เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
จากประเด็นดังกล่าวหลายคนอาจสงสัยว่า หากศาลวินิจฉัยว่าพฤติการณ์ของ "แกนนำ 3 นิ้ว" 3 คนนี้ เข้าข่ายล้มล้างการปกครองแล้ว และจะต้องรับโทษอะไร
"เนชั่นทีวี" เปิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ซึ่งเป็นมาตราหลักที่ณฐพร ร้องเอาไว้ จะพบข้อความแบบนี้
มาตรา 49 บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้
ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้
ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้
การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง
จะเห็นได้ว่า เนื้อหาของมาตรานี้ ไม่ได้ระบุโทษของผู้กระทำเข้าข่ายล้มล้างการปกครองเอาไว้ สิ่งที่เขียนไว้ในกฎหมาย มีเพียง "ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกกระทำได้" ส่วนโทษอื่นๆ ไม่มี
แต่จากการสอบถามนายณฐพร เอง และนักกฎหมายอีกหลายคน ให้ความเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรนมูญ หากศาลเห็นว่าการกระทำของ "รุ้ง-ไมค์-อานนท์" เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ก็จะเป็นจุดตั้งต้นของการเอาผิดทางอาญาต่อไป
1.นายณฐพร ยื่นคำร้องไว้ที่สำนักงานอัยการสูงสุดด้วย หากศาลวินิจฉัยว่าการกระทำเข้าข่ายล้มล้างฯ ทางสำนักงานอัยการสูงสุด ก็เดินหน้าคดีอาญาต่อได้เลย เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร โดยอาจแจ้งไปยังพนักงานสอบสวน ให้รวบรวมพยานหลักฐานส่งมา เพราะพยานหลักฐานที่นายณฐพร ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลแสวงหาหลักฐานมาเองด้วย ก็ถือว่ามีข้อมูลมากพอสมควร
2.นายณฐพร และประชาชนคนไทยคนอื่นๆ สามารถไปแจ้งความดำเนินคดีได้ ตามฐานความผิดที่เห็นว่า "รุ้ง-ไมค์-อานนท์" ได้กระทำ เช่น ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรืออื่นๆ
แต่ต้องเข้าใจว่า การจะเอาผิดในทางอาญา ต้องมีพยานหลักฐานชัดเจนกว่าในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ และต้องมีหลักฐานเป็นรูปธรรมว่าจะสร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือเป็นอันตรายต่อระบบการปกครองจริงๆ โดยต้องมีพฤติการณ์ใช้กำลังประทุษร้าย หรือข่มขู่ว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย มีการตระเตรียมสะสมกำลังคนและอาวุธ อย่างนี้เป็นต้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 และ 114 รวมถึง 116 ด้วย
ฉะนั้นโอกาสที่จะเอาผิดอาญา จากการกระทำเพียงขึ้นปราศรัย น่าจะเป็นเรื่องยาก แต่สุ่มเสี่ยงที่จะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112
แต่มาตรา 112 เอง ทั้ง 3 คน ก็โดนแจ้งข้อหาไปแล้วหลายข้อหา ซึ่งข้อหาเหล่านั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการกิจกรรมที่นายณฐพร นำไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
สรุปคือแนวโน้มคำวินิจฉัยของศาล ออกได้ 3 แนวทาง โดยแต่ทางมีผลทางคดี และผลสะเทือนอื่นๆ ที่จะตามมาแตกต่างกันไป
แนวทางที่ 1 ยกคำร้อง ผลของคดี คือ "รุ้ง - ไมค์ - อานนท์" ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง แต่ผลสะเทือนตามมา คือ อาจเป็นการรับรองว่า การพูดหรือปราศรัยยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อปฏิรูปสถาบัน "สามารถทำได้"
แนวทางที่ 2 วินิจฉัยว่าเข้าข่ายล้มล้างฯ ผลของคดี คือ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเลิกการกระทำ และผลนี้จะผูกพันทุกองค์กร คือ ทั้ง 3 คน จะกระทบแบบที่เคยทำไม่ได้อีก ผลสะเทือนที่จะตามมาคือ ถูกแจ้งดำเนินคดีอาญาต่อ หรืออัยการขยับสั่งให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดี
แนวทางที่ 3 ออกกลางๆ ศาลรัฐธรรมนูญอาจชี้ว่าพฤติการณ์ของทั้ง 3 คนไม่ถึงกับล้มล้างฯ แต่ไม่เหมาะสม ผลของคดี เท่ากับยกคำร้อง โดยศาลอาจยกประเพณีการปกครองขึ้นมาอธิบาย แต่ผลสะเทือนที่จะตามมาคือ กระแสวิจารณ์น่าจะมา
จากการประเมินของนักกฎหมายหลายๆ คน มีโอกาสอยู่เหมือนกันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย ว่าการกระทำของทั้ง 3 คนเข้าข่าย "ล้มล้างการปกครองระบอบประขาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" เพราะตัวรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนโยงไปถึงการกระทำผิดทางอาญา ซึ่งมีกฎหมายอาญารองรับ แต่เขียนป้องกัน "บุคคลใดก็ตาม" ไม่ให้ "ใช้สิทธิหรือเสรีภาพ" เพื่อล้มล้างการปกครอง ซึ่งการใช้ "สิทธิและเสรีภาพ" อย่างหนึ่งที่ชอบนำมาอ้างกันในหมู่ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหว ก็คือ การพูด การเขียน และการสื่อสารด้วยรูปแบบต่างๆ นั่นเอง
แต่หากศาลเห็นว่า พฤติการณ์ที่ "รุ้ง - ไมค์ - อานนท์" ได้ทำนั้น มีโทษอาญารองรับอยู่แล้ว ก็อาจจะยกคำร้องได้เหมือนกัน แต่ผลสะเทือนอีกด้านที่จะเกิดตามมา คือ จะเป็นการส่งสัญญาณว่า 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน เป็นเรื่องที่สามารถเสนอได้
ฉะนั้นคดีนี้ จึงถือเป็นคดีที่มีความอ่อนไหว และต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าผลจะออกมาอยางไร