วันนี้ (11 พ.ย.) พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบค.ส่วนหน้า เดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี ประชุมติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะกรรมการ พร้อมด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำศาสนา ท้องที่ ท้องถิ่น เข้าร่วมประชุม
พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้เน้นย้ำให้ลงมาดูเรื่องการบูรณาการ และประสานการทำงานของส่วนราชการในพื้นที่ ซึ่งในห้วงที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ได้ทำงานร่วมกันด้วยดี แต่ยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังไม่ลดลง นายกรัฐมนตรีจึงให้ ตั้ง ศบค.ส่วนหน้าขึ้น เพื่อบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเรื่องการฉีดวัคซีนที่จะต้องได้ 70% ภายในสิ้นเดือน พ.ย. นี้ ล่าสุดยอดการฉีดวัคซีนตอนนี้ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ น่าจะมีเพียง จ.สงขลา จังหวัดเดียว ที่เป็นไปตามเป้า ส่วน 3 จังหวัดภาคใต้จะต้องใช้ความพยายามเพิ่มมากขึ้น
ขณะนี้ได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ พบว่า มีประชาชนบางส่วนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ ไปประกอบอาชีพในพื้นที่อื่น ประชากรที่อาศัยจริงๆ อาจจะน้อยกว่ายอดที่แจ้ง แต่ทุกส่วนจะต้องดำเนินงานอย่างเต็มที่ โดยจะได้ยอดฉีดวัคซีนเท่าไร คงต้องมาพิจารณากันอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน ได้มีการหารือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อตั้งเป้าเตรียมที่จะเปิดพื้นที่ชายแดนภาคใต้ให้ได้อย่างช้าภายในวันที่ 15 ธ.ค. 64 นี้ เพื่อรองรับเทศกาลปีใหม่และให้เศรษฐกิจพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการฟื้นฟู โดยได้ฝากให้แม่ทัพภาค 4 หารือกับส่วนที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าฯ ทั้ง 4 จังหวัดว่าสามารถทำได้หรือไม่ และรายงานไปยัง ศบค. ส่วนหน้า ซึ่งหากมีความเป็นไปได้ก็จะได้กำหนดเป็นนโยบายต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยประชาชนพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้อย่างมาก แม้สถิติการติดเชื้อลดลง แต่ก็ยังมีผู้เสียชีวิตสูง ขณะเดียวกันก็ห่วงในเรื่องของเศรษฐกิจในพื้นที่ จึงต้องประเมินให้ถี่ถ้วน
นอกจากนี้ อยากจะย้ำให้ประชาชนได้มั่นใจว่า การบริหารสถานการณ์โควิด ของ ศบค.ใหญ่ ในช่วงที่ผ่านมา ปัจจัยความสำเร็จของการแก้ปัญหาการแพร่ระบาด ประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ คือ ภาครัฐต้องเข้มแข็ง ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน จะต้องบูรณาการร่วมกัน อย่างประสานสอดคล้อง ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง ผู้นำศาสนาทั้งไทยพุทธ และมุสลิม ในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน ทั้งการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน และการควบคุมการแพร่ระบาด ตลอดจนการช่วยเหลือเยียวยา เพื่อให้สถานการณ์ในพื้นที่คลี่คลาย