svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เหตุผลสนับสนุนควรแก้ มาตรา 112 - ข้อโต้แย้ง

03 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประมวลข้อเสนอ และข้อโต้แย้งของฝ่ายต่างๆ ถึงร่างแก้ไข มาตรา 112 สามารถทำได้หรือไม่ และเหตุใดจึงต้องมีกฎหมายมาตรานี้

ประเด็นแรก มาตรา 112 แก้ได้หรือไม่ เพราะบางคนบอกว่าแก้ไม่ได้ หรือถ้าแก้ได้ ต้องรอชาติหน้า 

 

ข้อโต้แย้ง/คำชี้แจง คือ มาตรา 112 แก้ไขได้ และเคยแก้มาแล้ว เมื่อปี 2519 แก้โทษจาก จำคุกไม่เกิน 7 ปี (มีเสียงวิจารณ์ว่าโทษสูงเกินไป และไม่มีโทษขั้นต่ำ) แก้เป็นโทษจำคุก 3-15 ปี และใช้มาจนถึงปัจจุบัน 

 

ส่วนกรณีร่างแก้ไขของพรรคก้าวไกล ที่สภาฯ ไม่บรรจุเข้าระเบียบวาระ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ความเห็นของ "ฝ่ายกฎหมายสภาฯ" เพราะร่างของพรรคก้าวไกล เสนอยกเลิกมาตรา 112 แล้วไปเปิดมาตราใหม่ จึงมีการตีความว่าอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 

 

รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เขียนไว้ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” 

 

มาตรา 112 จึงมีสถานะคล้ายๆ เป็นกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 การไปยกเลิก มาตรา 112 จึงทำไม่ได้ จึงไม่บรรจุเข้าพิจารณา ซึ่งตอนนั้น พรรคเพื่อไทย ไม่ได้โวยวายอะไร 

เหตุผลสนับสนุนควรแก้ มาตรา 112 - ข้อโต้แย้ง

ประเด็นที่สอง มาตรา 112 เป็น "การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" เข้าข่าย "กฎหมายปิดปาก" 

 

ข้อโต้แย้ง/คำชี้แจง คือ มาตรา 112 มีเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองพระมหากษัตริย์ ต่อการถูกใส่ร้ายป้ายสี หรือถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม โดยไม่ใช่การติชมโดยสุจริต หรือวิจารณ์ในแง่วิชาการ เพราะการติชมโดยสุจริต หรือวิจารณ์ในแง่วิชาการ กฎหมายให้ความคุ้มครองอยู่แล้ว อย่างกรณี นายปิยบุตร แสงกนกกุล พูดบรรยายหลายครั้ง ไม่เคยโดนเอาผิด มาตรา 112 เพราะเป็นการพูด บรรยายทางวิชาการ) 

 

แต่สิ่งที่แกนนำม็อบโดนดำเนินคดี มาตรา 112 เพราะมีการใช้คำหยาบ แสดงอาการอาฆาตมาดร้าย กล่าวหาในทางที่ไม่เป็นจริง หรือยังพิสูจน์ไม่ได้ หรือกล่าวหาในลักษณะป้ายสีสถาบัน โดยไม่ได้มีหลักฐานอะไร เช่น เรื่องการหายตัวไปของนักกิจกรรมที่หนีไปอยู่กัมพูชา 

 

การกล่าวหาลักษณะนี้ แม้ไม่ได้เกี่ยวกับสถาบันหลักของชาติ แต่เป็นการกล่าวหาบุคคลทั่วไป ก็อาจมีความผิดตามกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่แล้ว ถ้ากล่าวหาโดยไม่มีข้อมูลหลักฐานยืนยัน 

ประเด็นที่สาม แก้โทษ ให้ต่ำลง เช่น จำคุกไม่เกิน 1 ปี (ร่างแก้ไขของพรรคก้าวไกล) หรือไม่มีโทษจำคุกไปเลย (เอ็นจีโอ องค์กรสิทธิ์บางแห่งเสนอ) 

 

ข้อโต้แย้ง/คำชี้แจง คือ จะเกิดความลักลั่นทางกฎหมาย เพราะบุคคลธรรมดายังมีกฎหมายคุ้มครองกรณีหมิ่นประมาท 

 

หมิ่นประมาททั่วไป ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 โทษคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เเกิน 2 หมื่นบาท 

 

ดูหมิ่นซึ่งหน้า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 โทษคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท

 

ถ้าหมิ่นสถาบัน หมิ่นในหลวงไม่มีโทษเลย จะลักลั่นกับกฎหมายพวกนี้หรือไม่ หรือถ้าจะยกเลิกโทษจำคุกในความผิดฐานหมิ่นประมาททุกประเภท เหลือแต่โทษปรับหนักๆ จะเหมาะหรือไม่ จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ คนรวยด่าใครก็ได้ แต่คนจนด่าไม่ได้ เพราะกลัวโดนปรับหมดตัวหรือเปล่า 

