svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์แข่งขันสุดทน นัดรวมพลหน้าทำเนียบ 18 พ.ย.นี้

15 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เดือดร้อนหนัก! กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์แข่งขันสุดทน นัดรวมพลหน้าทำเนียบ 18 พ.ย.นี้ ขอรัฐช่วยปลดล็อก-เยียวยาจ่ายค่าชดเชย "หมอชัย" ชี้ ไม่ใช่แค่คนเลี้ยงเดือดร้อน แต่กระทบเป็นลูกโซ่เสียหายเป็นพันล้าน แนะต้องให้ประชาชนเป็นนักรบช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

15 พฤศจิกายน 2564  ที่ทำการสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาไก่พื้นเมืองไทย พร้อมด้วยเครือข่ายผู้เลี้ยงสัตว์เพื่อการประกวดและแข่งขัน ได้มีการหารือกันถึงผลกระทบในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการแข่งขันได้ โดยภายหลังการหารือ น.สพ.ชัย วัชรงค์ นายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาไก่พื้นเมืองไทย พร้อมด้วยตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เพื่อการประกวดและการแข่งขันกีฬา ได้ร่วมกันแถลงข่าว

 

โดย น.สพ.ชัย กล่าวว่า ตนขอเป็นตัวแทนเกษตรกรที่เกี่ยวเนื่องกับการเลี้ยงสัตว์ เรามาพร้อมพันธมิตรกับเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงสัตว์ ทั้งการเลี้ยงม้า วัวชน นก ปลาสวยงาม พวกเราที่เกี่ยวเนื่องกับสัตว์กีฬาได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะการล็อกดาวน์มานาน ขาดรายได้จนแทบจะอยู่ไม่ได้แล้ว โดยสมาชิกของสมาคมเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง หากภาครัฐยังล็อกไว้ ถึงเวลาที่ต้องมาเหลียวแล ยื่นมือมาช่วยเหลือในการเยียวยาเราบ้าง การแพร่ระบาดของโควิด พวกเราเข้าใจดีว่าเป็นภัยอุบัติใหม่ ไม่มีประเทศไหนในโลกได้ประสบพบเจอมาก่อน พวกเราเข้าใจดี ว่าการที่ภาครัฐต้องล็อกดาวน์ ไม่อนุญาตแข่งขันสัตว์ก็เพื่อลดระบาดของการแพร่เชื้อ ปีที่แล้ววัคซีนเราก็ยังไม่มี ความเข้าใจโรคก็ไม่มี ระบบสาธารณสุขก็ยังไม่ลงตัว เรายอมรับว่ารัฐบาลมีเหตุผลที่ดี แต่ขณะนี้เวลาผ่านมาเป็นปี สถานการณ์เปลี่ยนไป ประเทศไทยฉีดวัคซีนได้มากกว่า 80 ล้านโด๊สแล้ว และจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มเกินครึ่งประเทศ ในแง่ของภูมิคุ้มกัน น่าจะมีกันเยอะแล้ว ความพร้อมของสาธารณสุข ถือว่าพร้อมมากๆ ทั้งอุปกรณ์ ความชำนาญ และความเข้าใจ เราฟังและทำตามมาตรการมาตลอดว่า ต้องใส่หน้ากาก ทิ้งระยะห่าง ซึ่งคนไทยทั้งประเทศเคยชินจนเป็นนิสัยแล้ว น่าจะถึงเวลาคลายล็อกได้แล้ว กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์แข่งขันสุดทน นัดรวมพลหน้าทำเนียบ 18 พ.ย.นี้

น.สพ.ชัย กล่าวอีกว่า สำหรับพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปีที่แล้ว พี่น้องเกษตรกรเดือดร้อนแสนสาหัส ขาดรายได้ แม้ว่าที่ผ่านมาทางภาครัฐจะเห็นใจให้เราซ้อมได้ แต่การซ้อมก็มีแต่ค่าใช้จ่ายและเราก็ยังขาดรายได้ การเลี้ยงไก่สำหรับประกวดหรือแข่งขัน ค่าใช้จ่ายตกตัวละ 2,000 บาท แต่ละซุ้มมีค่าใช้จ่ายเดือนละตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสนบาท บางซุ้มต้องปรับตัวลดคน หรือบางซุ้มถึงขั้นต้องเลิกกิจการ  สำหรับวัวชนค่าใช้จ่ายตัวละ 6,000 บาทต่อเดือน ม้าตัวละ 10,000 บาทต่อเดือน รวมๆแล้วค่าใช้จ่ายเป็น 1,000 ล้านต่อเดือน แต่รายรับเป็นศูนย์  ทั้งนี้พวกเราไม่ได้เดือดร้อนเฉพาะแค่คนเพาะเลี้ยงสัตว์เท่านั้น แต่ผู้ที่มีอาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น คนทำอุปกรณ์การเลี้ยง อาหารบำรุง ยารักษาโรค ก็ขายไม่ออก ไม่มีคนซื้อ เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปหมด ซึ่งในช่วงนี้เราได้เห็นการคลายล็อก รัฐบาลเริ่มปรับนโยบายสร้างสมดุล ระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ เพราะถึงเวลาที่เรามีความพร้อมในการรับมือโรค ดังนั้นตนคิดว่าตอนนี้สถานการณ์เราคลี่คลายมามากแล้ว พวกเราเห็นด้วยกับการเปิดรับนักท่องเที่ยว และเราดีใจกับพี่น้องสาขาอาชีพต่างๆที่เริ่มทำงานได้ เพราะถึงเวลาต้องปล่อยให้ประชาชนเป็นนักรบทางเศรษฐกิจ ได้ทำงานเพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ น.สพ.ชัย วัชรงค์ นายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาไก่พื้นเมืองไทย

 "เราเดือดร้อนมาจนถึงวันนี้ ไปต่อไม่ได้อีกแล้ว พวกเราคิดว่าอยากได้การผ่อนคลาย แต่หากรัฐยังเห็นว่าไม่พร้อม ก็ขอได้โปรดช่วยเห็นใจเราด้วย เราอดทนรอคอยจนเต็มกลืนแล้ว พี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศเดิมทีเราจะรวมพลไปหน้าทำเนียบรัฐบาลในวันอังคารที่ 16 พ.ย.เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง แต่ทราบว่า ครม.ไปประชุมกันที่ จ.กระบี่ ดังนั้นพวกเราจึงเลื่อนไปในวันที่ 17หรือ18พ.ย. เพื่อยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยา ซึ่งจริงๆแล้วพวกเราอยากให้ผ่อนคลายทันทีมากกว่า แต่หากยังทำไม่ได้ก็ขอเงินชดเชยเยียวยาให้กับพวกเราบ้าง ซึ่งหากผ่อนคลายให้ เราก็พร้อมที่จะดูแลตัวเอง และดำเนินตามมาตรการของภาครัฐในการควบคุมโรค" น.สพ.ชัย กล่าว

logoline