svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ไทยรายงานการปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชนรอบที่ 3 ต่อสหประชาชาติ

11 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลังได้รายงานเรื่องการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามระยะครั้งที่ 1 และ 2 ในปี 2554 และ 2559 ต่อสหประชาชาติ ในวันที 10 พฤศจิกายน ไทยก็ได้รายงานพัฒนาการของประเด็นเรื่องสิทธิมนุษชนในประเทศครั้งที่ 3 ซึ่งก็ได้รับความสนใจและการเสนอแนะมากมายจากตัวแทนหลายประเทศ

ประเทศไทยได้เข้าสู่กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน โดยคณะทำงานกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามระยะ หรือ Universal Periodic Review Working Group หรือ UPR ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเป็นครั้งที่ 3 ในระหว่างการประชุมที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 10 -12  พฤศจิกายน 2564 นี้ 

 

งานนี้ นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้นำคณะผู้แทนของประเทศไทยในการนำเสนอรายงานผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์

 

ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 13 ประเทศที่คณะทำงาน UPR ทำการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในการประชุมสมัยระหว่างวันที่ 1–12 พฤศจิกายน ก่อนหน้านี้ประเทศไทยได้เข้าสู่กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามระยะครั้งที่ 1 และ 2 ไปแล้ว เมื่อเดือนตุลาคม 2554 และพฤษภาคม 2559 ตามลำดับ

 

การประชุมจัดขึ้นที่สํานักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่เนื่องจากมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 การประชุมจะจัดในรูปแบบผสมระหว่างการเข้าร่วมแบบตัวต่อตัวและระบบทางไกล

 

เอกสารที่นำมาเป็นมูลฐานของการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ได้แก่ 1) รายงานของประเทศ 2) ข้อมูลในรายงานของผู้เชี่ยวชาญหรือคณะทำงานอิสระด้านสิทธิมนุษยชน และ 3) ข้อมูลที่รวบรวมโดยผู้ที่มีความเกี่ยวข้องอื่น ๆ 

ไทยรายงานการปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชนรอบที่ 3 ต่อสหประชาชาติ

ในรายงานของไทยที่นำเสนอต่อที่ประชุม บอกว่าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ไทยเป็นประเทศที่พระมหากษัตริย์ได้รับความเคารพเป็นอย่างสูง และมาตรา 112 มีเป้าหมายเพื่อปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ใช่เพื่อขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ ส่วนในคดีมาตรา 112 ก็มีการดำเนินคดีถูกต้องตามกระบวนการของกฎหมาย และมีการใช้กลไกหลาย ๆ อย่างเพื่อกลั่นกรองคดี รวมถึงยังมีช่องทางในการขอพระราชทางอภัยโทษอีกด้วย

 

ในการแถลงด้วยวาจา นายธานีเริ่มต้นว่า หลักประการหนึ่งในนโยบายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของของประเทศไทย คือการมองว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งผสานรวมกับปณิธานของไทยในการบรรลุความมั่นคงของมนุษย์ การยกระดับมาตรฐาน ยกระดับสถานะ และส่งเสริมการผนึกกำลังอันมีค่าสำหรับทุกคนที่อยู่ในประเทศ ประเทศไทยเชื่อว่าความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกคนและทุกภาคส่วนได้รับอำนาจและสามารถมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในสังคมและธรรมาภิบาล ดังนั้น ประเทศไทยจึงใช้มุมมองที่ครอบคลุมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและจัดลำดับความสำคัญของมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เปราะบางที่สุดในสังคม  อย่างเช่นเด็ก สตรี กลุ่ม LGBTI+  ผู้สูงวัย คนพิการ และกลุ่มชาติพันธุ์

ไทยรายงานการปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชนรอบที่ 3 ต่อสหประชาชาติ

 

ส่วนสถานการณ์เสรีภาพทางการเมืองว่า ไทยให้ความเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่การใช้เสรีภาพต้องเป็นการใช้อย่างสร้างสรรค์ ภายใต้กรอบของกฎหมาย รัฐบาลได้พยายามอำนวยความสะดวกให้กับทุกการเคลื่อนไหวที่สนับสนุนการปฏิรูปและแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใด โดยจัดให้มีพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาและมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในสังคม รัฐบาลไทยยังตระหนักถึงความสำคัญของคนรุ่นใหม่และได้มีความพยายามสร้างเวทีพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ระหว่างวัย นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายที่ในขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา

 

ในส่วนของข้อแนะนำของชาติสมาชิกที่มีต่อไทยหลังรับฟังการชี้แจง ก็มีทั้งการสนับสนุนการแก้ปัญหาของไทย รวมถึงเรื่องร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหาย การแสดงความกังวลต่อร่างกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ การขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองประมวลกฎหมายมาตรา 112 การจับกุมคุมขังนักกิจกรรมทางการเมือง การแสดงออกและการชุมนุม อย่างไอซ์แลนด์ ให้คำแนะนำให้ไทยรับพิธีสารของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และตั้งคำถามถึงกฎหมายรับรองสิทธิสมรสสำหรับผู้ที่มีเพศเดียวกันของประเทศไทย ญี่ปุ่นเสนอแนะให้ประเทศไทยให้สัตยาบันสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ปรับปรุงสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยรวมไปถึงเสรีภาพในการแสดงออก อย่างสหรัฐ ลักเซมเบิร์กและเบลเยี่ยม เสนอให้ประเทศไทยพิจารณาเรื่องกฎหมายมาตรา112 เกาหลีใต้แนะนำให้ปรับกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับเสรีภาพการชุมนุมและการแสดงออกและประกาศใช้กฎหมายป้องกันการบังคับสูญหาย มาลาวีแนะนำให้รัฐบาลไทยอบรมเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนของการควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ไอร์แลนด์แนะนำให้รัฐบาลไทยยุติการจับกุมคุมขังนักกิจกรรมทางการเมือง 


ไทยรายงานการปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชนรอบที่ 3 ต่อสหประชาชาติ

logoline