 

นอกจากนั้น มาตรา 112 ยังมีเนื้อหา เจตนารมณ์อีกส่วนหนึ่งเป็นการปกป้องคุ้มครองประมุขของรัฐ ซึ่งโทษของมาตรา 112 คือ คุก 3-15 ปี 

 

มาตรา 133 หมิ่นประมุขรัฐอื่น โทษคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 140,000 บาท 

 

มาตรา 135 ดูหมิ่นธง หรือตราสัญลักษณ์ของรัฐต่างประเทศ คุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

นี่คือกฎหมายมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นแพ็คเดียวกัน ถ้าจะแก้ต้องแก้ยกแพ็ค เพราะไม่อย่างนั้นจะเป็นความลักลั่นทางกฎหมาย ปกป้องคุ้มครองประมุขต่างประเทศ ใครหมิ่นโดนโทษหนักกว่าหมิ่นประมุขรัฐตัวเอง และยังต้องให้สอดคล้องกับกฎหมายประเทศอื่นด้วย เช่น กฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐอื่นๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา ก็มีเหมือนกัน และโทษไม่ควรกระโดดห่างกันมาก 

 

ส่วนที่เสนอให้แก้โทษขั้นต่ำ ให้ต่ำกว่า 3 ปี เพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจรอการลงโทษ หรือรอลงอาญาได้นั้น จริงๆ โทษขั้นต่ำ 3 ปี ก็ลงอาญาได้อยู่แล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญาไทยในปัจจุบัน  

 

ประเด็นที่สี่ การใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีเพื่อหวังผลทางการเมือง หรือกลั่นแกล้งกัน 

 

ข้อโต้แย้ง/คำชี้แจง คือ  เรื่องนี้เป็นปัญหาจริงๆ แต่วิธีการแก้แต่ละวิธี ก็มีคนโต้แย้ง 

 

ร่างของพรรคก้าวไกล ห้ามประชาชนร้องทุกข์ แต่ให้สำนักพระราชวังมีอำนาจร้องทุกข์ เรื่องนี้ถูกโต้แย้งว่า เป็นการจำกัดสิทธิ์ของผู้ที่จงรักภักดีหรือไม่ และการให้สำนักพระราชวังเป็นเจ้าทุกข์ เหมาะหรือไม่ เหมือนสถาบันกำลังค้าความกับประชาชนหรือไม่ 

 

ให้ความผิดนี้ ยอมความได้ ไม่ให้เป็นอาญาแผ่นดิน เรื่องนี้ถูกโต้แย้งว่า การปกป้องประมุขของรัฐ โดยหลักต้องเป็นอาญาแผ่นดินหรือไม่ และการกระทำผิดลักษณะนี้ สมควรให้มีการเจรจายอมความกันหรือไม่ 

 

ที่ผ่านมาเคยมีการแก้ไขปัญหาในทางการบริหาร คือห้ามตำรวจโรงพักสอบสวนคดีเอง ให้รับแจ้งความเท่านั้น แล้วส่งสำนวนให้คณะกรรมการของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางทำคดี และมีคณะกรรมการร่วม มาช่วยกันพิจารณาว่าการฟ้องคดีจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและต่อสถาบันหรือไม่ กรรมการชุดนี้มีมาตั้งแต่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และปัจจุบันตำรวจก็ยังใช้หลักการนี้อยู่ 

 

ความละเอียดอ่อนและซับซ้อนของมาตรา 112 การจะแก้ไขหรือยกเลิก ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะทำได้ตามระบบรัฐสภา แต่เหตุผลรองรับต้องชัดเจน ไม่ได้ฟันธงว่าข้างไหนถูกหรือผิด 

เหตุผลสนับสนุนควรแก้ มาตรา 112 - ข้อโต้แย้ง

แต่ในทางการเมืองแล้ว เกิดคำถามว่า พรรคเพื่อไทย ได้ประโยชรน์หรือเสียประโยชน์กันแน่กับเรื่องนี้ 

 

ล่าสุดมีข่าวจากคนใกล้ชิด “คนแดนไกล” ว่า งานนี้เจ้าของพรรคตัวจริงไม่รู้เรื่อง เป็นยุทธศาสตร์การชิงฐานคะแนนจากพรรคก้าวไกล ที่แกนนำพรรค “บางปีก” ทำกันเอง จะเห็นว่าแถลงการณ์ที่ออกมา ก็ไม่ได้ออกในนามพรรคชัดเจน แต่เป็น นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นคนลงนาม ซึ่งไม่ได้มีตำแหน่งชัดเจนในกรรมการบริหาร 

เหตุผลสนับสนุนควรแก้ มาตรา 112 - ข้อโต้แย้ง

งานนี้จึงยังไม่มีคำยืนยันอย่างชัดเจนว่า เป็นการทำปืนลั่นใส่เท้าตัวเองหรือไม่

 

logoline