เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
ในศรีลังกา ช่วงต้นฤดูมรสุม มักจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกข้าวสำหรับชาวนาทั่วประเทศ
แต่ในปีนี้ ชาวนาหลายพันคนพากันออกไปประท้วงที่ถนน บางคนแบกโลงศพที่มีป้ายเขียนว่า "การตายของเกษตรกรรม"
การตัดสินใจของรัฐบาลศรีลังกาที่จะสั่งห้ามการนำเข้าปุ๋ยเคมี และมุ่งหน้าสู่การทำเกษตรอินทรีย์ 100% เต็มในเวลาเพียงฤดูกาลเดียว ได้ผลักดันให้ชาวนาทั่วประเทศออกมาประท้วง
บัญดารา ศิริเสนา เกษตรกรผู้ชุมนุมประท้วงที่เมืองเตเฮียตกันทิยา ทางชายฝั่งตะวันออกของประเทศบอกว่า “วันนี้เราควรอยู่ในทุ่งนาเพื่อเตรียมที่ดิน แต่เราถูกบังคับให้ต้องออกมาที่ถนนเพราะมีปัญหาเรื่องปุ๋ย ตอนแรกเราได้รับคำสั่งให้ทำปุ๋ยคาร์บอนิกของเราเอง แต่เราไม่มีวัตถุดิบสำหรับการทำสิ่งนี้ ”
เมื่อเดือนพฤษภาคม รัฐบาลศรีลังกาประกาศว่าจะห้ามการนำเข้าปุ๋ยเคมีทั้งหมด รวมทั้งยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า และสารฆ่าเชื้อรา ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา บอกว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลในการส่งเสริมการทำการเกษตรที่ดีต่อสุขภาพ และทำให้ภาคส่วนนี้ ซึ่งคิดเป็น 7% ของจีดีพีของเกาะศรีลังกา ที่มีมูลค่า 80,000 ล้านดอลลาร์ มีความยั่งยืนมากขึ้น
การตัดสินใจด้านนโยบายที่เป็นที่โต้แย้งทำให้เกษตรกรหลายพันคนอย่างเช่น มูดิยานเซลาเก รูปะสิงเห ไม่ได้เตรียมตัวแต่อย่างใด
“ปัญหาของตอนนี้คือปุ๋ย เราหวังว่าจะได้มันมาบ้าง ถ้าได้รับแล้วเราจะใช้มัน แต่ถ้าไม่ใช่ เราก็ไม่มีทางเลือกอื่น เราไม่มีความรู้เกี่ยวกับวิธีทำปุ๋ยหมัก” รูปะสิงเหบอกในขณะที่หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวไปทั่วที่ดินที่ครอบครัวของเขาใช้ทำมาหากินมาหลายชั่วอายุคน
รูปะสิงเหบอกว่า เขาและชาวบ้านคนอื่น ๆ รอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการเปลี่ยนไปทำเกษตรอินทรีย์ แต่ความช่วยเหลือที่สัญญาไว้ พวกเขาไม่เคยได้รับ ส่งผลให้เขาต้องเพราะปลูกน้อยกว่าปกติ การปลูกเพาะปลูกที่ลดลงแบบนี้ในทั่วทั้งเกาะ ก็อาจทำให้ผลผลิตข้าวประจำปีของศรีลังกาลดลงประมาณ 40% ตามรายงานของนักเศรษฐศาสตร์เกษตรที่มีชื่อเสียงและสมาคมเกษตรกร
เป็นเวลาหลายสัปดาห์ที่ชาวนาหลายพันคนประท้วงตามท้องถนน เผารูปจำลองของรัฐมนตรีเกษตร และวิงวอนรัฐบาลให้ยกเลิกการห้ามใช้ปุ๋ยเคมี โดยอ้างว่าจะส่งผลเสียร้ายแรงต่อความมั่นคงด้านอาหารของศรีลังกา และปิดฉากความสามารถในการผลิตข้าวพอใช้ในประเทศ ที่ได้มาอย่างยากเย็น
เพื่อเป็นการแก้ปัญหา รัฐบาลได้นำเข้าโพแทสเซียมคลอไรด์และนาโนไนโตรเจนเหลวบรรจุขวดในปริมาณที่จำกัดจากอินเดียตั้งแต่เดือนตุลาคม โดยทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่ใช้ในช่วงฤดูปลูกข้าว
พุทธิ มารามเบ ศาสตราจารย์อาวุโสจากมหาวิทยาลัยการเกษตรเปราเดนิยา ที่เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์พืชผล บอกว่า "นี่เป็นการตัดสินใจที่แย่ที่สุดเท่าที่รัฐบาลเคยทำมานับตั้งแต่ได้รับเอกราช นั่นคือคำตอบที่ว่างเปล่าที่ผมสามารถให้ได้ในขั้นตอนนี้ ทำไมนะหรือ ? ก็เพราะมันจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารทั้งหมด"
ในจดหมายที่ส่งถึงประธานาธิบดีราชปักษาเมื่อต้นปี สมาคมเศรษฐศาสตร์การเกษตรแห่งศรีลังกาบอกว่าผลิตผลทางการเกษตรโดยเฉลี่ยที่ลดลง 20% อาจทำให้ GDP ลดลง 3.05%
กระทรวงเกษตรยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงมาสู่การเกษตรอินทรีย์นั้นมีอุปสรรค แต่ก็ยืนยันว่าการตัดสินใจครั้งนี้ ในตอนแรกได้รับการรับรองจากภาคส่วนต่าง ๆ ของประชาชนศรีลังกา