใหญ่อยู่ที่ความลึก 540 เมตร ไปจนถึง 600 เมตร ถือว่าเป็นแหล่งน้ำใหม่ที่ไม่เคยเจาะ ไม่เคยเจอมาก่อน แต่กว่าจะไปถึง 540 เมตร ก็พบว่าบริเวณด้านบนมีชั้นน้ำหลายชั้น ตั้งแต่ชั้น 50 เมตร ชั้น 180 เมตร ชั้น 200 กว่าเมตร คุณภาพน้ำก็จะสลับกันไปทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม โดยเราจะไม่เอาชั้นน้ำด้านคือตั้งแต่ 0-500 เมตร จะเอาเฉพาะชั้นน้ำที่พบใหม่เท่านั้น 

ผอ.ตอบข้อสงสัยเจาะบาดาลลึก1พันเมตร ยันไม่เกิดปัญหาดินทรุด
 

ส่วนการเจาะที่มีความลึกขนาดนี้จะกระทบชั้นเกลือหรือไม่ นายอุโรม อธิบายว่า จากผลการเจาะจะพบชั้นน้ำเค็ม ย้ำว่าเป็นชั้นน้ำเค็มเท่านั้นไม่ถึงกับพบชั้นเกลือ จะไม่เหมือนกลางแอ่ง ที่บริเวณ อ.จตุรัส อ.พิมาย ที่มีชั้นเกลือ แต่จุดเจาะที่บ้านหินขาวเป็นบริเวณขอบแอ่งทางธรณีวิทยาก็จะพบน้ำบาดาลอยู่แล้ว แต่จะมีความเค็มเป็นบางชั้นเท่านั้น ส่วนหลายคนตั้งข้อสงสัยและเป็นห่วงจะเกิดดินทรุดหรือไม่ ยืนยันว่าไม่เกิดดินทรุดแน่นอน เนื่องจากบริเวณที่ขุด1,014เมตร อยู่ในชั้นหินแข็งทั้งหมด ไม่ได้อยู่ในลักษณะชั้นหินปูนที่เป็นโพรง หรือไม่ได้อยู่ในชั้นกรวดทราย เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องดินทรุด หลุมยุบ จะไม่เกิดแน่นอน

 

ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต4 ขอนแก่น เปิดเผยอีกว่า การเจาะน้ำบาดาลในภาคอีสานส่วนใหญ่จะเจาะไม่เกิน 100 เมตร หรืออยู่ที่ประมาณ80เมตร หรือ 50เมตร ส่วนใหญ่สำหรับใช้ในครัวเรือน โดยการเจาะในระดับความลึกที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ที่จะใช้น้ำ แต่ถ้าเป็นประปาหมู่บ้าน ก็จะต้องเจาะความลึกที่มากขึ้นตามความต้องการ หรือผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องการใช้น้ำก็ต้องเจาะตามความลึกมากขึ้น เช่น 300 เมตร ทั้งนี้ความลึกและปริมาณน้ำขึ้นอยู่กับพื้นที่ทางธรณีวิทยาด้วย ซึ่งการเจาะน้ำบาดาลที่มีความลึก1,014 เมตร ในครั้งนี้เพื่อให้ได้น้ำในปริมาณที่มากขึ้น สามารถแก้ปัญหาภัยแล้งได้ครอบคลุมทั้งตำบล เพราะการศึกษาพบว่าน้ำใต้ดินบริเวณดังกล่าวมีจำนวนมหาศาล

ผอ.ตอบข้อสงสัยเจาะบาดาลลึก1พันเมตร ยันไม่เกิดปัญหาดินทรุด
 

สำหรับพื้นที่บ้านหินขาว หมู่ 15 ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ที่กำลังดำเนินโครงการอยู่ในขณะนี้ คาดว่าจะใช้เวลา 2 เดือน ในการพัฒนาบ่อ ทดสอบระบบน้ำ คุณภาพน้ำ หลังจากนั้นก็จะออกแบบระบบส่งน้ำให้ประชาชนเกือบ1หมื่นครัวเรือนได้ใช้ประโยชน์ต่อไป 

ผอ.ตอบข้อสงสัยเจาะบาดาลลึก1พันเมตร ยันไม่เกิดปัญหาดินทรุด

โดย - สุริยา ปะตะทะโย

logoline