svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เกมสภาเดือด! รัฐบาลอ่อนแอ จับตาฝ่ายค้านรุกฆาต

06 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สถานการณ์ของรัฐบาลในการทำหน้าที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์แรกหลังเปิดสมัยประชุม ต้องถือว่าล้มเหลว ต้องเผชิญทั้งสภาล่ม และรัฐมนตรีไม่ยอมไปตอบกระทู้ จนทำให้โดนฝ่ายค้านหาเหตุโจมตีและชิงความได้เปรียบทางการเมือง

ปัญหาหนึ่งของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล คือ ไม่มีผู้ที่ทำหน้าที่ "ประธานวิปรัฐบาล" เนื่องจาก นายวิรัช รัตนเศรษฐกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประทับรับฟ้องคดีทุจริตงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอล เพราะตกเป็นจำเลย

 

แม้ล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะออกมาบอกว่าได้ตัวผู้ที่มาดำรงตำแหน่งประธานวิปรัฐบาลคนใหม่แล้ว คือ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ ซึ่งเป็น ส.ส.สายตรงนายกฯด้วย แต่ด้วยประสบการณ์งานสภาและบารมีในหมู่ ส.ส.แล้ว ทำให้เกิดคำถามว่า แม้เป็นประธานวิปรัฐบาลตัวจริง แต่จะใช่ "คนคุมเสียงในสภาตัวจริง"

 

เพราะต้องยอมรับว่าบารมีและความเชี่ยวชาญเกมสภาของนายนิโรธ มีน้อยกว่านายวิรัชมาก โดย นายวิรัช ถือว่าเป็นผู้ที่มีประสบการณ์โชกโชนอย่างหาตัวจับยาก เป็น ส.ส.โคราช 5 สมัย เคยเป็นรมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และยังรู้เส้นสนกลใน เกี่ยวกับการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นอย่างดี สามารถคุมเกม ต่อรอง เจรจากับ ส.ส.ทุกฝ่ายได้ แต่คำถาม คือ ความยำเกรงของฝ่ายตรงข้าม หรือแม้แต่ฝ่ายเดียวกันที่มีต่อนายนิโรธ จะมีเท่ากับนายวิรัชหรือไม่

ฉะนั้นจึงเกิดกระแสวิจารณ์ว่า พล.อ.ประวิตร ยอมให้ตั้ง นายนิโรธ ที่ถูกมองว่าเป็น "สายตรงนายกฯ"​ เพราะจริงๆ แล้วนายนิโรธก็อยู่ภายใต้การควบคุมของ พล.อ.ประวิตร ด้วย และคงทำอะไรไม่ได้มากนัก อำนาจที่แท้จริงในการประสานงานสภาฯ น่าจะยังอยู่กับสายนายวิรัช ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า และ พล.อ.ประวิตร

 

ที่ผ่านมาแม้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพยายามแก้เกมเรื่องการคุมเสียงในสภาฯ โดยให้ "วิปรัฐบาล" ไปประชุมวิปที่ทำเนียบรัฐมนตรี แต่ก็เชื่อว่าจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แถมยังฝืนธรรมชาติ เพราะหน้าที่ของวิป คือ "ประสานงานสภาผู้แทนราษฎร" ตามชื่อ "คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร" ต้องคุมเสียงโหวต และควบคุมการเข้าประชุมของ ส.ส. จึงต้องประชุมที่สภา ไม่ใช่ทำเนียบรัฐบาล

 

ปัญหาของความลักลั่น ส่วนหนึ่งเกิดจากโมเดลประหลาดของพรรคพลังประชารัฐ กับ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐด้วย ทำให้การจัดระเบียบภายในพรรคทำไม่ได้ และยิ่งนายกฯขัดแย้งกับแกนนำสำคัญของพรรค เช่น ผู้กองธรรมนัส และล่าสุด นายวิรัชก็อาจจะไม่พอใจ อาจจะคิดว่าที่โดนสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่เร็ว เพราะนายกฯไม่ช่วยปกป้อง ก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการทำงานร่วมกันไม่ราบรื่น และมีโอกาสสูงที่การประชุมสภาจะมีปัญหาตลอดเวลา

และปัญหาที่ 2 ที่ตามมาทันทีหลังจากสภาฯ ล่มในวันแรก และพฤหัสฯ ที่ผ่านมาเกิดกรณีรัฐมนตรีเลี่ยงตอบกระทู้ ถึง 3 กระทู้ ทั้งๆ ที่เป็นประเด็นร้อน เป็นความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องราคาข้าวตกต่ำ จนมี ส.ส.ฝ่ายค้านโปรยข้าวเปลือกในสภาฯ จนเป็นกระแสฮือฮา ผลที่ตามมาก็คือ ภาพพจน์รัฐบาลตกต่ำ สภาล่ม รัฐมนตรีหนีสภาฯ ไม่มาตอบกระทู้ อ้างการประชุม ครม.ก็ฟังไม่ขึ้น

 

ล่าสุดในการประชุมแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ได้มีมติเดินหน้ายื่นอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 แต่ฝ่ายค้านจงใจใช้คำว่า "อภิปรายไม่ไว้วางใจ" เพื่อขยายแผลให้ประชาชนรู้สึกว่า รัฐบาลทำงานบกพร่องผิดพลาด จนถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือ "ซักฟอก" กันทุกสมัยประชุม

 

logoline