svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

วันนี้ในอดีต 3 พฤศจิกายน 2529 : เปิดโปงกรณี "อิหร่าน-คอนทรา"

03 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นับตั้งแต่หลังการปฏิวัติอิสลาม อิหร่านเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐ แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่สหรัฐแอบขายอาวุธให้อิหร่าน และแอบเอากำไรที่ได้จากเรื่องนี้ไปสนับสนุนกลุ่มกบฏในนิการากัว

3 พฤศจิกายน 2529 นิตยสารอัช - ชีรา ของเลบานอนรายงานข่าวว่าสหรัฐฯ แอบขายอาวุธให้กับอิหร่านเพื่อประกันเรื่องการปล่อยตัวประกันชาวอเมริกัน 7 คนที่ถูกจับตัวโดยกลุ่มที่สนับสนุนอิหร่านในเลบานอน รายงานชิ้นนี้ถือเป็นรายงานสาธารณะชิ้นแรกเกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องอาวุธแลกตัวประกันที่อื้อฉาวของสหรัฐ 

 

" กรณีอิหร่าน–คอนทรา "  หรือที่มักเรียกกันว่า " เรื่องอื้อฉาวอิหร่าน–คอนทรา " หรือ " กรณีแม็คฟาร์แลน " เป็นเรื่องอื้อฉาวทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นในช่วงสมัยที่ 2 ของรัฐบาลประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารระดับสูงได้อำนวยความสะดวกในการขายอาวุธให้แก่รัฐบาลของอยาตอลลาห์โคไมนีแห่งสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านอย่างลับ ๆ ขณะที่ประเทศถูกห้ามเรื่องการซื้อค้าอาวุธให้อิหร่าน  ฝ่ายสหรัฐหวังที่จะใช้เงินที่ได้จากการขายอาวุธนี้เพื่อสนับสนุนกลุ่มกบฎคอนทราในนิการากัว ซึ่งภายใต้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐ ที่เรียกกันว่า Boland Amendment  การให้เงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมกับกลุ่มคอนทราโดยรัฐบาลสหรัฐ ถูกกำหนดห้ามเอาไว้โดยสภาคองเกรส

 

เหตุผลอย่างเป็นทางการสำหรับการขายอาวุธก็คือ พวกมันเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการเพื่อการปล่อยตัวประกันชาวอเมริกัน 7 คนที่ถูกคุมขังในเลบานอนโดยกลุ่มเฮซบุลเลาะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มกึ่งติดอาวุธที่มีความสัมพันธ์กับชาวอิหร่านที่เกี่ยวข้องกับกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม บางคนในรัฐบาลเรแกนหวังว่าการขายจะโน้มน้าวอิหร่านเรื่องที่ให้เฮซบุลเลาะห์ปล่อยตัวประกัน แต่การขายอาวุธให้อิหร่านครั้งแรกที่ได้รับอนุญาตเกิดขึ้นในปี 2524 ก่อนที่ตัวประกันชาวอเมริกันจะถูกนำตัวไปที่เลบานอน

วันนี้ในอดีต 3 พฤศจิกายน 2529 : เปิดโปงกรณี "อิหร่าน-คอนทรา"

ปลายปี 2528 พันเอกโอลิเวอร์ นอร์ธ จากสภาความมั่นคงแห่งชาติได้โอนรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายอาวุธให้อิหร่าน ไปให้กับกลุ่มคอนทรา ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏต่อต้านรัฐบาลซานดินิสตา เพื่อให้ใช้ในการก่อความไม่สงบต่อรัฐบาลสังคมนิยมของนิการากัว ในภายหลังเขาอ้างว่ามานูเชอร์ กอร์บานิฟาร์ ซึ่งเป็นผู้ค้าอาวุธชาวอิหร่าน ได้ให้แนวคิดแก่เขาในการโอนผลกำไรจากการขายขีปนาวุธ TOW และ HAWK ให้อิหร่าน ไปให้กับกลุ่มคอนทราในนิการากัว 

วันนี้ในอดีต 3 พฤศจิกายน 2529 : เปิดโปงกรณี "อิหร่าน-คอนทรา"

ในขณะที่ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนเป็นแกนนำสนับสนุนกลุ่มต่อต้าน แต่หลักฐานก็ยังสับสนอยู่ว่าเขาเป็นคนอนุมัติในเรื่องนี้หรือไม่ บันทึกที่เขียนด้วยลายมือของแคสเปอร์ ไวน์เบอร์เกอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ เมื่อ 7 ธันวาคม 2528 ระบุว่าเรแกนตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่อิหร่านจะส่งตัวประกันให้ เช่นเดียวกับการขายขีปนาวุธ HAWK และ TOW ให้กับ "กลุ่มสายกลาง" ภายในอิหร่าน 

 

หลังจากการขายอาวุธถูกแฉในเดือนพฤศจิกายน 2529 เรแกนปรากฏตัวทางโทรทัศน์และระบุว่ามีการขายอาวุธจริง แต่สหรัฐฯ ไม่ได้แลกเปลี่ยนอาวุธกับตัวประกัน 

วันนี้ในอดีต 3 พฤศจิกายน 2529 : เปิดโปงกรณี "อิหร่าน-คอนทรา"

การสอบสวนเจอกับปัญหามากมาย เมื่อเอกสารจำนวนมากที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ถูกทำลายหรือถูกยื้อไว้จากเจ้าหน้าที่รัฐบาล วันที่ 4 มีนาคม 2530 เรแกนได้กล่าวสุนทรพจน์ทางโทรทัศน์เพิ่มเติม โดยแสดงรับผิดชอบอย่างเต็มที่สำหรับเรื่องนี้

 

เรื่องนี้ถูกสอบสวนโดยสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกาและ Tower Commission 3 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากเรแกน แต่การสืบสวนไม่พบหลักฐานว่าประธานาธิบดีเรแกนรู้เรื่องขอบเขตของโครงการต่าง ๆ นอกจากนี้ รองอัยการสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ลอว์เรนซ์ วอลช์ ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นอัยการอิสระในเดือนธันวาคม 2529 เพื่อสอบสวนการกระทำความผิดทางอาญาที่อาจเกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในโครงการนี้ 

 

ในท้ายที่สุด เจ้าหน้าที่รัฐบาลหลายสิบคนถูกฟ้อง รวมทั้งรัฐมนตรีกลาโหม  ขณะที่ 11 คนถูกตัดสินว่ามีความผิด แต่บางส่วนก็หลุดไปในระหว่างการอุทธรณ์

 

ส่วนที่เหลือของผู้ถูกฟ้องหรือถูกตัดสินว่ามีความผิดทั้งหมดได้รับการอภัยโทษในวันท้าย ๆ ของการอยู่ในตำแหน่งของประธานาธิบดีจอร์จ บุช ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในช่วงที่เกิดปัญหาเรื่องนี้  

 

วันนี้ในอดีต 3 พฤศจิกายน 2529 : เปิดโปงกรณี "อิหร่าน-คอนทรา"

logoline